สสส.ชี้ปลาน้ำจืดมีโอเมก้า 3 สูงกว่าปลาทะเล

แนะเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภค ลดเสี่ยงสารปรอท

 สสส.ชี้ปลาน้ำจืดมีโอเมก้า 3 สูงกว่าปลาทะเล

          มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคแนะหากกินปลาหิมะปนสารปรอทหาหลักฐานฟ้องบริษัทนำเข้าตาม พ.ร.บ.ใหม่ จี้ อย.บังคับบริษัทนำเข้าเก็บปลาคืน ขณะที่รองเลขาฯ อย.สั่งรวบรวมข้อมูลด่วน ด่านยอมรับปลานำเข้ามีมากตรวจไม่หมด

 

          ความคืบหน้ากรณีบริษัทนำเข้า-ส่งออกบริษัทหนึ่งนำเข้าปลาหิมะจากอุรุกวัย แล้วด่านอาหารและยาตรวจพบสารปรอทมากถึง 1.06 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ซึ่งเกินกว่ามาตรฐานที่กำหนดกว่าเท่าตัว และปลาลอตดังกล่าวได้ถูกส่งกระจายไปตามร้านอาหารต่างๆ ตามที่ “คม ชัด ลึก” นำเสนอนั้น ล่าสุด น.ส.สรี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า ทุกวันนี้ผู้บริโภคคนไทยต้องกินอาหารมีสารพิษเจือปน หรือเครื่องดื่มที่เป็นอันตรายหลายชนิดอย่างไม่รู้ตัว เพราะผู้บริโภคไม่เครื่องมือในการตรวจวัดสารพิษในอาหาร ขณะที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ก็ไม่สามารถตรวจสอบควบคุมอาหารได้ทุกประเภท ทำได้เพียงสุ่มตรวจเป็นบางครั้งเท่านั้น หากสุ่มพบสารพิษหรือสารอันตรายผสมอยู่ในอาหารนำเข้าหรืออาหารแช่แข็งจากต่างประเทศเกินมาตรฐาน อย.ก็ควรมีมาตรการจัดการอย่างเร่งด่วน เช่น บังคับให้บริษัทเก็บสินค้าคืนจากร้านอาหารหรือซูเปอร์มาร์เก็ตทันที

 

          “หากเจ้าของร้านอาหารรู้ว่า ปลาหิมะที่ซื้อมาจากบริษัทนำเข้าจากอุรุกวัยก็ควรส่งคืนให้บริษัทรับผิดชอบนำไปทำลาย ถ้าบริษัทไม่ปฏิบัติตามก็สามารถฟ้องศาลแพ่งได้ แต่หากผู้บริโภคที่กินปลาหิมะเข้าไป แล้วสืบหาหลักฐานยืนยันได้ว่าเป็นปลาหิมะของบริษัทนำเข้าจากอุรุกวัยก็สามารถใช้กฎหมายวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค ที่เพิ่งบังคับใช้เมื่อวันที่ 23 สิงหาคมนี้ได้ หากพบสินค้าไม่ดี หรือถูกเอาเปรียบ หรือเสียหายจากบริการ ผู้บริโภคฟ้องได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย และศาลก็มีอำนาจในการเรียกเก็บและทำลายสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐาน พร้อมสั่งปรับเพิ่มได้อีก 2 เท่า หากผู้ประกอบการตั้งใจทำผิด” น.ส.สารีกล่าวแนะนำ

 

          นพ.มานิตย์ อรุณากูร รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวว่า ปกติอาหารนำเข้าจะมีการตรวจตามด่านศุลกากร ไม่ว่าจะเป็นการนำเข้าทางอากาศ ทางเรือ และตามแนวชายแดน ซึ่งจะสุ่มตรวจอาหารทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็นประเภทผักหรือผลไม้ต่างๆ รวมถึงอาหารทะเล หากพบว่าตัวอย่างที่สุ่มตรวจมีสารปนเปื้อนเกินค่ามาตรฐาน จะต้องเฝ้าระวังและสุ่มตรวจอย่างต่อเนื่องติดต่อกันอย่างน้อย 3-4 ครั้ง เพื่อให้เกิดความมั่นใจ จนกระทั่งตรวจไม่พบสารปนเปื้อนจึงจะถอนออกจากบัญชีรายชื่อสินค้าที่ถูกอายัดไว้ อย่างไรก็ตาม กรณีปัญหาสารปรอทตกค้างในปลาหิมะนั้น ขณะนี้ได้สั่งการให้ผู้อำนวยการกองควบคุมอาหารรวบรวมข้อมูล เพื่อติดตามในรายละเอียดต่อไป

 

          ขณะที่เจ้าหน้าที่ประจำด่านอาหารและยา ให้ข้อมูลว่า ในแต่ละวันจะมีอาหารนำเข้าจากต่างประเทศจำนวนหลายตู้คอนเทนเนอร์ เช่น อาหารแช่แข็ง อาหารพร้อมปรุง อาหารสำเร็จรูป ฯลฯ โดยบริษัทผู้นำเข้าต้องไปขอเลขสารบบอาหารหรือขึ้นทะเบียนอาหารก่อน จากนั้นเจ้าหน้าที่ด่านก็จะสุ่มตรวจตามข้อกำหนดของ อย. โดยเฉพาะอาหารทะเลแช่แข็งมีทั้งปลาซาบะ ปลาแมคเคอเรล ปลาทูน่า ฯลฯ การจะให้ตรวจอย่างละเอียดทุกตัวคงทำไม่ได้ ยิ่งไปกว่านั้นการส่งตรวจสารพิษหรือสารต้องห้ามก็ต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ การจะสั่งอายัดสินค้าไว้ทั้งหมดคงทำไม่ได้อย่างแน่นอน นอกจากจะมีการประกาศว่าสินค้าประเภทไหนเป็นสินค้าขึ้นบัญชีดำ

 

          นายสง่า ดามาพงษ์ นายกสมาคมโภชนาการแห่งประเทศไทย กล่าวว่า เป็นการยากมากที่ผู้บริโภคกินอาหารที่มีการปนเปื้อนของสารพิษหรือสารโลหะหนักเข้าไปแล้ว จะมีความรู้สึกว่าอาหารที่ตนกินเป็นอันตราย เพราะสารพิษจะเข้าไปอยู่ในเนื้อเยื่อของอาหารไม่มีรส ไม่มีกลิ่นชัดเจน จะรู้ตัวก็ต่อเมื่อร่างกายได้รับอย่างต่อเนื่องและสะสมจนเป็นมะเร็งแล้ว กรณีของปลาหิมะแช่แข็ง หรือปลาไฮโซราคาแพงที่พบสารปรอทปนเปื้อนนั้น อยากเตือนว่าสารอาหารในปลาทะเลแช่แข็งจะสูญเสียคุณค่าทางโภชนาการไปแล้วบางส่วน เช่น วิตามินต่างๆ มีเพียงโปรตีนและไขมันเท่านั้นที่ยังเหลืออยู่ ส่วนโอเมก้า 3 ที่อ้างว่ามีเฉพาะในปลาทะเลน้ำลึกก็ไม่เป็นความจริง เพราะในปลาช่อนหรือปลาน้ำจืดไทยก็พบโอเมก้า 3 เช่นกัน

 

          “อาหารทะเลแปลกๆ หรือราคาแพงจากเมืองนอกไม่ได้มีคุณค่าทางอาหารดีไปกว่าอาหารทะเลสดของไทย เช่น กรดไขมันโอเมก้า 3 (omega-3 fatty acids) ที่ช่วยบำรุงร่างกายนั้นก็พบได้ในปลาช่อน ปลาทู หรือปลาเกือบทุกชนิด เพราะฉะนั้นควรกินปลาให้ได้ทุกวัน หรืออย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 มื้อ และเพื่อความปลอดภัยไม่ควรกินอาหารชนิดเดียวกันซ้ำๆ ควรกินอาหารหลากหลายชนิด เพื่อร่างกายจะได้ประโยชน์จากสารอาหารหลายๆ ประเภท” นายสง่าแนะนำ

 

          ทั้งนี้ ข้อมูลงานวิจัยด้านอาหารของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ระบุว่า คนไทยมีความเข้าใจผิดว่ากรดไขมันโอเมก้า 3 มีเฉพาะในปลาทะเลความจริงแล้วปลาน้ำจืดก็มีโอเมก้า 3 สูง เช่น ปลาบางชนิดมีโอเมก้า 3 สูงกว่าปลาทะเล หากเปรียบเทียบปลาที่มีน้ำหนัก 100 กรัม จะพบว่าปลาสวยเนื้อขาวมีโอเมก้า 3 สูงถึง 2,570 มิลลิกรัม ปลาช่อนมีโอเมก้า 3 ถึง 870 มิลลิกรัม ขณะที่ปลาแซลมอนมีโอเมก้า 3 ประมาณ 1,000-1,700 มิลลิกรัม ปลากะพงขาว 310 มิลลิกรัมต่อน้ำหนัก 100 กรัม

 

          ประโยชน์ของกรดไขมันโอเมก้า 3 คือ ลดความเสี่ยงโรคหลอดเลือดหัวใจอุดตัน ป้องกันโรคความจำเสื่อมในผู้สูงอายุ และกระตุ้นการสร้างสารเคมีซีโรโทนินในสมอง มีฤทธิ์ต้านการซึมเศร้า เป็นสารอาหารสำคัญในการสร้างเซลล์ประสาทในเด็กและทารกในครรภ์ อย่างไรก็ตาม งานวิจัยข้างต้นระบุว่า คนไทยยังกินปลาในปริมาณน้อยเพียง 32 กิโลกรัมต่อคนต่อปีขณะที่ญี่ปุ่นเกินมากกว่า 1 เท่าตัว

 

 

 

 

 

ที่มา : หนังสือพิมพ์คมชัดลึก

 

 

update : 27-08-51

 

Shares:
QR Code :
QR Code