สสส.ชวนประกวดคำขวัญ-แผนปชส.ภาพลักษณ์

เค้นไอเดียสร้างสรรค์ ร่วมชิงรางวัล...อย่าซุ่ม!!

 

 

สสส.ชวนประกวดคำขวัญ-แผนปชส.ภาพลักษณ์

         

           ผมเชื่อว่าคนรู้จักสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส. กันพอสมควร แต่จะรู้กันจริงๆ ว่าจัดตั้งยังไงเมื่อไร เพื่ออะไรคงมีไม่กี่มากน้อย บอกกันซะตอนนี้เลยว่าจัดตั้งขึ้นโดย พ.ร.บ. กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ พ.ศ.2544 ให้เป็นองค์กรด้านสุขภาพบนแนวคิดที่ให้ความสำคัญกับการสร้างเสริมสุขภาพมากกว่าการรักษาพยาบาล

 

          จึงหมายถึงว่า สสส. ผ่านการดำเนินงานมาในระยะเวลาหลายปีแล้ว แม้จะได้ดำเนินกิจกรรมต่างๆ มากมาย อันก่อประโยชน์ต่อสังคม อันได้แก่ การรณรงค์ให้ประชาชนดำเนินชีวิตบนพื้นฐานของความสุขภาพสุขในผ่านสื่อสารมวลชนต่างๆ แต่ก็ดูเหมือนว่าจะยังไม่เป็นที่รู้จักของประชาชนในวงกว้าง ยังไม่เพียงพอที่จะสามารถทำให้องค์กรเป็นที่รู้จักอย่างชัดเจนในตัวตนหรือ “ความเป็น สสส.” ได้

 

          โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในประเด็นคำถามว่า สสส. คือองค์การประเภทใด มีกระบวนการทำงานอย่างไร เหตุใดองค์การประเภท สสส. จึงเป็นนวัตกรรมองค์การที่มีความสำคัญและความจำเป็นสำหรับสังคมไทยซึ่งเป็นเหตุผลประการสำคัญที่ทำให้คนทั่วไปโดยเฉพาะผู้ที่ไม่มีประสบการณ์ตรงกับ สสส. เกิดการรับรู้ภาพลักษณ์ของ สสส. แตกต่างกันไป และอาจไม่ตรงกับที่องค์กร สสส. ต้องการสื่อสาร

 

          จึงเป็นที่มาที่ สสส. ดำเนินโครงการวิจัยและพัฒนาการประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์องค์กรทำมาตั้งแต่ปี 2550 ดำเนินการวิจัยเพื่อศึกษาการรับรู้ภาพลักษณ์ของ สสส. จากประชาชนทั่วไปและค้นหาภาพลักษณ์ที่พึงประสงค์จากสมาชิกภายในองค์กร โดยใช้กระบวนการสื่อสารแบบมีส่วนร่วม ซึ่งท้ายที่สุดจึงได้ภาพลักษณ์ที่พึงประสงค์ 3 ด้าน ดังนี้

 

          1. องค์กรนวัตกรรม (ด้านวิธีการทำงานและแนวคิดด้านสุขภาพ)

 

          2. องค์กรทุนที่มีความโปร่งใส

 

          3. องค์กรผู้ทำงานร่วมกับภาคีอย่างกัลยาณมิตร

 

          แต่ภาพลักษณ์ที่พึงประสงค์ทั้ง 3 ด้าน ดังกล่าว สะท้อนให้เห็นแนวทางที่องค์กรจะสื่อสาร “ความเป็นองค์การ สสส.” ไปสู่บุคคลภายนอกได้อย่างชัดเจน ขึ้นเพียงชื่อองค์กร “สสส.” และสัญลักษณ์ (Logo) เท่านั้น

 

          เพื่อให้เกิดการรับรู้และเข้าถึง สสส. ของประชาชนยิ่งขึ้น จึงดำเนินการขั้นที่ 2 การจัดประกวด คำขวัญและแผนประชาสัมพันธ์เพื่อส่งเสริมภาพลักษณ์ ของสำนักงานกองทุน สสส. มุ่งเน้นให้ได้มาซึ่งแผนประชาสัมพันธ์ครอบคลุมทั้งในส่วนของคำขวัญที่สะท้อนภาพลักษณ์ที่พึงประสงค์ทั้ง 3 ด้าน

 

          โดยมุ่งเน้นที่จะชักชวนนิสิตนักศึกษาได้เสนอความคิดสร้างสรรค์คิดผลงานเข้าประกวด ในฐานะเป็นเครือข่ายงานสร้างเสริมสุขภาพที่สำคัญยิ่งทั้งปัจจุบันและอนาคต จุดเน้น คือ เพื่อให้ได้มาซึ่งคำขวัญและแผนประชาสัมพันธ์เสริมสร้างภาพลักษณ์ของ สสส. ให้ประชาชนรู้จัก เข้าใจ เกิดความรับรู้ที่ดีต่อ สสส. เน้นการมีส่วนร่วมของนิสิตนักศึกษา

 

          เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2552 ไปจนถึงมกราคม 2553 โดยฝ่ายประชาสัมพันธ์ สำนักงานบริการกลาง สสส. ร่วมกับสาขาวิชานิเทศศาสตร์มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธราช

 

          การดำเนินโครงการขั้น 2 นี้ คาดหวังว่าจะมีนักศึกษา ครูอาจารย์จากสถาบันการศึกษาและประชาชนทั่วไปได้รับทราบข่าวสารเกี่ยวกับการจัดกิจกรรม และส่งผลงานเข้าประกวดจำนวนไม่ต่ำกว่า 50 – 70 แผนงาน จำนวนคำขวัญไม่น้อยกว่า 150 คำขวัญ และนักศึกษามีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์ผลงานเข้าประกวดประมาณ 250 – 300 คน จากจำนวนมหาวิทยาลัยที่มีการสอนด้านนิเทศศาสตร์ต่างๆ ทั่วประเทศ

 

          คุณสมบัติผู้เข้าประกวด เป็นนิสิตนักศึกษาในระดับอุดมศึกษา ประเภททีมๆ ละ 5 คน สังกัดสถาบันการศึกษาเดียวกัน สร้างสรรค์ผลงานด้วยตนเอง โดยไม่ลอกเลียนแบบ ไม่เคยได้รับรางวัล ไม่เคยเผยแพร่หรือปรากฏในสื่ออื่นใดมาก่อน

 

          ผู้เข้าประกวดต้องส่งคำขวัญพร้อมแผนงานประชาสัมพันธ์เสริมเสร้างภาพลักษณ์ของ สสส. ทีมละ 1 แผนงาน โดยสามารถเสนอคำขวัญที่ใช้ในแผนงานได้ทีมละไม่เกิน 3 คำขวัญ คำขวัญแต่ละคำขวัญต้องมีจำนวนไม่เกิน 20 คำ

 

          ระยะเวลาในการส่งคำขวัญและแผนงานประชาสัมพันธ์เสริมสร้างภาพลักษณ์ของ สสส. เข้าประกวดคือ 3 เดือน ระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม – 30 พฤศจิกายน 2552

 

          ส่งคำขวัญและแผนงานประชาสัมพันธ์ประกวดด้วยตนเอง หรือทางไปรษณีย์ โดยวงเล็บมุมซอง “โครงการวิจัยและพัฒนาการประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์ สสส. ขั้นที่ 2 การจัดประกวดคำขวัญและแผนประชาสัมพันธ์เพื่อส่งเสริมภาพลักษณ์ของ สสส.” ได้ที่

 

 

          ฝ่ายประชาสัมพันธ์ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

          เลขที่ 979 ชั้น 34 อาคาร เอส เอ็ม ทาวเวอร์ ถนนพหลโยธิน

          แขวงสามเสนใน เขตพญาไท กทม. 10400

 

 

          ทั้งนี้ หากส่งทางไปรษณีย์จะถือ วันที่ประทับตราไปรษณีย์ เป็นสำคัญ

 

          ก็ขอเชิญชวนนิสิตนักศึกษาเข้าร่วมประกวด นอกจากมีส่วนร่วมสร้างสรรค์สังคม แล้วยังมีรายได้ระหว่างเรียนด้วยเกิดประโยชน์ในทุกทางทีเดียวเชียว

 

 

 

 

 

ที่มา: หนังสือพิมพ์สยามรัฐ

 

 

Update 06-08-52

อัพเดทเนื้อหาโดย : กันทิมา ลีจันทึก

 

 

 

อ่านเนื้อหาทั้งหมดในคอลัมน์คลิกที่นี่

 

 

 

 

 

Shares:
QR Code :
QR Code