สสส.ชวนคิดมาตรการ “End Game” เผด็จศึกบุหรี่
ที่มา : MGR Online
ภาพโดย สสส.
เปิดประชุมวิชาการบุหรี่แห่งชาติ ครั้งที่ 18 สธ.ตั้งเป้าลดบริโภคยาสูบลง 30% ด้าน สสส.ชวนกระตุกต่อมคิด End Game "เผด็จศึกบุหรี่" หามาตรการใหม่ๆ ลดอัตราและปริมาณสูบบุหรี่ลง เสนอขยายอายุห้ามสูบบุหรี่เพิ่มขึ้นแบบสิงคโปร์ จำกัดการตลาด รับยังต้องแก้เรื่องยาเส้น โครงสร้างบุคลากรโรคไม่ติดต่อ
วันนี้ (20 มิ.ย.) ที่ศูนย์ประชุมวายุภักษ์ โรงแรมเซ็นทรา ศูนย์ราชการ นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เป็นประธานเปิดงานประชุมวิชาการบุหรี่กับสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 18 "Tobacco and Lung Health" บุหรี่เผาปอด จัดโดยศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และภาคีเครือข่าย
นพ.สุขุม กล่าวว่า ประเทศไทยตั้งเป้าหมายลดอัตราการบริโภคยาสูบลงอย่างน้อยร้อยละ 30 ในปี 2568 เพื่อดำเนินการตามกรอบอนุสัญญาควบคุมยาสูบขององค์การอนามัยโลก (WHO FCTC) 3 เรื่อง คือ ลดจำนวนผู้สูบบุหรี่ ลดปริมาณการสูบบุหรี่ต่อคน และทำสิ่งแวดล้อมให้ปลอดควันบุหรี่ ซึ่งปัจจุบันบริษัทบุหรี่มีการออกนวัตกรรมจูงใจใหม่ๆ อย่างเรื่องบุหรี่ไฟฟ้าที่อ้างว่าสูบแล้วดี ช่วยเลิกบุหรี่ได้ ไม่อันตราย ปลอดภัย เราจึงต้องรู้เท่าทัน และต้องต่อสู้ด้วยข้อมูล สื่อสาร เผยแพร่คุ้มครองประชาชน และต้องออกนวัตกรรมใหม่ๆ มาต่อต้าน
ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุน สสส. บรรยายพิเศษ “The Tobacco End Game in Thailand” ว่า อัตราการสูบบุหรี่ของคนไทยลดลงอย่างต่อเนื่อง สะท้อนได้จากผลสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ เก็บข้อมูลในประชากรไทยอายุ 15 ปีขึ้นไป ล่าสุดปี 2560 พบว่า มีคนไทยสูบบุหรี่ทั้งสิ้น 10.7 ล้านคน คิดเป็น 19.1% ลดลงจากปี 2534 ที่มีจำนวน 12.2 ล้านคนหรือ 32.0% โดยเพศชายมีอัตราการสูบบุหรี่สูงกว่าเพศหญิง 22 เท่า หรือ 37.7% และ 1.7% ตามลำดับ สัดส่วนของผู้ไม่สูบบุหรี่ต่อผู้ที่สูบบุหรี่มีแนวโน้มสูงขึ้น จาก 3:1 ในปี 2534 เป็น 4.2:1 ในปี 2560 ส่วนอัตราการเสียชีวิตยังอยู่ที่ 55,000 รายต่อปี ค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลมากกว่า 2 หมื่นล้านบาทต่อปี ซึ่งกำไรจากภาษีบุหรี่ก็ไม่คุ้มค่ากับค่าใช้จ่ายที่เสียไป โดยบุหรี่ถือเป็นปัจจัยเสี่ยงนำไปสู่ภาระโรคไม่ติดต่อเรื้อรังเป็นอันดับหนึ่ง
"แม้ที่ผ่านมาจะลดอัตราการสูบบุหรี่ลงได้ดี แต่ยังต้องดำเนินการมาตรการอื่นๆ อีก ซึ่งขณะนี้ในโลกเริ่มมีการพูดถึงการเผด็จศึกบุหรี่ หรือ End Game คือ การลดอัตราการสูบบุหรี่ในประเทศให้ลดลงมากๆ อาจจะไม่ต้องถึงกับศูนย์ เช่น อาจจะได้ 5% หรือ 15% ซึ่งในการประชุมวิชาการในครั้งนี้ก็มีการชวนคิดถึงการทำ End Game บุหรี่ในประเทศไทย ที่ยังต้องฝ่าฟันกับอุปสรรคอีกหลายเรื่อง เช่น การสูบบุหรี่มวนเองหรือยาเส้น ที่ทำให้กลไกภาษียังไม่ได้ผลมากนัก การบังคับใช้กฎหมายให้มีประสิทธิภาพ ปัญหาโครงสร้างบุคลากรที่ยังไม่รองรับในการรับมือด้านโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง" ดร.สุปรีดา กล่าว
ดร.สุปรีดา กล่าวว่า สำหรับมาตรการ End Game นั้นไม่มีมาตรการตายตัว ขึ้นอยู่กับว่าแต่ละประเทศดำเนินการอะไรมาบ้างแล้ว และยังเหลืออะไรที่ต้องทำเพื่อให้ไปถึงจุดจบ ซึ่งต้องทำมากกว่ามาตรการที่ทำอยู่ปกติ อย่างประเทศไทยมีมาตรการทางภาษี เป็นหัวหอกสำคัญ และยังมีมาตรการสร้างสิ่งแวดล้อมปลอดบุหรี่ การบังคับใช้กฎหมาย การสร้างความมีส่วนร่วมของชุมชน สังคม และการรณรงค์สร้างกระแสสังคม หากจะเริ่มทำ End Game ก็อาจต้องมาช่วยกันเพื่อให้เกิดมาตรการใหม่ๆ ขึ้น เช่น อาจลองใช้มาตรการแบบสิงคโปร์ ที่มีการขยายอายุผู้สูบบุหรี่ออกไป อย่างไทยอยู่ที่ 20 ปี ก็อาจจะขยายเป็นที่ 21 ปี และปีถัดไปก็ขยายออกเป็น 22 ปี 23 ปี และ 24 ปี เป็นต้น เพื่อกันคนอีกเจนหนึ่ง ซึ่งถือว่าเป็นมาตรการที่รุนแรง ตรงนี้ก็ต้องการเจตจำนงทางการเมืองที่แรงพอที่จะผลักดันได้ด้วย หรืออาจเกิดมาตรการจำกัดผลิตภัณฑ์ยาสูบให้มีการตลาดลดลงเรื่อยๆ อย่างบุหรี่ซองเรียบ การลดเอาท์เลต การจำกัดจุดขายต่อพื้นที่ เป็นต้น