สสส.จับมือ สรพ.เร่งสร้างระบบสุขภาพตัวอย่าง
อีก 10 ปีเป็นตัวอย่างชาวโลก
เปิดโครงการการสร้างเสริมสุขภาพโดยโรงพยาบาลด้วยกระบวนการรับรองคุณภาพ เน้นสร้างโรงพยาบาลคุณภาพ ปรับเปลี่ยนทัศนคติ พัฒนาระบบบริการสุขภาพ เผยอีก 10 ปีจะเป็นตัวอย่างแก่ชาวโลก
รศ.นพ.กำจร ตติยกวี ประธานคณะกรรมการบริหารแผน 6 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส. กล่าวว่า โรงพยาบาลเป็นหน่วยงานที่มีความสำคัญต่อสุขภาพอนามัยของประชาชนทุกเพศวัย ซึ่งต่างก็ต้องการบริการสุขภาพที่ดีมีมาตรฐาน ยิ่งในปัจจุบันประชาชนมีความคาดหวังสูงในการรับบริการ เห็นได้จากเรื่องร้องเรียนที่เกิดขึ้นมากมายและมีแนวโน้มมากขึ้นในอนาคต จึงจำเป็นที่โรงพยาบาลจะต้องพัฒนา และเมื่อได้รับการรับรองคุณภาพแล้วก็ต้องรักษามาตรฐานไว้ให้ยั่งยืน ซึ่งสอดคล้องกับโครงการที่ สรพ. กำลังดำเนินการอยู่
“แต่ความสำเร็จในการพัฒนาคุณภาพสถานพยาบาลที่ยั่งยืน ไม่ได้อยู่ที่บุคลากรในโรงพยาบาลเท่านั้น ต้องสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนและชุมชน นำเอาภูมิปัญญาท้องถิ่นที่เหมาะสมมาใช้ด้วย” ดวงสมร บุญผดุง ผู้จัดการโครงการฯ กล่าวว่า ตั้งแต่ปี 2547-2550 สรพ. ร่วมกับ สสส. ดำเนินโครงการ “การสร้างเสริมสุขภาพโดยโรงพยาบาลด้วยกระบวนการรับรองคุณภาพ”(เอชเอ) ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมากในโรงพยาบาลรัฐและเอกชน ได้ปรับเปลี่ยนแนวคิดทัศนคติในการรักษา เปิดโอกาสให้ผู้ป่วย ครอบครัว ท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วมในกิจกรรมของโรงพยาบาลตามความเหมาะสม ดังนั้นเพื่อต่อยอด สรพ.จึงทำโครงการ “การสร้างเสริมสุขภาพผ่านกระบวนการคุณภาพเพื่อการเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืน”(เอสเอชเอ) โดยมีโรงพยาบาล 60 แห่งเข้าร่วมโครงการ
นพ.อนุวัฒน์ ศุภชุติกุล ผู้อำนวยการ สรพ. กล่าวว่า ที่ผ่านมาในการรับรองคุณภาพหรือ เอชเอ นั้น สรพ.เป็นผู้กำหนดมาตรฐานแล้วไปประเมินโรงพยาบาล ส่วนเอสเอชเอ สรพ.เพียงจุดประกาย แนะนำและเปิดเวทีแลกเปลี่ยนประสบการณ์ความสำเร็จต่างๆ โดยเน้นให้โรงพยาบาลค้นหาศักยภาพภายในของตนเอง เน้นมิติทางจิตวิญญาณและจิตตปัญญา พัฒนาทั้งบริการสุขภาพและสร้างเสริมสุขภาพควบคู่กัน ใช้กระบวนการชื่นชมผ่านเรื่องเล่าจากงาน เชื่อมั่นในความสามารถของชุมชน และเปิดโอกาสให้ผู้เกี่ยวข้องมาร่วมวางแผน“ที่ผ่านมาเราไล่กวดประเทศที่พัฒนาแล้วตลอด แต่สิ่งที่ยังไม่เห็นในต่างประเทศคือมิติเรื่องจิตวิญญาณที่ถูกนำมาใช้ เราคาดหวังว่าจะสามารถใช้ศักยภาพและความเป็นไทยในการสร้างระบบบริการสุขภาพที่ควบคู่ขนานกันไปทั้ง ha และ sha คือระบบคุณภาพที่มีการประเมินรับรองและระบบที่โรงพยาบาลมีอิสระในการสร้างสรรค์มิติทางจิตวิญญาณ คาดหวังว่าในอีก 10 ปีข้างหน้า ประเทศไทยจะเป็นตัวอย่างของระบบบริการสุขภาพให้แก่ชาวโลก”
ที่มา: หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์
update: 12-11-52
อัพเดทเนื้อหาโดย: อัญณิกา กฤษสมัย