สสส.จับมือ มูลนิธิเพื่อพัฒนาการศึกษาไทย “พัฒนาความฉลาดทางสุขภาวะ”

ตั้งเป้า 100 ร.ร.

สสส.จับมือ มูลนิธิเพื่อพัฒนาการศึกษาไทย “พัฒนาความฉลาดทางสุขภาวะ”

 

          หลายคนคงคุ้นเคยกับ “ความฉลาดทางอารมณ์” กันบ้างแล้ว มารู้จักกับ “ความฉลาดทางสุขภาวะ” สำหรับเด็กไทยที่ครอบคลุมทั้ง 4 มิติ โดยสน. 4 ภายใต้โครงการพัฒนาความฉลาดทางสุขภาวะ ร่วมกับสำนักงานสภาการศึกษา  และมูลนิธิเพื่อพัฒนาการศึกษาไทย  เตรียมพัฒนา “ความฉลาดทางสุขภาวะ” ให้กับเด็กไทยยุคใหม่ 

 

           สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับสำนักงานสภาการศึกษา (สกศ.) และมูลนิธิเพื่อพัฒนาการศึกษาไทย ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือดำเนินงาน โครงการพัฒนาความฉลาดทางสุขภาวะ (Health Literacy) ของเด็ก เยาวชน และครอบครัว ด้วยพลังเครือข่ายการศึกษาใน 100 โรงเรียนทั่วประเทศ ซึ่งมีเด็กเข้าร่วมโครงการ 20,000 คน และสมาชิกครอบครัวอีก 35,000 คน โดยมีเป้าหมายในการดำเนินการ 3 ปี เพื่อให้เด็ก เยาวชน และครอบครัว ไม่น้อยกว่า 80% หรือราว 44,000 คนมีพฤติกรรมความฉลาดทางสุขภาวะเพิ่มขึ้น เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2553 ณ ห้องประชุมกำแหง พลางกูร สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา

 

          พญ.ชนิกา ตู้จินดา ประธานกรรมการบริหารแผนสำนักสนับสนุนการสร้างการเรียนรู้และสุขภาวะองค์กร สสส. แถลงว่า ในปัจจุบัน สุขภาวะของเด็กและเยาวชนไทยใน 4 มิติ ยังคงมีปัญหา กล่าวคือ 1. สุขภาวะทางกาย ข้อมูลจากสถาบันรามจิตติระบุว่า เด็กอนุบาล 7.58% มีน้ำหนักน้อยกว่าเกณฑ์ เด็กระดับมัธยมศึกษาตอนต้น 12.94% และมัธยมศึกษาตอนปลาย 25.63% ดื่มเหล้าเป็นครั้งคราวถึงเป็นประจำ วัยรุ่นหญิงอายุต่ำกว่า 19 ปีตั้งครรภ์และคลอดบุตร 69,874 คน 2. สุขภาวะทางจิต ข้อมูลจากสถาบันรามจิตติระบุว่า เยาวชนอายุระหว่าง 19-25 ปีในจำนวน 1 แสนคน พยายามสูงถึง 75 คน 3. สุขภาวะทางสังคม สถาบันรามจิตติพบข้อมูลว่า เด็กและเยาวชนมีปฏิสัมพันธ์กันทางสังคมค่อนข้างน้อย มีเพียง 37.18% ของเด็กมัธยมศึกษาตอนปลายที่เล่นกีฬา ในขณะที่เด็กมัธยมศึกษาตอนปลาย 68.99% ที่ดูโทรทัศน์และวิดีโอเป็นประจำ และ 4. สุขภาวะทางปัญญา PISA (The Programme for International Student Assessment www.pisa.oecd.org) เผยแพร่ผลการประเมินความสามารถในการอ่านของนักเรียนอายุ 15 ปีของไทยว่า 74% มีทักษะในการอ่านอยู่ในระดับต่ำ

 

          โครงการพัฒนาความฉลาดทางสุขภาวะ (Health Literacy) ของเด็ก เยาวชน และครอบครัว ด้วยพลังเครือข่ายการศึกษา ซึ่งจะดำเนินการใน 100 โรงเรียนทั่วประเทศ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก สสส. จะทำให้เกิดภาคีเครือข่ายแบบหุ้นส่วนการศึกษา มาร่วมกันสร้างการเรียนรู้อันจะส่งผลต่อความฉลาดทางสุขภาวะ เพื่อให้เด็ก เยาวชน และคนไทย มีสุขภาวะทั้ง 4 มิติ คือทั้งทางกาย จิต สังคม และปัญญา ซึ่งเป็นพื้นฐานต่อการนำไปสู่การดูแลชีวิตตนเองและครอบครัวอย่างพอเพียง

 

          นายสุวัฒน์ เงินฉ่ำ เลขาธิการมูลนิธิเพื่อพัฒนาการศึกษา หัวหน้าโครงการพัฒนาความฉลาดทางสุขภาวะฯ กล่าวว่า โครงการนี้ได้รับการสนับสนุนจาก สสส. และได้รับความร่วมมือเรื่องการบริหารจัดการจากสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา การลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือดำเนินการครั้งนี้ก็เพื่อให้การทำงานมีประสิทธิภาพ โดยมีจุดมุ่งหมายสำคัญเพื่อเพิ่มความฉลาดทางสุขภาวะของเด็ก เยาวชน และครอบครัว และเพื่อให้ได้ข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย ที่องค์กรที่เกี่ยวข้องยอมรับและนำเข้าสู่ระบบได้ ซึ่งความฉลาดทางสุขภาวะหมายถึงพฤติกรรมที่เป็นสมรรถนะของบุคคลที่จะเข้าถึง เข้าใจ ประเมิน ใช้ความรู้ และสื่อสารเกี่ยวกับสารสนเทศด้านสุขภาพตามต้องการ เพื่อสร้างเสริมและรักษาสุขภาพที่ดีตลอดชีวิต ซึ่งเรื่องการสื่อสารเป็นเรื่องสำคัญมาก ในต่างประเทศตื่นตัวเรื่องนี้กันมาก เพราะส่งผลต่อสังคมเป็นอย่างมาก

 

          นายสุวัฒน์กล่าวว่า การพัฒนาโครงการนี้จะใช้ระบบเครือข่ายหุ้นส่วนทางการศึกษา คือ 1.โรงเรียน จำนวน 100 แห่งทั่วประเทศ แบ่งเป็น 25 กลุ่มๆละ 4 แห่ง 2.ภาคีหลัก คือบุคคล องค์กร ที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการศึกษาและการปกครองส่วนท้องถิ่น  และ 3.ภาคียุทธศาสตร์ คือบุคล องค์กรด้านสาธารณสุข และองค์กรภาครัฐในท้องถิ่น รวมทั้ง มีหน่วยขับเคลื่อนในพื้นที่เพื่อแนะนำด้านวิชาการและประสานงาน โดยดำเนินการ 3 ปี มีเป้าหมายว่า โรงเรียนจำนวน 100 แห่งที่เข้าร่วมโครงการได้พัฒนาขีดความสามารถในการเพิ่มระดับพฤติกรรมความฉลาดทางสุขภาวะของเด็ก เยาวชน และครอบครัว ในส่วนของเด็กและครอบครัวนั้น ตั้งเป้าไว้ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 80 คือ เด็กไม่น้อยกว่า 16,000 คน จากจำนวนที่เข้าร่วม 20,000 คน และสมาชิกครอบครัวไม่น้อยกว่า 28,000 คน จากจำนวนที่เข้าร่วมโครงการ 35,000 คน รวมทั้งสิ้นไม่น้อยกว่า 44,000 คน มีพฤติกรรมความฉลาดทางสุขภาวะเพิ่มขึ้น

 

          นายธงทอง จันทรางศุ เลขาธิการสภาการศึกษา กล่าวว่า สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษาจะสนับสนุนและจัดสรรทรัพยากรบุคคลที่มีความรู้และประสบการณ์ เพื่อร่วมมือทางวิชาการกับมูลนิธิเพื่อพัฒนาการศึกษาไทยในการขับเคลื่อนดำเนินการพัฒนาความฉลาดทางสุขภาวะ ตามกิจกรรมโครงการจนบรรลุผลสำเร็จ และร่วมติดตาม สรุปผล รวมทั้งรายงานผลความก้าวหน้าเสนอต่อคณะกรรมการบริหารแผนสำนักสนับสนุนการสร้างการเรียนรู้และสุขภาวะองค์กร สสส. เป็นระยะ ซึ่งการที่ 3 องค์กรได้ร่วมลงนามในครั้งนี้ถือเป็นการร่วมมือและสร้างภาคีเครือข่ายในระดับนโยบายและยุทธศาสตร์ อันจะก่อให้เกิดการพัฒนาความฉลาดทางสุขภาวะให้แก่เด็กและคนไทยอย่างจริงจัง และเป็นกิจกรรมหนึ่งที่ตอบสนองนโยบายรัฐบาลในเรื่องการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สองที่สำคัญยิ่งด้วย

 

 

 

 

 

 

ที่มา : สำนักข่าว สสส.

 

 

 

Update: 03-08-53

อัพเดตเนื้อหาโดย: คมสัน ไชยองค์การ

Shares:
QR Code :
QR Code

ใส่ความเห็น

ระบุข้อความ