สสส. จับมือ ภาคี พัฒนาระบบ 4 มิติ รับมือสังคมสูงวัยเพิ่มต่อเนื่อง

ที่มา : สำนักข่าวสร้างสุข

ภาพประกอบจาก สสส.

                    ปี 67 ไทยมีผู้สูงอายุ 13 ล้านคน หวั่นกระทบความเป็นอยู่ในอนาคต สสส. สานพลัง มส.ผส. รวมองค์ความรู้จากงานวิจัยรองรับสังคมสูงอายุอย่างสมบูรณ์ ชู นโยบาย 4 มิติ สุขภาพ-เศรษฐกิจ-สังคม-สิ่งแวดล้อม ผลักดันสู่การใช้งานจริง


                    เวลา 09.00 น. วันที่ 29 พ.ย. 2567 ที่ศูนย์ราชการและคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ แจ้งวัฒนะ กรุงเทพมหานคร สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย (มส.ผส.) จัดงานเปิดคลังความรู้ มส.ผส. และ สสส. ประจำปี 2567 หัวข้อ “สานพลังวิชาการสู่งานขับเคลื่อนนโยบาย ร่วมสร้างสังคมสูงวัยให้มีสุขภาวะอย่างยั่งยืน” มุ่งพัฒนานวัตกรรมและงานนโยบายสาธารณะ เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุไทยอย่างรอบด้าน รวมถึงการสร้างเครือข่ายและเปิดพื้นที่แลกเปลี่ยน เรียนรู้ และสร้างความตระหนักรู้ให้กับสาธารณะ


                    ดร.นพ.ภูษิต  ประคองสาย เลขาธิการมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย กล่าวว่า จากข้อมูลสถิติประชากรทางทะเบียนราษฎร (ณ เดือนกันยายน 2567) ระบุว่าไทยมีประชากร65,969,270 คน เป็นประชากรที่อายุ 60 ปีขึ้นไป13,575,063 คน คิดเป็น 20.58% ของประชากรทั้งประเทศ ถือว่าไทยเป็นสังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ และคาดการณ์ว่าสัดส่วนผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป มากกว่า 28% หรืออายุ 65 ปีขึ้นไป สูงกว่า 20%ของประชากรทั้งหมด ประเทศไทยจะเป็นสังคมสูงวัยระดับสุดยอด ในปี 2576 และสังคมไทยจะอยู่ในสภาวการณ์ที่มีผู้สูงวัยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งโครงสร้างอายุที่เปลี่ยนไป กระทบกับโครงสร้างของสังคมไทยโดยรวม ส่งผลต่อการยกระดับขีดความสามารถศักยภาพในการแข่งขันของประเทศ และการพัฒนาประเทศในระยะยาว ทั้งผลกระทบต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) รายได้ต่อหัวประชากร การออม การลงทุน งบประมาณของรัฐบาล โดยเฉพาะด้านภาระทางการคลังและด้านสุขภาพ


                    “มส.ผส. และ สสส. มีกลไกการทำงานเชิงนวัตกรรม รูปแบบ เครื่องมือ และวิธีการทำงานที่สามารถทำงานได้จริงในระดับพื้นที่ เช่น โครงการสร้างความเข้มแข็งเครือข่ายการดูแลผู้มีภาวะสมองเสื่อมแบบครบวงจร ส่งเสริมให้เข้าถึงบริการตรวจวินิจฉัยที่รวดเร็วและมีประสิทธิภาพรักษาและชะลอความเสื่อมของสมอง และเกิดการขับเคลื่อนระดับนโยบายได้ในเชิงประจักษ์ ตลอดจนเป็นโอกาสสำคัญในการผลักดันข้อเสนอเชิงนโยบายสู่องค์กรหลักที่เกี่ยวข้องให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างยั่งยืน โดยการสร้างหลักประกันความมั่นคงทางเศรษฐกิจสำหรับผู้สูงอายุ พร้อมทั้งสนับสนุนระบบสวัสดิการทางสังคมที่เหมาะสมให้แก่ผู้สูงอายุ ผ่านการดำเนินงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน”ดร.นพ.ภูษิต  กล่าว


                    นางภรณี ภู่ประเสริฐ ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ สสส. กล่าวว่า ข้อมูลจากกรมกิจการผู้สูงอายุ ปี 2567 คาดการณ์ว่าภายในปี 2568 ทั่วโลกมีผู้สูงอายุ สูงถึง 1,200 ล้านคน จากประชากรทั้งหมด 8,045 ล้านคนทั่วโลก การสร้างการมีส่วนร่วมทางสังคมจึงถือเป็นปัจจัยสำคัญในการรองรับสังคมสูงวัยให้มีสุขภาวะดีอย่างยั่งยืน โดย สสส. ร่วมมือกับภาคีเครือข่ายพัฒนาระบบรองรับสังคมสูงวัยอย่างครบวงจรครอบคลุม 4 มิติ 1.มิติสุขภาพ สร้างชุดความรู้ พัฒนาระบบดูแลผู้สูงอายุที่มีภาวะสมองเสื่อม ป้องกันปัญหาการหกล้ม 2.มิติเศรษฐกิจสร้างความมั่นคงทางรายได้ให้ผู้สูงอายุ เปิดโอกาสให้พัฒนาทักษะใหม่ เพิ่มการจ้างงาน สร้างรายได้ 3.มิติสังคม สร้างความเข้มแข็งของชมรมผู้สูงอายุ เพิ่มพื้นที่เรียนรู้ด้านเทคโนโลยีผ่านระบบออนไลน์ ส่งเสริมโรงเรียนผู้สูงอายุและจัดตั้งธนาคารเวลาเพื่อสร้างระบบการดูแลที่ยั่งยืน 4.มิติสภาพแวดล้อม ปรับปรุงสภาพแวดล้อมให้เหมาะกับผู้สูงอายุ ทั้งในที่พักอาศัยและสถานที่สาธารณะ โดยจัดให้มีสิ่งอำนวยความสะดวกที่เอื้ออำนวยต่อการดำเนินชีวิตของผู้สูงวัย


                    “การทำงานทั้งหมดสอดคลองกับนโยบายภาครัฐ พร้อมทั้งช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุในทุกมิติ เพื่อสร้างสังคมที่ดีและยั่งยืนในอนาคต นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืนในทุกด้าน”นางภรณี กล่าว

Shares:
QR Code :
QR Code