“สสส.” จับมือ “กลุ่มอนุรักษ์เขาชะเมา” เสริมพลังสร้างสุข
“สสส.” จับมือ “กลุ่มอนุรักษ์เขาชะเมา” เสริมพลังสร้างสุข “เด็กตะวันออก” จัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ปูพื้นฐานชีวิต เพื่อสร้างสุขภาวะเด็กและเยาวชนที่ยั่งยืน
สิ้นเสียงโห่และตามด้วยเสียงฆ้องกลองของคณะกลองยาวชาว ช.พ.(โรงเรียนชำฆ้อพิทยาคาร) เด็กและเยาวชนจาก 8 จังหวัดภาคตะวันออกก็ร่วมร้องรำกันอย่างสนุกสนาน เป็นการเปิดงานสรุปบทเรียนของ “กิจกรรมจิตอาสาเพื่อเสริมสร้างสุขภาวะเด็กและเยาวชนพื้นที่ภาคตะวันออก” ได้อย่างเรียบง่าย
การรวมตัวของเด็กและเยาวชน ณ โรงแรมแม่พิมพ์รีสอร์ทและบริเวณชายหาดแหลมแม่พิมพ์ ในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา เกิดขึ้นเพื่อสรุปบทเรียนการทำกิจกรรมของพวกเขาในระหว่างปี พ.ศ. 2561-2562 ที่มีทั้งเด็กเล็ก ๆ ในระดับประถมไปจนถึงเยาวชนระดับมหาวิทยาลัย มีทั้งเด็กจากชายขอบชายแดนและเด็กจากสังคมเมือง รวมกันถึง 29 กลุ่ม และสนใจทำงานจิตอาสาทางด้านต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับ การเสริมสร้างสุขภาวะ สืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่น การศึกษา สิ่งแวดล้อม ฯลฯ ซึ่งดำเนินงานโดย หน่วยจัดการกลุ่มอนุรักษ์เขาชะเมา ภายใต้การส่งเสริมและสนับสนุนของ สำนักสร้างสรรค์โอกาสและนวัตกรรม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
นอกจากการให้ความรู้ทางภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรม ที่มีลักษณะเฉพาะของภาคตะวันออกเพื่อโยงใยไปให้เกิดการรู้เท่าทันกับการขยายตัวอย่างรวดเร็วของภูมิภาคในหลาย ๆ ด้านตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจภาคตะวันออก (Eastern Seaboard) ซึ่งขยายเป็นโครงการพัฒนาระเบียงพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor : EEC) โดยวิทยากรแล้ว ยังมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ระหว่างเด็กและเยาวชนกลุ่มต่างๆ ผ่านทางฐานกิจกรรมที่หลากหลาย
อาทิกิจกรรมทางด้านสุขภาวะโภชนาการที่เรียบง่ายโดยการชักชวนให้เด็ก ๆ มาทำขนมด้วยกัน เส้นสายของฝอยทองที่โรยลงในน้ำเชื่อมกระทะทองเหลืองกลับแฝงเรื่องราวที่น่าสนใจไว้ไม่น้อย จาก Mind mapping สู่การลงพื้นที่เรียนรู้และสืบสานภูมิปัญญาการทำอาหารท้องถิ่นของเหล่าเด็กนักเรียน โรงเรียนวัดห้วงโสม อำเภอคลองใหญ่ จังหวัดตราด ในชื่อโครงการ Play and learn เชิญ.. ชวน.. ชิม จนเด็กไร้สัญชาติจากโรงเรียนชายขอบมีทักษะด้านอาหารสามารถประกวดจนได้รับรางวัลระดับจังหวัดจนถึงระดับภาค หรือการสืบสานภูมิปัญญาทางวิถีชีวิต พรรณพืชท้องถิ่นผ่าน โครงการสืบสานอาหารปลอดภัย ใส่ใจอาหารถิ่นเกิด ของกลุ่มเยาวชนโรงเรียนเขาไม้แก้ว อำเภอกบินทร์บุรี จังหวัดปราจีนบุรี ที่ต่อมากลายเป็น “ปฏิทินการกินอาหารตามฤดูกาลของตำบลเขาไม้แก้ว” ที่ครอบคลุมทั้งสัตว์และพืชทั้งของป่าและวัตถุดิบจากการเกษตรในชุมชน
เรื่องสุขภาวะทางเพศก็ได้รับความสนใจจากเด็กและเยาวชนหลายกลุ่มผ่านทางโครงการต่าง ๆ เช่น กลุ่มลูกชาวบ้านจากมหาวิทยาลัยบูรพาจังหวัดชลบุรี ได้มองภาพรวมอย่างบูรณาการของพื้นที่สาธารณะตามชายหาดบางแสนและหาดวอนนภาในมุมมองของพื้นที่สร้างสรรค์ของเด็กและเยาวชน แต่ขณะเดียวกันก็เป็นจุดเสี่ยงทั้งด้านอนาจาร ปัญหาทางเพศ และยาเสพติด จึงรวมตัวกันสร้าง โครงการ Our Zone Our Area ขึ้นอย่างสร้างสรรค์ หรือ กลุ่มรู้รัก รู้จักปฏิเสธการตั้งครรภ์ไม่พร้อม ของเด็ก ๆ จากโรงเรียนคลองใหญ่พิทยาคม จังหวัดตราด ที่ข้ามกรอบความคิดจากเรื่องเพศเป็นเรื่องน่าละอายที่ต้องปกปิดกลายมาเป็น “ความจำเป็น” ที่ต้องเรียนรู้เพื่อสร้างทักษะในการรู้จักป้องกันตนเอง
“น้องไอซ์” ด.ช. จักรกฤษณ์ สุทธิมาลย์ ชั้น ม.2 โรงเรียนคลองใหญ่พิทยาคม โรงเรียนชายขอบ เจ้าของโครงการรู้รัก รู้จักปฏิเสธฯ เป็นผู้สืบสานความรู้และเข้าร่วมกิจกรรมทางสุขภาวะทางเพศมาตั้งแต่อยู่ชั้น ป.6 บอกว่า “การทำโครงการนี้นอกจากได้ความรู้ ผมยังได้เรียนรู้ทักษะการทำงานเป็นทีม และฝึกภาวะผู้นำ ซึ่งได้ประโยชน์มาก ๆ ”
ขณะที่เด็กตัวน้อยอย่าง “น้องมรรค” ดญ. มรรคนิชา ชื่นกิจมงคล นักเรียนชั้น ป.3 โรงเรียนอัสสัมชัญระยอง จาก โครงการละครสร้างเพื่อน ผู้เป็นจิตอาสาตัวน้อยไปเล่นละครหุ่นเงาให้แก่เด็ก ๆ ผู้ป่วยซึ่งก็สนุกกับละครเรื่องเจ้าหญิงถุงกระดาษกับมังกรของน้องมรรค
“ตอนไปเล่นก็ตื่นเต้นดี เพื่อน ๆ ที่ดูก็ไม่เคยรู้จักกันมาก่อน แต่หนูคิดว่า เพื่อน ๆ มีกำลังใจ น่าจะหายป่วยเร็วขึ้นค่ะ” น้องมรรคเล่าอย่างภูมิใจ ซึ่งไม่ต่างกับพี่ ๆ สมาชิก กลุ่ม Puppet of mind แห่งมหาวิทยาลัยบูรพา ผู้สร้างหุ่นมือ “แมวน้อยร้อยหมื่นชาติ” ที่เนื้อหาในเชิงนามธรรมชวนให้คิด
หรือเวิร์คชอปสนุก ๆ อย่างบอร์ดเกมจาก โครงการ Sex must Say และการวาดรูปตนเองโดย กลุ่มโครงการธรรม–มะ ก็ได้เห็นกิจกรรมให้ความรู้โดย กลุ่มผลิตสื่อ รักษ์ผ่านสื่อ ลงมือผ่านเลนส์ ก็ยังมีโครงการน่าสนใจหลายโครงการเช่น โครงการสืบสานภูมิปัญญาบ้านตาหนึก ที่นำเอาเปลือกหอยจากชายทะเลติดกับโรงเรียนมาเป็นจุดเด่น หรือฐานที่เกี่ยวกับการเรียนรู้เรื่องภาษาจาก โครงการรักษ์อ่านเขียนเรียนรู้ชีวิต รวมไปการเล่าเรื่องง่าย ๆ ด้วยกิจกรรมสานตั๊กแตนจากใบมะพร้าว
“ได้ลงชุมชน ได้เรียนรู้เรื่องต่าง ๆ ทำให้เราได้รู้คุณค่าในภูมิปัญญาท้องถิ่นได้มากกว่าเดิม อยากรักษาไว้ ไม่ให้หายไป และส่งต่อความรู้ให้คนรุ่นหลังต่อไป” เสียงสะท้อนจาก นุก : ภัทราภรณ์ จันทร์รัตนา จากกลุ่มลูกไม้ใต้ต้น อำเภอแกลง จังหวัดระยอง ที่ทำงานเรื่อง “การศึกษาบนฐานชุมชน” เป็นการเรียนรู้ในชื่อ ระเบียงการเรียนรู้ตะวันออก : ELC ที่มองว่า หาก EEC จะเปลี่ยนระยองให้เป็นเมืองอุตสาหกรรม พวกเขาจะใช้กระบวนการ ELC เพื่อสร้างการเรียนรู้และและบ่มเพาะความเติมโตด้านความคิดให้คนรุ่นใหม่ให้หันมารักและอนุรักษ์สิ่งดี ๆ ที่บ้านเกิด เพราะพวกเขามีสิทธิเลือกอนาคตตนเอง
ลมอุ่นพัดพาว่าวขึ้นสู่ท้องฟ้าเข้ม แดดบ่ายล้อประกายคลื่น หาดทรายราบกว้าง ลูกรักบี้ลอยท่ามกลางเสียงเฮฮา ความขะมักเขม้นของเด็ก ๆ ที่ช่วยกันเก็บขยะชายหาดพร้อมไปกับนับก้าวการเดินผ่านแอพลิเคชั่น กิจกรรมริมทะเลหาดแม่พิมพ์ทั้งหมดล้วนเกี่ยวข้องกับ “โครงการพลังเด็กตะวันออก”ทั้งสิ้น นับเป็นการเรียนรู้ไปพร้อม ๆ กับความสนุกในกิจกรรมกลางแจ้งของสมาชิกหลังจากอยู่ในห้องประชุมทั้งวันได้เป็นอย่างดี
“จากการทำงานกว่า 20 ปีในพื้นที่เริ่มจากกลุ่มรักษ์เขาชะเมา การได้มาเป็นหน่วยจัดการของ สสส. ทำให้เราได้ขยายงานกว้างออกไปอีกในทุกจังหวัดภาคตะวันออก ได้พบว่าแต่ละโครงการมีจุดเด่นน่าสนใจที่สามารถแก้ปัญหาและนำมาขยายผลต่อได้ โดยความตั้งใจที่จะขับเคลื่อนขบวนเด็กและเยาวชนภาคตะวันออก ยังต้องการความสนับสนุนจาก สสส. ให้ขับเคลื่อนโครงการที่มีอยู่ต่อเพื่อให้เกิดการขยายผลของโครงการต่าง ๆ ด้วยตนเองอย่างเข้มแข็ง เพื่อปกป้องบ้านเกิดของตนเองได้ต่อไป” คือบทสรุปการทำงานที่ผ่านมาและการมองสู่อนาคตของ “พี่แฟ๊บ” บุปผาทิพย์ แช่มนิล ผู้จัดการโครงการสนับสนุนกิจกรรมจิตอาสาเพื่อเสริมสร้างสุขภาวะเด็กและเยาวชนพื้นที่ภาคตะวันออก
นี่คือสิ่งดี ๆ ที่เกิดขึ้นจากแรงกายและแรงใจของเด็กและเยาวชนภาคตะวันออกในการร่วมกันขับเคลื่อนแนวทางการเสริมสร้างสุขภาวะที่ดีให้มิติต่าง ๆ ให้เกิดขึ้นทั้งกับตนเอง ครอบครัว โรงเรียน ชุมชน สังคมด้วยหัวใจรักษ์บ้านเกิดอย่างแท้จริง.
บรรยายภาพ
01-11 บรรยากาศในห้องประชุมและกิจกรรมประจำฐานต่าง ๆ
12-14 กิจกรรมริมทะเล
15 น้องไอซ์ ด.ช. จักรกฤษณ์ สุทธิมาลย์
16 น้องมรรค ดญ. มรรคนิชา ชื่นกิจมงคล
17 นุก : ภัทราภรณ์ จันทร์รัตนา
18 พี่แฟ๊บ บุปผาทิพย์ แช่มนิล