สสส.จับมือภาคีเครือข่ายเกษตรหนุนเมล็ดพันธุ์ช่วยเกษตรกรน้ำท่วม

 

สสส.จับมือมูลนิธิชีววิถี และเครือข่ายเกษตรยั่งยืนทั่วประเทศ สนับสนุนเมล็ดพันธุ์ให้เกษตรกรที่ประสบปัญหาภัยพิบัติน้ำท่วม เผยพื้นที่เกษตรกรรมเสียหายกว่า 13 ล้านไร่ เร่งหาเมล็ดพันธุ์เพื่อให้ทันฤดูกาลเพาะปลูกเดือนมกราคมปีหน้า พร้อมสนับสนุนตั้งกองทุนเมล็ดพันธุ์พืชช่วยเกษตรกร

 

เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2554 ที่สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สสส.ร่วมกับมูลนิธิชีววิถี และเครือข่ายเกษตรยั่งยืนทั่วประเทศประมาณ 50 คนเข้าร่วมประชุมหารือเตรียมการฟื้นฟูและสนับสนุนเมล็ดพันธุ์ให้กับเกษตรกรจากเหตุการณ์อุทกภัย โดยมี ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ รองผู้จัดการ สสส.เป็นประธานการประชุม

รศ.ดร.วิลาสินี อดุลยานนท์ ผู้อำนวยการสำนักรณรงค์สื่อสารสังคม สสส. เปิดเผยภายหลังการประชุมว่า จากปัญหาอุทกภัยที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ ส่งผลกระทบทั่วทั้งประเทศ โดยเฉพาะภาคการเกษตร ซึ่งจากการสำรวจพบว่า มีจังหวัดที่ประสบปัญหาอุทกภัยจำนวน 65 จังหวัดทั่วประเทศ พื้นที่เกษตรกรรมได้รับความเสียหายประมาณ 13 ล้านไร่ ในจำนวนนี้เป็นพื้นที่ปลูกข้าว 9 ล้านไร่ นอกจากนั้นเป็นพืชไม้ผล พืชผักสวนครัว และป่าชายเลน ซึ่งจากวิกฤติอุทกภัยนี้ สิ่งที่จะเป็นปัญหาตามมาคือการขาดแคลนอาหาร เนื่องจากพื้นที่เพาะปลูกลดลง และสถานการณ์ที่คาดการณ์ว่าต่อจากนี้ประเทศไทยอาจจะต้องพบกับภัยพิบัติอย่างต่อเนื่อง คาดการณ์ว่าไม่เกินระยะเวลา 6 เดือนไทยจะประสบปัญหาภัยพิบัติน้ำท่วมซ้ำอีก ดังนั้น สสส.และภาคีเครือข่ายเกษตรยั่งยืนจึงร่วมกันหารือแนวทางช่วยเหลือเกษตรกรที่ประสบปัญหา เบื้องต้นจะมีการทบทวนสถานการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งหมด โดยเริ่มจากเครือข่ายเกษตรยั่งยืนทั่วประเทศ ที่เป็นเครือข่ายท้องถิ่น ตำบลสุขภาวะ อบต.ในสำนัก 3 เพื่อแลกเปลี่ยนการจัดระบบการช่วยเหลือกันเอง และเช็คสต็อกเมล็ดพันธุ์ข้าวว่าใครมีความพร้อมที่จะแลกเปลี่ยนกันได้บ้าง เพราะช่วงเดือน ม.ค.-ก.พ.จะเข้าสู่ฤดูกาลเพาะปลูกแล้ว เพราะที่น่าห่วงขณะนี้คือเมื่อไม่มีเมล็ดพันธุ์เหลือ ก็ยิ่งส่งผลเกิดระบบผูกขาดทางการตลาดมากขึ้น และผู้ที่ได้รับผลกระทบก็คือเกษตรกร อย่างไรก็ตามมีข้อเสนอจากที่ประชุมว่าควรมีการจัดทำกองทุนเมล็ดพันธุ์พืชขึ้นมาช่วยเหลือเกษตรกร โดยเรื่องนี้ สสส.จะเข้าไปช่วยดูว่าจะสนับสนุนอย่างไรได้บ้าง

“หากประเทศไทยเข้าสู่โหมดภัยพิบัติ คงต้องมาดูกันว่าจะมีการปรับตัวให้เข้ากับภูมินิเวศน์ในระยะยาวอย่างไร โดยเราอาจจะต้องช่วยสื่อสารและรณรงค์ให้สังคมเปลี่ยนความคิด ความเชื่อให้เกษตรกรมีความเข้าใจระบบการเกษตรอย่างยั่งยืน ปลอดสารเคมี และเราก็ต้องช่วยกันรณรงค์สื่อสารสังคมให้เกิดการปรับเปลี่ยนการบริโภค โดยผู้บริโภคควรหันมาให้ความสำคัญกับการบริโภคผักที่ปลอดสารพิษมากขึ้น ขณะเดียวกัน สสส.เห็นว่าในแผนภัยพิบัติแห่งชาติ ที่รัฐบาลเตรียมจัดทำนั้น ควรมีการบรรจุเรื่องนี้เข้าไว้ด้วย”รศ.ดร.วิลาสินีกล่าว

ด้าน น.ส.กิ่งกร นรินทรกุล ณ อยุธยา รองผู้อำนวยมูลนิธิชีววิถี กล่าวว่า ขณะนี้เราจะเริ่มทำการสำรวจความต้องการ และกำลังการผลิตเมล็ดพันธุ์ที่พื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากภัยน้ำท่วมต้องการได้รับ เพื่อจัดสรรให้เหมาะสมในแต่ละพื้นที่ เพราะในช่วงเดือนมกราคมถึงกุมภาพันธ์ จะเป็นช่วงที่เริ่มทำการเกษตร ดังนั้นในระหว่างนี้ต้องเร่งดำเนินการในส่วนนี้ให้แล้วเสร็จ โดยเมล็ดพันธุ์ที่เกษตรกรมีความต้องการ คือเมล็ดพันธุ์ข้าวทุกชนิด กล้าผัก เครื่องยำต่างๆ อาทิ ข่า ตะไคร้ พริก โหระพา เป็นต้น รวมถึงผักโตไว เช่น ผักบุ้ง ผักกาด ส่วนกล้าไม้ผลเป็นโจทย์ใหญ่สำคัญที่มีความต้องการพันธุ์ดี แต่ปัญหาที่พบคือมีการปรับราคาของกล้าพันธุ์เพิ่มขึ้น เช่น มะยงชิด หากฤดูกาลปกติจะอยู่ที่ราคากล้าพันธุ์ละ 100 กว่าบาท แต่ขณะนี้มีการปรับเพิ่มเป็น 400 บาทแล้ว ซึ่งในส่วนนี้เรากำลังหาวิธีการที่จะช่วยในระหว่างเครือข่ายด้วยกันเอง เหมือนที่ผ่านมา เบื้องต้นจะมีการใช้วิธีการจัดตั้งกองทุน แลกเปลี่ยนและใช้เป็นกองทุนหมุนเวียนแลกเปลี่ยนเมล็ดพันธุ์กันในระหว่างเครือข่าย เพราะที่ผ่านมาในเครือข่ายของเรามีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้การจัดทำเมล็ดพันธุ์ เช่น ที่กำแพงเพชร เดิมเคยศึกษาการทำเมล็ดพันธุ์จาก จ.นครสวรรค์ เมื่อ จ.นครสวรรค์ประสบปัญหาน้ำท่วมในครั้งนี้ ทางกำแพงเพชรก็จัดส่งเมล็ดพันธุ์มาช่วยพื้นที่นครสวรรค์ทันที

 

 

เรื่องโดย สุนันทา สุขสุมิตร team content www.thaihealth.or.th

Shares:
QR Code :
QR Code