สสส.จับมือภาคีเครือข่าย ประกาศปฏิญญาต่อต้านข่าวลวง-ปลอม
สำนักข่าวสร้างสุข
ภาพโดย สสส.
สสส. ผนึก 7 องค์กร ประกาศปฏิญญา 5 ข้อ ขับเคลื่อนต่อต้านข่าวลวงข่าวปลอม เดินหน้าจัดงานเสวนาแลกเปลี่ยนบทเรียนระหว่างประเทศ “International Conference on Fake News”
เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2562 ณ โรงแรมปทุมวัน ปริ๊นเซส กทม. ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า สื่อดิจิทัลได้ทวีบทบาทเป็นสื่อหลัก หากประชาชนมีการใช้และรับสื่ออย่างรู้ไม่เท่าทัน โดยเฉพาะปรากฎการณ์ข่าวลวง (Fake News) ที่แทรกอยู่ในประเด็นต่าง ๆ การมีทักษะการรู้เท่าทันสื่อในยุคดิจิทัล และร่วมกันเฝ้าระวังข่าวลวง จึงเป็นจุดคานงัดสำคัญ สสส. ร่วมกับ 7 องค์กร ได้แก่ กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ Friedrich Naumann Foundation for Freedom (FNF) องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (Thai PBS) คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ จึงมุ่งการพัฒนา “คน” ทุกวัยสู่การเป็นพลเมืองดิจิทัลที่ตื่นรู้ มีทักษะเท่าทันสื่อ เท่าทันตนเอง มีความรับผิดชอบต่อสังคม
นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ กล่าวว่า งานแถลงข่าวลงนามประกาศปฏิญญารวมพลังขับเคลื่อนต่อต้านข่าวลวงข่าวปลอม ร่วมสร้างกลไกการรับมือและต้านข่าวลวง สร้างความตระหนักรู้และวัฒนธรรมการตรวจสอบที่มาของข่าวสารให้กับคนในสังคม ก่อนเชื่อหรือแชร์ข้อมูลออกไปในวงกว้าง เสริมพลัง สนับสนุนการทำงานซึ่งกันและกันของภาคีเครือข่าย เพื่อขยายผลองค์ความรู้ด้านการรู้เท่าทันและเฝ้าระวังสื่อให้ประชาชนมีความรู้เท่าทันสื่อและมีส่วนร่วมในการพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ภายใต้ระบบนิเวศสื่อที่ดี สามารถใช้สื่อเป็นเครื่องมือดูแลตนเองและนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงสังคมให้มีสุขภาวะที่ดี รวมถึงการสนับสนุนให้เกิดกลไกตรวจสอบและเฝ้าระวังข่าวลวงโดยภาคประชาชน การพัฒนาองค์ความรู้งานวิจัยเชิงลึกอย่างเป็นระบบเพื่อนำไปสู่ข้อเสนอเชิงนโยบายในการแก้ปัญหาข่าวลวงที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาวะของสังคมไทย พร้อมสื่อสารสร้างความตระหนักแก่สังคมถึงปัญหาข่าวลวงที่พลเมืองในสังคมต้องร่วมกันเป็นกลไกสำคัญในการเฝ้าระวัง และสื่อสารด้วยความรับผิดชอบ
นางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ ประธานคณะทำงานคุ้มครองผู้บริโภค สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ได้นำเครือข่าย ประกาศปฏิญญารวมพลังขับเคลื่อนต่อต้านข่าวลวงข่าวปลอม ว่า 1. ส่งเสริมและสนับสนุนความร่วมมือซึ่งกันและกันในภาคีเครือข่าย เพื่อให้เกิดการทำงานร่วมกันเพื่อรับมือและรวมพลังต่อต้านข่าวลวงในทุกระดับของสังคม 2. ส่งเสริมและสนับสนุนการผลักดันนโยบายในการต่อต้านข่าวลวงในระดับประเทศและเกิดการขับเคลื่อนงานด้านการต่อต้านข่าวลวง ทั้งในระดับสังคม ชุมชน และประเทศชาติ 3. ส่งเสริม สนับสนุน และพัฒนาให้เกิดการศึกษาวิจัยและสร้างองค์ความรู้ด้านการต่อต้านข่าวลวง รวมทั้งหาแนวทางปฏิบัติต้นแบบ (Best Practice) เพื่อให้เกิดฐานความรู้และแนวทางปฏิบัติอันจะนำไปสู่การผลักดันให้เกิดพลังความรู้ของสังคม 4. พัฒนากระบวนการ รูปแบบการทำงาน และนวัตกรรมตลอดจนเครื่องมือ หรือกลไกเฝ้าระวังเพื่อใช้ในการป้องกันและการแก้ไขปัญหาข่าวลวงอย่างมีส่วนร่วม ที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ทั้งภาคีวิชาการ วิชาชีพ ผู้ผลิตสื่อ ภาคประชาชน และผู้ใช้สื่อ 5. ส่งเสริมให้ประชาชนเกิดความรู้ความเข้าใจด้านการรู้เท่าทันสื่อสารสนเทศและดิจิทัล (Media Information and Digital Literacy: MIDL) ประชาชนเกิดภูมิคุ้มกันต่อปัญหาข่าวลวง และพัฒนาประชาชนในประเทศไปสู่ความเป็นพลเมืองดิจิทัล (Digital Citizen)
ทั้งนี้ จะมีการจัดงาน “International Conference on Fake News” โดยในงานมีผู้แทนภาคีเครือข่ายนักวิชาการ นักวิชาชีพ ในประเทศไทยและผู้แทนจากนานาชาติเข้าร่วม อาทิ รัฐมนตรีกระทรวงดิจิทัลจาก ไต้หวัน นักวิชาการด้านสื่อมวลชนจาก The University of Hong Kong ผู้ขับเคลื่อนเชิงนโยบายจากพรรค Free Democrat Party สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ผู้แทนจากสำนักข่าว Thomson Reuters และ AFP เข้าร่วมเป็นวิทยากรและร่วมเสวนา ในวันที่ 17 มิถุนายน 2562 ที่โรงแรมปทุมวัน ปริ๊นเซส กทม.