‘สสส.จอมบึงมาราธอน’ เส้นทางวิ่งมาตรฐานโลก
ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์
แฟ้มภาพ
เป็นเวลาต่อเนื่องยาวนานถึง 31 ปีแล้ว นับแต่งาน สสส.จอมบึงมาราธอน จัดเส้นทางการวิ่งภายใต้คำขวัญว่า "งานวิ่งประเพณีชาวบ้าน มาตรฐานสากล" ให้เหล่านักวิ่งได้ทดสอบพลังใจและฝีเท้า ถือว่าสนามวิ่งจอมบึงมีเสน่ห์ดึงดูดนักวิ่งทั่วสารทิศมาร่วมสร้างตำนาน "มาราธอนแรก" ในชีวิต
แม้ว่าหลายคนจะผ่านมาราธอนแรกไปแล้ว "จอมบึง" ยังเป็นสนามที่มีมนต์ขลังให้นักวิ่งได้ลิ้มลองมาวิ่งมาราธอนสักครั้งหนึ่งในชีวิต พิสูจน์ได้จากจำนวนนักวิ่งเพิ่มมากขึ้นทุกๆ ปี แต่ยังคงรักษามาตรฐานได้ดีเยี่ยมด้วยผู้จัดเดินเครื่องเต็มสูบยกระดับสู่มาตรฐานสากล
ความเคลื่อนไหวล่าสุดเมื่อสมาคมมาราธอนนานาชาติ (AIMS-Association of International Marathons and Road Races) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่รับรองมาตรฐานเส้นทางวิ่งมาราธอนระดับสากลได้ประกาศรับรองมาตรฐาน สสส.จอมบึงมาราธอน ปี 2017 ถือเป็นสนามที่ 4 ของประเทศไทย โดยมหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึงร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดแถลงข่าว "สสส.จอมบึงมาราธอน 2017" ปีที่ 32 ในวันอาทิตย์ที่ 15 ม.ค. พ.ศ.2560 ณ มหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึง อ.จอมบึง จ.ราชบุรี เป็นเครื่องการันตีว่าไม่ควรพลาดสนามนี้ด้วยประการทั้งปวง
นายณรงค์ เทียมเมฆ ผู้ทรงคุณวุฒิแผนส่งเสริมกิจกรรมทางกาย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) หนึ่งในผู้บุกเบิกสนามวิ่งจอมบึงมาราธอน เล่าว่า กระแสการวิ่งในเมืองไทยในขณะนี้ถือเป็นช่วงรันนิ่งบูมยุคที่ 2 หลังจากที่ภาพยนตร์เรื่องรัก 7 ปี ดี 7 หน ตอน 42.195 ออกฉาย ปลุกพลังของวัยรุ่นให้ออกมาวิ่งเพื่อสุขภาพ หลังจากนั้นมีการจัดงานวิ่งทุกสัปดาห์ทั่วประเทศ นับเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ทำให้คนหันมาออกกำลังกาย เป็นจุดเริ่มที่ทำให้การวิ่งได้รับความนิยม ส่วนสนามวิ่งจอมบึงนั้นได้ สสส.เข้ามาร่วมสนับสนุนต่อเนื่องเป็นเวลา 15 ปี พร้อมทั้งขับเคลื่อนจอมบึงด้วยองค์ความรู้ โดยมีการถอดบทเรียนความสำเร็จอย่างน่าสนใจ
นายณรงค์เผยว่า 'จอมบึงโมเดล' ประกอบไปด้วย 4 ปัจจัยความสำเร็จ 1) หน่วยงานที่จัด ต้องมีพลังนโยบาย พลังความรู้ พลังการสื่อสารที่ชัดเจน 2) ชุมชนมีส่วนร่วมอย่างเข้มแข็ง 3) นักวิ่ง คือคนที่สำคัญที่สุด ดังเช่นคำพังเพยที่ว่า 'เป็นธรรมเนียมไทยแท้แต่โบราณ ใครมาถึงเรือนชานต้องต้อนรับ' สิ่งนี้เป็นเสน่ห์ของจอมบึงที่ขณะนี้ยังไม่มีที่ไหนทำ เพราะชาวบ้านให้ความสำคัญกับนักวิ่งในทุกย่างก้าว ทั้งแรงใจ เสียงเชียร์ อาหาร การต้อนรับ นักวิ่งเหล่านี้เองที่กลับมาสนับสนุนนำองค์ความรู้จากสนามวิ่งต่างๆ มาบอกจอมบึงและช่วยกันพัฒนา 4) องค์กรที่สนับสนุน มีหลายองค์กร หน่วยงานเข้ามาสนับสนุนนักวิ่งร่วมกันทำให้จอมบึงประสบความสำเร็จมากขึ้น ถ้านำโมเดลนี้ส่งต่อหมู่บ้านหรือสถานที่ไหนก็จะประสบความสำเร็จในการจัดงานวิ่ง
"ปีนี้เป็นปีแรกที่จอมบึงใช้ระบบจับฉลาก (Lotto) เพื่อรับสมัครนักวิ่ง ซึ่งเป็นระบบที่สนามใหญ่ๆ ในต่างประเทศใช้กัน เพราะมีคนอยากมาวิ่งจำนวนมาก แต่เรารับคนได้จำกัดจึงพยายามขยายเท่าที่สามารถรองรับได้ สำหรับระยะมาราธอนมีนักวิ่งมากถึง 5,400 คน กติกาสนามจะคัตออฟที่ 8 ชม. และจะเปิดถนน แต่ธรรมเนียมของจอมบึงเราจะรอต้อนรับนักวิ่งถึงคนสุดท้ายอย่างไม่เป็นทางการ โดยมีทีมอาสาวิ่งประกบและดูแลตลอดทาง ทีมแพทย์จะร่วมวิ่งเป็นอาสาสมัครพร้อมติดป้ายบอกว่า I am doctor คอยดูแลนักวิ่งระหว่างเส้นทางด้วย" นายณรงค์แจกแจง
ขณะที่ ผศ.ดร.ชัยฤทธิ์ ศิลาเดช อธิการบดี มรภ.หมู่บ้านจอมบึง กล่าวถึงสนามจอมบึงในปีนี้ว่า เปิดรับนักวิ่งจำนวนทั้งหมด 13,000 คน ระยะมาราธอนจำนวน 5,400 คน ระยะฮาล์ฟมาราธอนจำนวน 4,300 คน และระยะมินิมาราธอนจำนวน 3,300 คน และมีการจัดแคมป์สำหรับผู้ที่ลงวิ่งมาราธอนแรกจำนวน 200 คนอีกด้วย ที่สำคัญในปีนี้สนามจอมบึงมาราธอนได้รับการรับรองอย่างเป็นทางการจากสมาคมมาราธอนนานาชาติ รวมถึงจอมบึงยังเป็นสนามที่ได้รับอนุญาตจัดการแข่งขันตามกติกาของสหพันธ์กรีฑานานาชาติ (IAAF) และสหพันธ์กรีฑาเอเชีย (AAA) ภายใต้การดูแลของสมาคมกรีฑาแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์
"เป็นประวัติการณ์ที่มีนักวิ่งหน้าใหม่กว่า 60% ได้เข้าร่วมทีมจัดงานรักษามาตรฐานงานวิ่งที่จอมบึงทุกปี ยิ่งมีนักวิ่งมากกว่าเดิมยิ่งต้องรักษามาตรฐาน และรองรับนักวิ่งทั้งการต้อนรับ ที่พัก พร้อมทั้งการปิดถนนช่วงการแข่งขัน 100% โดยได้รับความร่วมมือจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ ผู้ว่าการอำเภอ หน่วยแพทย์และพยาบาล ชาวบ้าน นักศึกษาในจอมบึง" อธิการบดี มรภ.จอมบึง เผย
สำหรับ วิเชียร ผิวแดง กำนันตำบลเบิกไพร ตอกย้ำถึงบรรยากาศความร่วมมือของชาวจอมบึงว่า ชาวบ้านรวมถึงพระคุณเจ้าในตำบลต่างรอคอยนักวิ่งให้กลับมาทุกปี ปีนี้ที่มีนักวิ่งจำนวนมากกว่าเดิม ชาวบ้านต่างรอต้อนรับกันอย่างคึกคัก ทุกหมู่บ้านเตรียมทั้งแรงเชียร์ และเตรียมอาหาร ผลไม้มารอรับนักวิ่งที่วิ่งผ่านหมู่บ้านตนเอง เพื่อให้นักวิ่งจากแดนไกลได้ทราบว่าหมู่บ้านจอมบึงปลอดภัยและเป็นกันเอง
ขณะที่นักวิ่งมาราธอนแรกอย่าง หนูกรานต์ คำภูเงิน อายุ 47 ปี เล่าด้วยความตื่นเต้นว่า ตนได้วิ่งมาประมาณ 2 ปีแล้ว และตัดสินใจเลือกสนามจอมบึงเป็นมาราธอนแรก (42.195 กม.) เพราะเพื่อนที่เคยไปวิ่งในสนามนี้ต่างบอกว่า จัดงานดีและประทับใจมาก ต้องไปวิ่งที่นี่เป็นมาราธอนแรกให้ได้ กองเชียร์ที่มีเสน่ห์เป็นแรงใจที่ดีของนักวิ่ง ตนตั้งใจซ้อมตามตารางฝึกอย่างเข้มข้นเพื่อไปพิชิตสนามนี้อย่างมีความสุข ขอบคุณ สสส.ที่ร่วมสนับสนุนทำให้เกิดมาตรฐาน มั่นใจว่าสนามต้องดีแน่นอน
ส่วน สุนิสา สังขะโพธิ์ นักวิ่งวัย 69 ปี เคยลงระยะฮาล์ฟมาราธอนในปีที่ผ่านมา และตั้งใจพิชิตสนามจอมบึงเป็นมาราธอนแรกของชีวิตเช่นกัน บอกว่า ตัดสินใจวิ่งระยะมาราธอนในวัย 69 ปีที่จอมบึงเท่านั้น เพราะเป็นสนามที่ประทับใจมาก ระหว่างเส้นทางวิ่งมีเสียงเชียร์จากชาวบ้านทุกวัยมาให้การต้อนรับ มีน้ำ อาหาร ผลไม้ไม่ขาด สนามก็ได้มาตรฐาน ตนเป็นนักเรียนแคมป์จอมบึง ทำให้มีวินัยในการฝึกซ้อม พิชิตสนามโดยไม่เจ็บ สสส.เข้ามาทำให้สนามมีมาตรฐานเป็นเรื่องที่สุดยอดมาก ทำให้นักวิ่งมีความปลอดภัยและมีความสุขกับสนามวิ่ง
แฟนคลับ สสส.จอมบึงมาราธอน เฝ้าติดตามวันที่ 15 ม.ค.ที่จะถึงนี้ หมู่บ้านจอมบึง จ.ราชบุรี จะเต็มไปด้วยบรรดานักวิ่งจากต่างถิ่นทั้งใกล้และไกลที่มุ่งหน้าไปสัมผัสสนามมาตรฐานโลก และส่งต่อพลังของนักวิ่งผู้รักสุขภาพไปยังนักวิ่งหน้าใหม่เพิ่มขึ้น