‘สสส. จอมบึงมาราธอน’ เปลี่ยนชีวิตคนยุคดิจิตอล
ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์
แฟ้มภาพ
ผ่านพ้นไปแล้วสำหรับงานวิ่ง "สสส. จอมบึงมาราธอน ครั้งที่ 32" ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึง อำเภอจอมบึง จังหวัดราชบุรี เมื่อวันที่ 15 มกราคมที่ผ่านมา ถือเป็นงานวิ่งของชุมชนที่สร้างตำนานระดับสากล พร้อมเรื่องราวความประทับใจเกิดขึ้นมากมาย
โดยเฉพาะสำหรับคนยุคดิจิตอลที่ต้องการเปลี่ยนชีวิตด้วยการพิชิตเป้าหมายตามที่ตัวเองกำหนดไว้ นอกจากความภาคภูมิใจที่ตัวเองได้รับแล้ว ผลพลอยได้ที่ตามมาคือ มีสุขภาวะดี ห่างไกลจากกลุ่มโรคติดต่อไม่เรื้อรัง หรือ NCDs ที่คร่าชีวิตคนบนโลกไปเป็นลำดับต้นๆ
นายไพโรจน์ เสาน่วม ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า การวิ่งถือเป็นการออกกำลังกายที่ง่าย สามารถทำเพียงคนเดียวได้ และดีกับสุขภาพอย่างมาก ถือเป็นกิจกรรมทางกายที่สามารถเปลี่ยนชีวิตของผู้คนในสังคมมาแล้วมากมาย อย่างเช่น คนอ้วนที่มีน้ำหนักกว่าร้อยกิโลกรัม พร้อมโรคภัยสารพัด แต่เมื่อหลงเสน่ห์การวิ่งแล้ว ก็สามารถลดน้ำหนักลงได้อย่างมาก และเลิกกินยาลดไขมันหรือความดันโลหิตสูงไปในที่สุด หรืออย่างอีกกลุ่ม เช่น พนักงานออฟฟิศ ที่เดิมตกเย็นเคยนัดเพื่อนสังสรรค์ดื่มเหล้าและสูบบุหรี่กัน แต่เมื่อได้เข้าสู่วงการวิ่งก็เลิกพฤติกรรมดังกล่าวทั้งหมด และออกไปนัดกันวิ่งตามสวนสาธารณะแทนการสังสรรค์ เป็นต้น
"การวิ่งจะช่วยลดความเสี่ยงของการเป็นโรคในกลุ่ม NCDs ประกอบด้วย 6 โรคหลัก ได้แก่ โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคถุงลมโป่งพอง โรคมะเร็ง โรคหลอดเลือดสมองและหัวใจ และโรคอ้วนลงพุง ซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในสังคมเมือง และถือเป็นปัญหาสุขภาพอันดับหนึ่งของโลก ในขณะที่ประเทศไทย สถิติในหลายรอบปีที่ผ่านมามีผู้เสียชีวิตก่อนวัยอันควรถึง 73% ขณะที่พฤติกรรมเนือยนิ่ง สำรวจเมื่อปี 2558 ก็สูงถึงขึ้น 13.42 ชั่วโมง ดังนั้น สสส.จึงอยากให้คนไทยยุคดิจิตอลออกมาวิ่งและทำกิจกรรมทางกายเพิ่มขึ้น เพื่อลดภาระให้ครอบครัวที่ต้องมาดูแลคนเจ็บป่วย รวมทั้งค่าใช้จ่ายด้านสาธารณสุขจำนวนมหาศาลอีกด้วย" ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สสส.ฝากไว้
นายสถาวร จันทร์ผ่องศรี (ครูดิน) กรรมการสมาพันธ์ชมรมเดินวิ่งเพื่อสุขภาพไทย ภาคี สสส. กล่าวว่า ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา การวิ่งเพื่อสุขภาพได้ต้อนรับนักวิ่งหน้าใหม่ที่เพิ่มขึ้นอย่างเป็นประวัติการณ์ เป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นถึงความรู้ในเรื่องของการรักสุขภาพได้กระจายเป็นวงกว้างเข้าสู่สังคมไทย แต่ก็ยังมีผู้คนอีกจำนวนมากที่เฝ้ามองอย่างสนใจ เพราะนับวันร่างกายเริ่มทรุดโทรม และเริ่มเป็นภาระให้กับตัวเองและครอบครัว แต่กลัวเหนื่อย อายที่จะออกมาวิ่ง ไม่กล้าที่จะเริ่มต้น ไม่รู้ว่าจะเริ่มยังไงดี ไม่มีใครแนะนำ ไม่มีกลุ่ม ไม่มีเพื่อนวิ่ง หรือยังคงมีความเชื่อที่มีภาพลบของการวิ่ง เช่น เข่าเสื่อม น่องโต อกเล็ก หัวใจวาย ฯลฯ ถือเป็นความเชื่อที่อาจไม่ถูกต้องทั้งหมด
"อยากให้ทุกคนขจัดความเชื่อเหล่านั้นและมาเริ่มต้นวิ่ง มั่นใจได้ว่าไม่กี่สัปดาห์ก็พบความเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นแก่ร่างกายและจิตใจ รวมทั้งกลุ่มเพื่อนก็จะตามมา ขอเพียงคุณกล้าพอ วิถีชีวิตคุณก็ดีขึ้นและเปลี่ยนชีวิตได้ และหากคุณทำได้สำเร็จ เรื่องอื่นๆ ในชีวิตก็จะทำได้หมด" ครูดินกล่าวเชิญชวน
นายประเสริฐ ภาคภูมิวุฒิกุล อายุ 45 ปี พนักงานบริษัท กล่าวว่า ร่วมแข่งขันวิ่งระยะทาง 10 กิโลเมตร ก่อนเริ่มวิ่งตัวเองเจ็บป่วยง่าย เมื่ออากาศเปลี่ยนหรือพักผ่อนน้อยก็จะเป็นหวัดทันที หลังจากได้ติดตามกระแสสังคมที่ตื่นตัวในเรื่องสุขภาพกันมากขึ้น ก็เริ่มทดลองวิ่ง รู้เลยว่าสุขภาพดีขึ้นทันที ตอนนี้พอใจสุขภาพของตัวเองอย่างมาก น้ำหนักตัวลดลงมา 1-2 กิโลกรัม โดยต้นปีหน้าจะไปเพิ่มระยะไปเป็น 21 กิโลเมตร หรือรุ่นฮาล์ฟมาราธอน และเมื่อเปิดปฏิทินดูแล้ว ขอปักหมุดประเดิมงานวิ่ง "สสส. จอมบึงมาราธอน ครั้งที่ 33 ปี ค.ศ.2008" เป็นที่แรกอย่างแน่นอน
นายพิสิฐ สมใจ อายุ 28 ปี พนักงานเอกชน เล่าว่า การวิ่งเปลี่ยนชีวิตของผมอย่างชัดเจน ทำให้เรามีวินัย เพราะต้องฝึกซ้อมเพื่อพิชิตเป้าหมายในการวิ่ง เช่น การตื่นเช้า การเตรียมตัวก่อนออกวิ่ง แต่สิ่งที่ได้กลับมาโดยไม่รู้ตัว คือสุขภาพร่างกายดีขึ้น แต่ก่อนเดินขึ้นบันไดสะพานลอย หรือเดินขึ้นตึก 3 ชั้นก็เหนื่อยแล้ว แต่บัดนี้ เดินหรือวิ่งขึ้นได้อย่างสบาย รวมทั้งยังลดการสูบหรี่และสุราลง เพราะเป็นอุปสรรคสำคัญที่ทำให้การวิ่งของเราไม่บรรลุเป้าหมาย
"วิ่งให้อะไรกับพวกเรามากกว่าการมีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง นั่นคือมิตรภาพระหว่างทางที่เพิ่มขึ้นทุกครั้งที่เข้าร่วมงานวิ่ง มีเพื่อนวิ่งมากขึ้น สนุกมากขึ้น อยากให้ทุกคนมาลองสัมผัสสิ่งเหล่านี้ด้วยตัวเอง แล้วจะรู้ว่ามีแต่ข้อดี ไม่มีอะไรเสียหาย ขอเพียงมีใจที่พร้อมและรองเท้าสักคู่ก็พอ" อายุ 28 ปี พนักงานเอกชน กล่าว
นายอาร์ม ใจยศ อายุ 36 ปี เจ้าของธุรกิจส่วนตัว กล่าวว่า แต่เดิมเป็นคนดื่มสุราและสูบบุหรี่หนักมาก สุขภาพร่างกายทรุดโทรม เคยเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลบ่อย จึงทำให้เรารู้สึกว่าความตายมันใกล้ตัวมาก หลังจากนั้นก็เริ่มกลับมาตระหนักและให้ความสำคัญกับการดูแลตัวเอง โดยเลือกการวิ่งเป็นกีฬาที่สังคมกำลังนิยมกัน เริ่มวิ่งไปสักพักร่างกายก็ดีขึ้น ทำกิจกรรมอะไรได้นานขึ้น น้ำหนักตัวก็เริ่มลดลง ไม่ต้องไปโรงพยาบาลพบแพทย์เป็นประจำเหมือนแต่ก่อน เหลือเงินในการใช้จ่ายเพิ่มขึ้น โดยหลังจากนี้จะตั้งเป้าพิชิตมาราธอนระยะทาง 42 กิโลเมตร ให้ได้ในเร็วๆ นี้
"สิ่งที่ได้จากการวิ่งนอกจากสุขภาพดีแล้ว ยังได้ความภูมิใจที่สามารถชนะใจตัวเองได้ในหลายเรื่องๆ จากเดิมที่คิดว่าทำไม่ได้ เช่น เชื่อว่าเราวิ่งไม่ได้ เพราะปวดเข่า แต่ตอนนี้ก็ทำได้ และไม่ต้องใช้สายรัดเข่าอีกต่อไป ส่วนน้ำหนักที่ไม่คิดว่าจะลงได้ หลังทำมาแล้วหลายวิธีก็ไม่สำเร็จ แต่การวิ่งทำให้น้ำหนักลดลงได้" ขณะที่ระยะทาง 21 กิโลเมตรในรุ่นฮาร์ฟมาราธอนที่ไม่คิดว่าทำได้ เพราะไกลเหลือเกิน หรือแต่ก่อนเดินก็ยังเหนื่อยเลย แต่วันนี้ก็สามารถทำได้แล้ว รวมทั้งอาหารการกินที่แต่เดิมไม่สนใจ ดื่มน้ำอัดลม อาหารหวาน มัน เค็ม บุหรี่ สุรา เอาหมดทุกอย่าง แต่ตอนนี้ก็สามารถควบคุมและค่อยๆ ลด ละ เลิกลงได้ตามลำดับ ผมยอมรับว่าการวิ่งนั้นเปลี่ยนชีวิตของผมได้จริงๆ ขอเพียงมีใจที่กล้าและเริ่มต้นเปลี่ยนแปลง เชื่อว่าทุกคนก็ทำได้ เพราะคนต้นทุนด้านสุขภาพต่ำอย่างผมยังสามารถทำได้เลย" เจ้าของธุรกิจวัย 36 ปี กล่าว
เห็นประโยชน์ของการวิ่งกันแล้ว ถึงเวลาที่คนยุคดิจิตอลต้องหันมาปรับเปลี่ยนพฤติกรรมตัวเองสู่ชีวิตใหม่ รับรองสุขภาวะดี และไร้โรค NCDs ถามหาอย่างแน่นอน