สสส.-คณะจิตวิทยา จุฬาฯ ฮีลใจวัยทำงาน ชู 11 องค์กร คว้ารางวัลสร้างเสริมสุขภาวะทางจิต

ที่มา : สำนักข่าวสร้างสุข

ภาพประกอบจาก สสส.

                    ฮีลใจวัยทำงาน สสส. สานพลัง คณะจิตวิทยา จุฬาฯ เฟ้นหา! สุดยอดองค์กรสร้างเสริมสุขภาวะทางจิตดีเด่น หลังพบคนวัยทำงานในไทย 40% เครียดสูง เหตุ ปัญหาเศรษฐกิจ-ความไม่แน่นอน กระทบสุขภาพกาย-ใจ เสี่ยงต่อภาวะหมดไฟในการทำงาน ชู 11 องค์กร คว้ารางวัลส่งเสริมสุขภาวะทางจิต มุ่งขยายผลเป็นองค์กรต้นแบบแก่สังคมไทย

                    เมื่อเวลา 13.00 น. วันที่ 22 ม.ค. 2568 ที่ หอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ สถาบันวิชาการเพื่อความยั่งยืนทางสุขภาพจิต (TIMS) คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดงานประกาศรางวัลสุดยอดองค์กรสร้างเสริมสุขภาวะทางจิต Thai Mind Awards 2025 ภายใต้โครงการพัฒนากลไกวิชาการสนับสนุนการขับเคลื่อนงานด้านสร้างเสริมสุขภาพจิต เพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนให้คนไทยมีสุขภาพจิตดี

                    นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ผู้จัดการกองทุนสสส. กล่าวว่า ปัญหาสุขภาพจิตเป็นภัยคุกคามต่อคนทำงาน ตลอดจนศักยภาพของคนทำงานทั้งในระยะสั้นและระยะยาว จากสถานการณ์ปัญหาสุขภาพจิตในปัจจุบัน ทั้งในระดับโลกและประเทศไทยมีแนวโน้มสูงขึ้น หากเจาะกลุ่มวัยทำงาน ผลสำรวจสุขภาพจิตพนักงานไทย ปี 2566 โดยกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข พบคนวัยทำงานในไทย 40% มีระดับความเครียดสูง สาเหตุมาจากปัญหาเศรษฐกิจ การเปลี่ยนแปลงรูปแบบการทำงาน ความไม่แน่นอนทางธุรกิจ ซึ่งเป็นผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 สอดคล้องกับรายงานผลการประเมินสุขภาพจิตตนเอง 8.5 แสนคน ระหว่างเดือน ต.ค. 2566 – เม.ย. 2567 พบว่า ผู้เข้ารับการประเมินเสี่ยงป่วยซึมเศร้า 17.2%  เครียดสูง 15.4% เสี่ยงฆ่าตัวตาย 10.6% นำมาสู่ผลกระทบต่อสุขภาพกายและในมิติอื่นๆ การดูแลสุขภาพจิตในกลุ่มวัยทำงานจึงเป็นเรื่องที่ผู้นำองค์กรต้องให้ความสำคัญ

                    “สสส. ร่วมกับภาคีเครือข่าย พัฒนาระบบการดูแลสุขภาพจิตสำหรับประชาชนวัยทำงานในหลากหลายส่วน 1.พัฒนาหลักสูตรและวิทยากรเพื่อเสริมศักยภาพเจ้าหน้าที่ในการดูแลสุขภาพจิตของพนักงานในองค์กร ดูแลประเมินสุขภาพจิต ให้คำปรึกษาเบื้องต้น 2.เสริมสร้างความรอบรู้ด้านสุขภาพจิต และการส่งเสริมสุขภาพจิตในสถานที่ทำงาน 3.พัฒนาและสื่อสารให้ประชาชนใช้เครื่องมือประเมินปัญหาสุขภาพจิต เช่น แอปพลิเคชัน DMIND คัดกรองภาวะซึมเศร้า เพื่อดูแลสุขภาพจิตได้ด้วยตนเอง 4.ขับเคลื่อนโครงการ Happy Work Place ที่เป็นฐานงานสร้างเสริมสุขภาพวัยทำงาน 5.การประเมินสุดยอดองค์กรสร้างเสริมสุขภาวะทางจิต ที่เป็นการสำรวจสภาพแวดล้อมในการทำงานทั้งด้านการงานและด้านจิตใจของบุคลากร ว่าในแต่ละองค์กรให้ความสำคัญกับสุขภาวะทางจิตของพนักงาน มากน้อยเพียงใด มีการปฏิบัติหรือมีโครงการใดเพื่อยกระดับสุขภาวะทางจิตแก่บุคลากรหรือไม่ เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมกับการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ ลดปัญหาสุขภาพจิต สู่การเป็นองค์กรต้นแบบด้านสุขภาวะทางจิตแก่สังคมไทย” นพ.พงศ์เทพ กล่าว

                    ศ.ดร.วิเลิศ ภูริวัชร อธิการบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะสถาบันการศึกษาชั้นนำด้านการวิจัยและพัฒนาวิชาการระดับสากล ให้ความสำคัญต่อการสร้างเสริมสุขภาวะของบุคลากรในองค์กรมาโดยตลอด มุ่งเน้นการพัฒนานวัตกรรม ความรู้ ตลอดจนนโยบายที่ส่งเสริมสุขภาพกายและใจของบุคลากร และให้ความสำคัญกับการเผยแพร่องค์ความรู้สู่สังคมวงกว้าง เพื่อส่งเสริมความรู้และบริการวิชาการที่ตอบสนองความต้องการของสังคมในทุกมิติ การจัดทำระบบการประเมินและคัดเลือก “สุดยอดองค์กรสร้างเสริมสุขภาวะทางจิต” ถือเป็นก้าวสำคัญที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้มีบทบาทในการสร้างแรงบันดาลใจและผลักดันให้องค์กรไทย ตระหนักถึงความสำคัญของสุขภาวะทางจิต พร้อมทั้งช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตของบุคลากรในองค์กรให้ยั่งยืน เพื่อลดความเสี่ยงต่อภาวะเครียดและภาวะหมดไฟในการทำงานให้แก่บุคลากรได้อีกทางหนึ่ง

                    ผศ.ดร.ณัฐสุดา เต้พันธ์ คณบดีคณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผู้ร่วมก่อตั้งสถาบันTIMS กล่าวว่า โครงการ Thai Mind Awards เป็นการร่วมมือกับ สสส. ส่งเสริมให้ตระหนักรู้ถึงความสำคัญของการดูแลสุขภาวะทางจิต และการส่งเสริมสภาพแวดล้อมที่เอื้อในการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ โดยโครงการได้เริ่มเปิดรับสมัครคัดเลือกสุดยอดองค์กรส่งเสริมสุขภาวะทางจิตจากทั่วประเทศไทย ตั้งแต่วันที่ 26 ก.ค. 2567 และได้ดำเนินการตามแผนงาน คือ 1.พัฒนาระบบและเกณฑ์การคัดเลือกสุดยอดองค์กรส่งเสริมสุขภาวะ ตามแนวคิดต้นแบบ 5 มิติ ของ GRACE ที่คณะจิตวิทยาได้พัฒนาขึ้น และเกณฑ์ประเมินผลงานตามหลัก FEEL (Formulate, Enact, Evaluate และ Leverage) 2.ประชาสัมพันธ์ให้องค์กรทั่วประเทศไทยเข้าร่วมส่งผลงาน และร่วมตอบแบบสำรวจ Workplace Well-being 3.ตั้งคณะกรรมการคัดเลือก Thai Mind Awards และสำรวจแนวปฏิบัติที่ดีในการส่งเสริมสุขภาวะจากองค์กรในประเทศไทย

                    ผศ.ดร.ณัฐสุดา กล่าวต่อว่า จากการดำเนินงานดังกล่าว ได้รับความร่วมมือจากองค์กรที่ร่วมสมัครคัดเลือกจำนวน 60 แห่ง ผ่านการคัดเลือกเป็นสุดยอดองค์กรส่งเสริมสุขภาวะ 11 แห่ง โดยแบ่งเป็น 5 สุดยอดองค์กรสร้างเสริมสุขภาวะทางจิต (The Excellence in Thai Mind Awards) คือ 1.บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) 2.เอไอเอ ประเทศไทย 3.บริษัท เวสเทิร์น ดิจิตอล สตอเรจ เทคโนโลยีส์ (ประเทศไทย) จำกัด สาขาปราจีนบุรี 4.บริษัท ยีอี เมดิคอล ซิสเต็มส์(ประเทศไทย) จำกัด 5.โรงพยาบาลเพื่อนสัตว์เลี้ยงศรีราชาและ 6 องค์กรที่มีความโดดเด่นในมิติต่าง ๆ (The Honorable Mention Awards) คือ 1.ดิ แอสเพนทรี เดอะ ฟอเรสเทียส์ 2.บริษัท เอเอ็นซี โบรเกอเรจ จำกัด 3.บริษัท ซีเมนส์ เฮลธ์แคร์จำกัด 4.บริษัท ทีดีซีเอ็กซ์ (ประเทศไทย) จำกัด5.โรงพยาบาลจิตเวชนครราชสีมาราชนครินทร์6.บริษัท สิ่งทอซาติน จำกัด และ บริษัท เท็กซ์ไทล์แกลลอรี่ จำกัด (ในนามของ PASAYA)

                    “โครงการ Thai Mind Awards จะเป็นแรงบันดาลใจและแนวทางให้องค์กรอื่น ๆ สามารถนำไปประยุกต์และปรับใช้ เพื่อดูแลสุขภาวะทางจิตให้แก่พนักงานทุกองค์กรได้ และเสริมสร้างสภาพแวดล้อมการทำงานในองค์กร ให้มีระบบส่งเสริมสุขภาวะทางจิตที่เอื้อต่อการทำงานได้อย่างยั่งยืน” ผศ.ดร.ณัฐสุดา กล่าว

Shares:
QR Code :
QR Code