สสส. – กรม คร. ชู “จังหวัดเชียงใหม่” ยอดเยี่ยมด้านการบังคับใช้กฎหมายและการดำเนินการสร้างสิ่งแวดล้อมปลอดบุหรี่

ที่มา  : คณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบจังหวัดเชียงใหม่

                   สสส. – กรม คร. ชู “จังหวัดเชียงใหม่” ยอดเยี่ยมด้านการบังคับใช้กฎหมายและการดำเนินการสร้างสิ่งแวดล้อมปลอดบุหรี่

                   จังหวัดเชียงใหม่ มีการดำเนินงานควบคุมยาสูบมาอย่างต่อเนื่อง โดยคณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบจังหวัดเชียงใหม่ (คผยจ.เชียงใหม่) ให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนงานควบคุมยาสูบทุกมาตรการ ได้แก่ การขับเคลื่อนกลไก คผยจ. การป้องกันนักสูบหน้าใหม่ การบำบัดรักษา  และการบังคับใช้กฎหมายและสร้างสิ่งแวดล้อมปลอดบุหรี่ ที่มุ่งเน้นการประชาสัมพันธ์ตรวจเตือนร้านค้าต่าง ๆ ในพื้นที่ ทำให้ในปี 2565 มีจำนวนเรื่องร้องเรียนลดลง ทำให้จังหวัดเชียงใหม่ได้รับคัดเลือกให้เป็นจังหวัดที่มีผลงานยอดเยี่ยมด้านการขับเคลื่อนและสนับสนุนการควบคุมยาสูบ ประจำปี 2566 (ด้านการบังคับใช้กฎหมายและการดำเนินการสร้างสิ่งแวดล้อมปลอดบุหรี่) โดยได้รับพระราชทานรางวัลจากสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรีนารีรัตนราชกัญญา ในวันงดสูบบุหรี่โลก ประจำปี 2566 วันที่ 31 พฤษภาคม 2566

                   นายวรวิทย์ ชัยสวัสดิ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ในฐานะรองประธาน คผยจ.เชียงใหม่ กล่าวว่า การบริโภคยาสูบเป็นปัญหาสำคัญและส่งผลกระทบต่อประชาชน ชุมชน สังคม และครอบครัว ซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่เล็งเห็นถึงความสำคัญในการแก้ไขปัญหา และได้ประกาศนโยบายจังหวัดเชียงใหม่ปลอดภัยจากควันบุหรี่ เพื่อเป็นการเฝ้าระวังและป้องกันมิให้เด็กและเยาวชนเข้าถึงผลิตภัณฑ์ยาสูบ ลด ละ เลิกบุหรี่ และเป็นการคุ้มครองสุขภาพผู้ไม่สูบบุหรี่ โดยกำหนดให้สถานที่ราชการและสถานที่สาธารณะต่าง ๆ ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ. 2560 อย่างเครงครัด

                   นายวรวิทย์ กล่าวว่า ปัจจัยความสำเร็จที่ทำให้เชียงใหม่ ได้รับคัดเลือกเป็นจังหวัดที่มีผลงานยอดเยี่ยมด้านการขับเคลื่อนและสนับสนุนการควบคุมยาสูบฯ คือ การทำงานเชิงบูรณาการ โดยมีผู้ราชการจังหวัดเป็นผู้บังคับบัญชา ทำให้เกิดการบูรณาการร่วมกับภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน ทั้งสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) สรรพสามิตจังหวัด ฝ่ายปกครอง ศึกษาธิการจังหวัด หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และภาคประชาสังคม ในการลงพื้นที่ตรวจเตือน เฝ้าระวัง และบังคับใช้กฎหมายมีประสิทธิภาพ

                   “สิ่งสำคัญที่สุด คือ การประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับรู้ถึงพิษภัยของบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า นอกจากนี้ ข้าราชการก็ต้องปฏิบัติตัวเป็นแบบอย่างที่ดี สถานศึกษาต้องดูแลเยาวชนอย่างเคร่งครัด ภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วนต้องช่วยกันดูแลปกป้องสุขภาพของประชาชน ควบคู่ไปกับการบังคับใช้กฎหมาย”

                   นายจตุชัย มณีรัตน์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ ในฐานะกรรมการและเลขานุการ คผยจ. กล่าวว่า คผยจ. เป็นกลไกที่มีบทบาทสำคัญในการกำหนดนโยบายและทิศทางการดำเนินงานให้สามารถบังคับใช้กฎหมายใช้ได้จริง ซึ่งปัจจัยความสำเร็จของจังหวัดเชียงใหม่ คือ มีการตรวจเตือน เฝ้าระวัง และบังคับใช้กฎหมาย อย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง นอกจากนี้ ผู้ว่าราชการจังหวัด รองผู้ว่าราชการจังหวัด และผู้บริหารส่วนราชการในจังหวัด ยังให้ความสำคัญ และเป็นหัวเรือใหญ่ในการขับเคลื่อน ตลอดจนได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากภาคีเครือข่าย ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ผู้นำศาสนา ฯลฯ ที่มีเป้าหมายเดียวกันในการทำให้เชียงใหม่มีสิ่งแวดล้อมที่ปลอดภัยจากควันบุหรี่ พร้อมคาดหวังให้ประชาชนลดการสูบบุหรี่ลง เพราะจังหวัดเชียงใหม่ต้องเผชิญภัยคุกคามจาก PM 2.5 ปี ละ 4 – 5 เดือน ดังนั้น ไม่ควรเพิ่มความเสี่ยงด้วยควันบุหรี่อีก

                   นายแสวงชัย ลือชัย หัวหน้าฝ่ายปราบปราม สำนักงานสรรพสามิตพื้นที่เชียงใหม่ กล่าวว่า สรรพสามิตเชียงใหม่ มีบทบาทในบังคับใช้กฎหมายให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติภาษีสรรพาสามิต พ.ศ.2560 ตั้งแต่การเพาะปลูกต้นยาสูบ ซื้อใบยาสูบ ผลิต นำเข้าส่งออก และจำหน่าย ซึ่งต้องได้รับอนุญาต รวมถึงการปรามปราบยาสูบผิดกฎหมาย และดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดในข้อหาแบ่งขาย ซึ่งในปีที่ผ่านมา พบการกระทำผิดข้อหาการขายยาสูบโดยไม่มีใบอนุญาต และการแบ่งขายยาสูบน้อยมาก เพราะมีการตรวจเตือนและประชาสัมพันธ์ให้ผู้ประกอบการร้านค้าปฏิบัติตามกฎหมายต่อเนื่อง ส่วนกรณีสินค้าผิดกฎหมาย (สินค้าไม่เสียภาษี) ยังพบในบางพื้นที่ ซึ่งตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2564 – 1 ธันวาคม 2565 พบผู้กระทำผิด 163 ราย ตรวจยึดของกลางได้ประมาณ 30,000 ซอง ส่วนใหญ่เป็นการลักลอบนำเข้าจากประเทศเพื่อนบ้าน เนื่องจากเป็นพื้นที่ติดชายแดน โดยจะบูรณาการร่วมกับตำรวจ ทหาร และเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง ในการจับกุมตามแนวชายแดน ส่วนเจ้าหน้าหน้าที่ สสจ. จะช่วยในการประชาสัมพันธ์ให้แก่ผู้ประกอบการร้านค้า สถานบริการต่าง ๆ ในเรื่องสถานที่ห้ามสูบบุหรี่ตามกฎหมาย

                   “จุดแข็งของสรรพสามิตเชียงใหม่ คือ ในพื้นที่ 25 อำเภอ มีเจ้าหน้าที่ดูแลเต็มพื้นที่ โดยร้านค้าที่ขออนุญาตอย่างถูกต้อง ในปี 2564 – 2565 มีประมาณ 20,000 ร้าน และเจ้าหน้าที่ได้ออกปราบปรามสินค้าผิดกฎหมายอย่างต่อเนื่อง”

                   พันตำรวจเอกอรรคเดช เตจ๊ะราษฎร์ ผู้กำกับการ กลุ่มงานสอบสวน ตำรวจภูธรจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า ตำรวจภูธรจังหวัดเชียงใหม่ ดำเนินการตามนโยบายของตำรวจภูธรภาค 5  สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่มีการออกหนังสือสั่งการให้จัดตั้งนายตำรวจชั้นผู้ใหญ่ เป็นผู้ประสานงานกับ สสจ.เชียงใหม่ ในการบังคับใช้กฎหมาย ทั้งเรื่องการห้ามขายให้เด็กอายุต่ำกว่า 20 ปี การแบ่งขาย การควบคุมบุหรี่ไฟฟ้า รวมถึงติดประกาศและจัดสถานที่สูบบุรี่ตามกฎหมาย ซึ่ง สสจ.เชียงใหม่ ได้ขอให้ตำรวจลงพื้นที่ติดตามด้วยทุกครั้ง เพื่อให้สามารถดำเนินการกับผู้กระทำผิดได้ทันที

 

 

 

Shares:
QR Code :
QR Code