สสจ.ยะลาเร่งป้องกันโรคหัด

ที่มา :  เดลินิวส์


สสจ.ยะลาเร่งป้องกันโรคหัด  thaihealth


แฟ้มภาพ


สสจ.ยะลาเร่งป้องกันโรคหัด ระบาดหนักคร่าชีวิตหลายคน


นายแพทย์สงกรานต์ ไหมชุม นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดยะลา เปิดเผยถึงสถานการณ์โรคหัดในพื้นที่ จ.ยะลา ว่า จากข้อมูลจังหวัดยะลามีการระบาดของโรคหัด เกิดขึ้นในพื้นที่ตั้งแต่ช่วงต้นเดือนกันยายน จนถึงปัจจุบัน ยอดรวม 495 คน มีการระบาดกระจายทุกอำเภอ ปริมาณเยอะที่สุด คือ พื้นที่ อ.ยะหา และมีผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นอีก 1 ราย เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม ที่ผ่านมา ตอนนี้มีผู้เสียชีวิตแล้ว 6 ราย ยังมีผู้ป่วยที่สงสัย เข้ารักษาอยู่ในห้องไอซียู รพ.ศูนย์ยะลา เป็นเด็กอีก 2 คน ซึ่งมีอาการหนักพอสมควร หนึ่งในนั้นเป็นเด็กลูกหลานแรงงานต่างด้าว เป็นเด็กกัมพูชา ซึ่งรับมาจาก อ.กาบัง กำลังเฝ้าระวังสถานการณ์อยู่


นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดยะลา เปิดเผยอีกว่า สำหรับการดำเดินการของจังหวัดยะลา ใช้มาตรการ สอง สาม หากพบต้องรายงานภายใน 3 ชั่วโมง เพื่อหาผู้สัมผัสเพื่อชี้เป้าเพื่อฉีดวัคซีน และต้องเร่งฉีดวัคซีนให้ทันภายในเวลา 3 วัน โดยได้ฉีดวัคซีนไปแล้วในช่วงตั้งแต่เดือนกันยายนที่ผ่านมา ประมาณ 5,000 คนรวมทุกอำเภอ ซึ่งเป็นกลุ่มที่สัมผัส ได้ดำเนินการไปแล้ว พร้อมได้ร่วมประชุมกับผู้ว่าราชการจังหวัด รายงานสถานการณ์โดยอาศัยพระราชบัญญัติควบคุมโรคติดต่อ และการประชุมเพื่อกำหนดประเมินสถานการณ์อีกครั้ง ในส่วนของทางวิชาการ จังหวัดยะลา โดยสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ได้มีการประชุมวิชาการในการที่จะป้องกันไม่ให้ผู้ป่วยเสียชีวิต ซึ่งการประกาศจัดตั้งศูนย์ในการเผชิญกับเรื่องของโรคหัด ได้ตั้งเป้า 4 เรื่อง จะไม่ให้พบผู้ป่วยรายใหม่ ซึ่งรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา ลดลงจากสัปดาห์ก่อนตั้งแต่เริ่มระบาดจากเดิมวันละ 30-40 คน เหลือแค่ประมาณ 10 คน ซึ่งสถานการณ์น่าจะดีขึ้นเรื่อย ๆ เพราะตอนนี้พี่น้องประชาชนให้ความสำคัญในเรื่องของการฉีดวัคซีน ในส่วนเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ได้ออกฉีดวัคซีนให้กับผู้สัมผัสเพื่อป้องกันให้โรคแพร่ระบาดเช่นกัน


"ส่วนหนึ่งที่เสียชีวิตเพิ่มนั้น เพราะผู้ป่วยมีโรคประจำตัวอยู่แล้ว เด็กไม่ได้แข็งแรงไม่ได้ฉีดวัคซีนเลย ถึงเกณฑ์ที่กำหนดก็ไม่ได้ฉีดวัคซีน อีกส่วนหนึ่งคือ เมื่ออาการหนักแล้ว ทางญาติเองอยากให้กลับไปเสียชีวิตที่บ้าน ไม่ได้ส่งมารักษาต่อที่ รพ.ศูนย์ยะลา ซึ่งตรงนั้นอาจจะเป็นปัญหา ทำให้เด็กเสียชีวิต ในส่วนของการเสียชีวิตตอนนี้ได้ทบทวนมาตรการทั้งหมด เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการเสียชีวิตขึ้น ถ้าเด็กมีอาการเกิดโรคแทรกซ้อนอย่างอื่น เช่น มีเรื่องของหอบหืด ที่เป็นโรคเดิมอยู่แล้ว ก็จะทำให้อัตราการเสียชีวิตมีมากขึ้น" นพ.สงกรานต์ กล่าว

Shares:
QR Code :
QR Code

ใส่ความเห็น

ระบุข้อความ