สสจ.ขอนแก่น เตือนประชาชนหยุดยุงลาย

ที่มา :  สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์


สสจ.ขอนแก่น เตือนประชาชนหยุดยุงลาย  thaihealth


แฟ้มภาพ


สาธารณสุขจังหวัดขอนแก่น แจ้งเตือนพี่น้องประชาชนให้ดูแลสุขภาพอนามัยให้แข็งแรงเร่งทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลาย เพื่อป้องกันและหยุดการระบาดของโรคไข้เลือดออก โรคติดเชื้อไวรัสซิกาและโรคไข้ปวดข้อยุงลาย ด้วยมาตรการ “3-เก็บ-ป้องกัน-3-โรค” โดยเครือข่ายทุกภาคส่วนร่วมมือกัน


นายแพทย์สมชายโชติ ปิยวัชร์เวลา นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดขอนแก่น เปิดเผยว่า ยุงลายสามารถแพร่พันธุ์ได้ทุกฤดูกาล นำโรคระบาดสู่คนได้หลายชนิดได้แก่โรคไข้เลือดออก เชื้อไวรัสซิกา และไข้ปวดข้อยุงลาย หากไม่ระวังอาจเกิดอันตรายถึงชีวิตได้ โดยเฉพาะเด็กเล็กที่ไม่สามารถปกป้องตัวเองได้ถือว่าเป็นบุคคลเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้มากที่สุด โรคไข้เลือดออกเกิดจากเชื้อไวรัสเดงกี แพร่เชื้อโดยยุงลายไปกัดคนป่วยไข้เลือดออก โดยเชื้อจะพักตัวในยุงลายและเมื่อกัดคน จะสามารถถ่ายทอดเชื้อจากต่อมน้ำลายไปสู่คนปกติ ซึ่งหลังจากได้รับเชื้อแล้ว 5-8 วันจะมีอาการไข้สูงลอย ปวดเมื่อย เบื่ออาหาร อาจมีผื่นขึ้นตามลำตัว จึงต้องรีบไปพบแพทย์เพื่อรักษาตามอาการ โรคติดเชื้อไวรัสซิกา หรือไข้ซิกา เป็นอีกหนึ่งโรคที่มียุงลายเป็นพาหะ แม้จะยังไม่มีวัคซีนป้องกันแต่ผู้ป่วยส่วนใหญ่สามารถหายได้เองภายใน 7 วัน กลุ่มเสี่ยงติดเชื้อไวรัสซิกามากที่สุดคือ กลุ่มสตรีตั้งครรภ์ ซึ่งหากติดเชื้อแล้วจะทำให้ทารกในครรภ์ได้รับอันตราย ทำให้เด็กมีศรีษะเล็กกว่าปกติ สมองเล็ก แคระแกร็น พัฒนาการช้า


ด้วยเหตุนี้ องค์การอนามัยโลกจึงประกาศให้การระบาดของไวรัสซิกา เป็นภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ ดังนั้นหญิงตั้งครรภ์ไม่ควรเดินทางไปในประเทศที่มีการระบาดของโรค และหากเป็นประชากรในประเทศที่มีการระบาดต้องให้ชะลอการตั้งครรภ์ออกไปก่อน หากหญิงตั้งครรภ์มีอาการไข้ ผื่นขึ้น ตาแดง ปวดเมื่อยตามตัว ปวดข้อ ต้องรีบพบแพทย์ เพื่อทำการเจาะเลือดตรวจหาเชื้อ และที่สำคัญคือ หากมีการระบาดอย่างรุนแรงในพื้นที่โดยไม่มีการร่วมมือกันกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลายในชุมชนอย่างต่อเนื่อง อาจทำให้เกิดการระบาด ของโรคไปสู่วงกว้างต่อไปได้ ในส่วนของประเทศไทยไวรัสซิกาสามารถพบได้ ในทุกภาคของประเทศไทย โดยพบรอยโรคมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2506 และพบผู้ป่วยรายแรกเมื่อปี พ.ศ. 2555 หลังจากนั้น มาพบผู้ป่วยเฉลี่ยปีละ 2-5 ราย ซึ่งผู้ป่วยทุกรายหายได้เอง และยังไม่เคยมีรายงานการติดเชื้อไวรัสซิกาในหญิงตั้งครรภ์ จนทำให้เด็กเกิดความพิการของเด็กทารกดังกล่าว และกระทรวงสาธารณสุขได้ประกาศให้โรคติดเชื้อไวรัสซิกา เป็นหนึ่งในโรคติดต่อที่ต้องแจ้งความ สำหรับจังหวัดขอนแก่นพบผู้ป่วยประปราย ในบางพื้นที่แต่ไม่พบการระบาด และไม่พบเด็กศีรษะเล็กกว่าปกติ


ส่วนโรคไข้ปวดข้อยุงลายเป็นอีกโรคหนึ่งที่มียุงลายเป็นพาหะนำโรค ซึ่งเกิดจากเชื้อไวรัสชิคุนกุนยาแพร่เชื้อโดยยุงลายสวน และยุงลายบ้าน ที่มีเชื้อแล้วไปกัดคนหลังจากได้รับเชื้อจะใช้เวลา 2-3 วัน จึงจะมีอาการป่วย โดยลักษณะอาการคล้ายไข้เลือดออกแต่จะปวดตามข้อจากอวัยวะหนึ่งไปยังอวัยวะหนึ่ง เช่นจากข้อมือไปข้อเท้า เลื่อนปวดไปทั้งตัว จนทำงานไม่ได้ระยะเวลานาน


นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดขอนแก่น กล่าวเพิ่มเติมว่า จังหวัดขอนแก่นได้มีแนวทางปฏิบัติในการควบคุมและป้องกันทั้ง 3 โรคดังกล่าวคือ เน้นย้ำบุคลากรทางการแพทย์ ทั้งในสถานพยาบาลภาครัฐและเอกชนให้วินิจฉัยโรคให้ชัดเจน และพิจารณารับไว้เป็นผู้ป่วยในตามเกณฑ์ สื่อสารกับคลินิก ร้านขายยา หากพบผู้ป่วยมีอาการที่ต้องสงสัยให้ส่งไปรับการตรวจรักษา ที่โรงพยาบาลทันที จัดตั้งทีมตระหนักรู้สถานการณ์โรค รวมถึงการเปิดศูนย์ปฏิบัติการตอบโต้ภาวะฉุกเฉินทางด้านสาธารณสุขในระดับพื้นที่ อีกทั้งมีการจัดกิจกรรมรณรงค์กำจัด แหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลายในสถานที่สำคัญเช่น สถานที่ราชการ โรงเรียน วัดอย่างต่อเนื่องในช่วงฤดูฝน หรือช่วงการระบาดของโรค ทั้งนี้ขอให้พี่น้องประชาชนร่วมมือร่วมใจป้องกันโรคระบาดจากยุงลาย ด้วยมาตรการ “3-เก็บ-ป้องกัน-3-โรค” คือ


1. เก็บบ้านให้สะอาด โปร่ง โล่ง ไม่มีมุมอับทึบเป็นที่อยู่อาศัยของยุงลาย


2. เก็บขยะรอบบ้าน โดยทำต่อเนื่องสัปดาห์ละครั้งเพื่อไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย


3. เก็บน้ำ สำรวจภาชนะใส่น้ำต้องปิดฝาให้มิดชิด เพื่อป้องกันไม่ให้ยุงลายวางไข่


หากมีอาการป่วย หรือพบเห็นผู้มีอาการสงสัย ในช่วงการระบาด ให้ปรึกษาแพทย์ในสถานพยาบาลใกล้บ้านทันที หากมีข้อสงสัย สามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วนสายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422 หรือสำนักโรคติดต่อทั่วไป โทร 0-2590-3177- 8

Shares:
QR Code :
QR Code