สสค. เปิดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ “ครูสอนดี” ภาคกลาง

สสค. เปิดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ “ครูสอนดี” ภาคกลาง ต่อยอดแนวคิด “ปฏิรูปการศึกษา” เพื่อพัฒนา “เด็กด้อยโอกาส”

สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และพัฒนาคุณภาพเยาวชน (สสค.) จัดการประชุมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระดับภาค(ภาคกลาง) “แลกเปลี่ยน แบ่งบัน สร้างสรรค์ความรู้ครูสอนดีภาคกลาง” ณ โรงแรมลองบีช ชะอำ จ.เพชรบุรี เพื่อต่อยอดสร้างเครือข่ายขยายผลองค์ความรู้และประสบการณ์ของครูผู้ได้รับ “ทุนครูสอนดี” ภายใต้โครงการ “สังคมไทยร่วมกันคืนครูดีให้ศิษย์ เชิดชู ยกย่อง ครูสอนดี” พร้อมเปิดเวทีเสวนา “การพัฒนาเด็กด้อยโอกาสกับการมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่างๆ” ร่วมกันค้นหาทางออก พร้อมผลักดันแนวคิดไปสู่นโยบายเชิงปฏิบัติ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำของกลุ่มเด็กด้อยโอกาสในการเข้าถึงระบบการศึกษาที่มีคุณภาพ

นพ.สุภกร บัวสาย ผู้จัดการ สสค. กล่าวในระหว่างพิธีเปิดงานว่า ปัจจุบันมีเด็กไทยถึงร้อยละ 7 ที่ไม่จบการศึกษาภาคบังคับ 5 ใน 10 คนเรียนจบไม่เกินวุฒิ ม.6 และไม่ได้เรียนต่อมหาวิทยาลัยถึงร้อยละ 60 โดยมี 3 ใน 4 คนเท่านั้นที่เรียนจบ และมีเพียง 1 คนเท่านั้นที่ได้งานทำในปีแรก หากเทียบกับอาเซียนเด็กไทยเรียนต่อระดับอุดมศึกษาสูงเป็นอันดับ 2 แต่ปัญหาก็คือเมื่อเรียนจบออกมาแล้วไม่มีงานทำหรือมีอาชีพที่ไม่เหมาะสม โดย pisa หรือโครงการประเมินผลนักเรียนนานาชาติของประเทศสมาชิกองค์กรเพื่อความร่วมมือและพัฒนาเศรษฐกิจ ได้ทำการทดสอบเด็กไทยว่าเมื่อเรียนแล้วสามารถนำความรู้ไปใช้ในชีวิตจริงได้หรือไม่ ผลที่ได้คือเรามีคะแนนรั้งท้ายมาโดยตลอด นอกจากนี้ผลการสำรวจจากโรงงานต่างๆ ยังพบว่าเด็กไทยยังอ่อนทักษะในเรื่องความคิดความอ่าน ภาษาอังกฤษ และไอที 

“สิ่งเหล่านี้ได้แสดงให้เห็นว่าระบบการศึกษาไทยในปัจจุบันไม่ตอบโจทย์ของเด็กทุกกลุ่มและมุ่งเน้นไปเฉพาะทักษะวิชาการมากเกินไป โดยเฉพาะกลุ่มที่ออกจากระบบการศึกษาทั้งแต่ ม.3 และ ม.6 ดังนั้นการปฏิรูปการศึกษาจะต้องกระจายโอกาสและเพิ่มความเสมอภาคทางการศึกษา เพื่อให้เด็กและเยาวชนที่ด้อยโอกาส ได้มีสิทธิ์อย่างภาคภูมิในการเข้าถึงระบบการศึกษาที่มีคุณภาพ ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่ของผู้จัดการศึกษาและทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะครูที่จะช่วยกันให้เด็กไทยได้เข้าถึงระบบการศึกษาที่มีคุณภาพได้ ความแตกต่างหรือเหลื่อมล้ำของการศึกษาก็จะลดลง” ผจก.สสค.ระบุ

ในเวทีเสวนา “การพัฒนาเด็กด้อยโอกาสกับการมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่างๆ” ได้รับเกียรติจาก นายพะโยม ชินวงศ์ ผู้อำนวยการสำนักการศึกษาพิเศษ สพฐ., นายธีรศักดิ์ พานิชวิทย์ นายก อบต.บ้านหม้อ จ.เพชรบุรี, นายศักดา ภูมรินทร์ ผู้อำนวยการ รร.ร่มเกล้า จ.กาญจนบุรี, นายพฤหัส พหลกุลบุตร (ครูก๋วย) มูลนิธิสื่อชาวบ้าน และ นางนลินี วันไชยอดีตผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ โดยมี นายนพพร สุวรรณรุจิ ผู้ทรงคุณวุฒิจาก สสค. ดำเนินการอภิปราย

นายพะโยม ชินวงศ์ กล่าวว่าสถานการณ์เด็กด้อยโอกาสในปัจจุบันมีจำนวน 4 ล้านคนจากเยาวชนทั้งหมด 10 ล้านคน และในจำนวนนี้มีเด็กประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์ที่ต้องการความจำเป็นพิเศษทางการศึกษา แต่กลับถูกเลือกปฏิบัติและเสียสิทธิ์ทางการศึกษาโดยเฉพาะในโรงเรียนของรัฐ

“ปัจจุบันการศึกษาสำหรับเด็กกลุ่มนี้ถึงแม้จะมีหลากหลายรูปแบบแต่ก็ยังขาดคุณภาพ ดังนั้นจึงต้องจัดการศึกษาเพื่อให้เด็กกลุ่มนี้ได้รับการโอกาสในการพัฒนาอย่างเต็มศักยภาพ เพราะถ้าหากเราไม่จัดการศึกษาที่มีคุณภาพให้เด็กทุกคน เด็กไทยก็จะต้องแบกรับน้ำหนักจำนวนมากในการรับผิดชอบภาระของประเทศ นวัตกรรมครูสอนดีที่เกิดขึ้นในวันนี้เป็นอีกแนวทางหนึ่งในการแก้ปัญหากลุ่มเด็กด้อยโอกาส ดังนั้นทางออกของเรื่องนี้ก็คือ ทุกโรงเรียนจะต้องจัดการศึกษาเพื่อคนทุกคนและเด็กทุกคนควรได้รับโอกาสการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ” นายพะโยมกล่าว

ด้านอดีตผู้บริหารสถานศึกษาเอกชน นางนลินี วันไชย ได้ชวนผู้ร่วมเสวนาทุกคนร่วมต่อยอดแนวคิดของ “นายพะโยม”พร้อมกับตั้งคำถามว่าทุกวันนี้ไม่ว่าโรงเรียนรัฐหรือเอกชนครูสามารถดูแลเด็กนักเรียนได้อย่างทั่วถึงหรือไม่ ซึ่งได้รับคำตอบจากคณะครูเป็นเสียงเดียวกันว่า “ไม่ทั่วถึง” อันเนื่องมาจากปัญหาจำนวนนักเรียนต่อสัดส่วนครูที่ไม่เหมาะสม

“ถ้าเราอยากให้เด็กทุกคนได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพโดยเฉพาะเด็กเรียนรวม จะต้องลดปริมาณนักเรียนลงให้น้อยกว่านี้ เพราะปัจจุบันยังเป็น 50 หรือ 60 ต่อ 1 เด็กปกติกลุ่มใหญ่ครูยังดูแลให้ทั่วถึงไม่ได้เลย หากมีเด็กด้อยโอกาสด้วยก็จะเป็นโจทย์ที่ยากมากยิ่งขึ้น” นางนลินีกล่าว 

นายธีรศักดิ์ พานิชวิทย์ กล่าวว่าปัญหาที่กล่าวมาข้างต้น ท้องถิ่นเองก็มีความต้องการที่จะเข้าไปดูแลและจัดการศึกษาอย่างทั่วถึงและมีคุณภาพให้กับคนในท้องถิ่นทุกคน โดยเฉพาะเด็กด้อยโอกาสจากปัจจัยด้านต่างๆ ไม่ว่าจะด้านร่างกาย ฐานะครอบครัว และโอกาสในการเข้าถึงการศึกษา แต่ยังมีความไม่คล่องตัวในการทำงานประสานกับหน่วยงานหลักที่ดูแล

“การแก้ปัญหาเรื่องการเรียนรู้ของเด็กเยาวชนไทยนั้น จึงมีความจำเป็นที่ท้องถิ่นจะต้องเข้ามาช่วยบูรณาการการทำงานร่วมกับหน่วยงานหนัก เช่น การช่วยเหลือเด็กด้อยโอกาสทั้งในและนอกระบบการศึกษา การแก้ปัญหาโรงเรียนขนาดเล็ก และการขาดแคลนครู ซึ่งแต่ละท้องถิ่นมีความพร้อมทั้งในเรื่องทรัพยากรและงบประมาณของท้องถิ่นอยู่แล้ว หากสามารถเชื่อมต่อกับหน่วยงานหลักในพื้นที่และเสริมประเด็นตามความจำเป็นที่ต้องการ ก็จะสามารถขับเคลื่อนให้เด็กเยาวชนทุกคนมีคุณภาพในการเรียนรู้ได้อย่างเท่าเทียม” นายธีรศักดิ์ระบุ

ด้านโรงเรียนที่รับผิดชอบดูแลเยาวชนที่ต้องมีพฤติกรรมไม่เหมาะสม นายศักดา ภูมรินทร์ กล่าวว่าการดูแลช่วยเหลือเด็กกลุ่มนี้ของโรงเรียนนั้น จะใช้กระบวนการจัดการเรียนรู้ที่เรียกว่า โครงการเพื่อการพัฒนาตนเอง (project base learning) หรือการเรียนรู้ด้วยตนเอง

“กระบวนการศึกษาลักษณะนี้จะให้เด็กที่มีปัญหาในแต่ละด้านที่แตกต่างกันได้ศึกษาค้นคว้าในสิ่งที่ตนเองสนใจด้วยตนเอง และนำผลงานมานำเสนอ ไปพร้อมกับการปลูกฝังจิตสาธารณะผ่านการบำเพ็ญประโยชน์ ซึ่งทำให้เด็กสามารถพัฒนาตนเองในด้านต่างๆ ได้ดีขึ้น ดังนั้นสิ่งสำคัญในการทำงานกับเด็กด้อยโอกาสคือการเปิดใจและให้โอกาสกับเด็กกลุ่มนี้” นายศักดากล่าว

ก่อนที่จะปิดท้ายการเสวนาด้วยประเด็นโดนใจ “ครูสอนดี” จาก นายพฤหัส พหลกุลบุตร ที่ระบุว่าแนวทางลำดับแรกในการจัดระบบศึกษาให้สามารถพัฒนาศักยภาพของเด็กแต่ละคนให้มากที่สุดนั้นสิ่งสำคัญก็คือจะต้องคืนครูดีให้กับเด็กและคืนอำนาจการศึกษาให้กับท้องถิ่น

“หากครูทุกคนได้กลับไปทำหน้าที่ครู คือ ให้ครูได้สอนอย่างเต็มที่ ไม่ใช่ต้องมานั่งทำเอกสารประเมินต่างๆ ที่มีเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ต้องเปลี่ยนกระบวนการเรียนรู้ที่เดิมบริหารจัดการแบบ “รวมศูนย์” ต้องเปลี่ยนเป็น “คืนอำนาจ” ให้ท้องถิ่นโดยให้ทุกภาคส่วนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาให้กับเยาวชนได้ตามบริบทของชุมชน” ครูก๋วยระบุ

นายนพพร สุวรรณรุจิ ผู้ทรงคุณวุฒิจาก สสค. กล่าวว่าเวทีในวันนี้มีตัวแทนจากภาครัฐ องค์กรเอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ทุกคนฝ่ายพูดตรงกันว่าการศึกษาเป็นเรื่องของคนทั้งมวลหรือ for all education ลำพังกระทรวงศึกษาธิการเพียงหน่วยงานเดียวคงเอาไม่อยู่ ทุกฝ่ายพร้อมที่จะเข้ามาช่วย แต่การที่ร่วมกับภาครัฐก็ยังมีข้อติดขัดเรื่องกฎกติกาอยู่บ้าง แต่ก็ดีใจว่าตัวแทนภาครัฐที่มาร่วมในวันนี้ก็ได้อาสาว่าจะพยายามแกะปมปัญหาออกเพื่อให้ทุกฝ่ายมาจับมือกันได้

“มีข้อมูลระบุว่าเด็กด้อยโอกาสมีจำนวนเพิ่มจำขึ้นทุกวัน ดังนั้นการจะเข้าถึงคุณภาพการศึกษาหรือโอกาสของการระดับคุณภาพชีวิต จึงเป็นเรื่องที่ต้องช่วยกันอย่างมหาศาล เวทีเสวนาในครั้งนี้เป็นเวทีที่ทำให้เราได้มองเห็นถึงโอกาสและช่องทางที่เด็กด้อยโอกาสทั้งหลายจะได้รับสิ่งดีๆ จากภาคส่วนต่างๆ โดย สสค.อยากจะเห็นทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมในการดูแลเด็กด้อยโอกาส ซึ่งในวันนี้ทุกฝ่ายก็พร้อมแล้วที่จะมาร่วมกันทำให้เด็กกลุ่มนี้ได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ซึ่ง สสค.ก็พร้อมที่จะผลักดันยุทธศาสตร์และขับเคลื่อนการทำงานเพื่อเด็กด้อยโอกาสให้เกิดความยั่งยืน” ผู้ทรงคุณวุฒิ สสค.กล่าวสรุป

 

 

ที่มา :สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และพัฒนาคุณภาพเยาวชน (สสค.) 

 

Shares:
QR Code :
QR Code