สสค.กับพันธกิจยกย่องเชิดชู”ครูสอนดี”

สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.)

เพราะเชื่อว่า คุณภาพการศึกษาจะไม่ดีเกินกว่าคุณภาพครู และคุณภาพครูเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดของคุณภาพการศึกษา รัฐบาล กระทรวงศึกษาธิการ จึงเร่งปฏิรูปแนวทางเชิดชู “ครูสอนดี” ทั่วประเทศ ซึ่งเป็นหนึ่งในแผนปฏิรูปประเทศไทย ภายใต้การขับเคลื่อนของ สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) ด้วยการยกย่องเชิดชูครูผู้ทุ่มเทอุทิศตนเพื่อศิษย์ และไม่หยุดนิ่งที่จะพัฒนาทักษะเพื่อให้สอดคล้องกับผู้เรียนและสังคม ตลอดจนมีวัตรปฏิบัติที่ดีงามสะท้อนให้เห็นจิตวิญญาณครูที่แท้จริง

“การคืนครูให้นักเรียน” โดยไม่เอา “เวลา” ครูไปทำหน้าที่อื่นๆ ที่ไปเบียดบังเวลาครูไปจากภารกิจที่สำคัญที่สุด คือ “การสอน และการดูแลนักเรียน” จึงเป็นหนึ่งในปณิธานที่ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เน้นย้ำว่า วิชาชีพครูจึงต้องได้รับแรงจูงใจ ส่งเสริม และพัฒนามากกว่าในปัจจุบัน โดยจะต้องมีการปรับเปลี่ยนระบบ เพื่อให้เวลาและจิตใจของครูทุ่มเทให้ลูกศิษย์อย่างเต็มที่

"นพ.สุภกร บัวสาย" ผู้จัดการสำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.)

“ครูสอนดี”หนึ่งในพันธกิจของ สสค.ยุคบุกเบิกภายใต้ความรับผิดชอบของ “นพ.สุภกร บัวสาย” ผู้จัดการสำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) นั้น ต้องประกอบด้วย 4ลักษณะเด่นคือ อุทิศตนให้แก่การเรียนรู้ของศิษย์มาเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 3ปี หมั่นพัฒนาการสร้างรูปแบบการเรียนการสอนที่สนองต่อผลการเรียนรู้ของศิษย์ นักเรียนไว้วางใจและพึ่งพาได้และ มีจิตวิญญาณครูที่แท้จริง

“ผมเรียกร้องให้สังคมไทย มีส่วนร่วมในการยกย่องเชิดชูครูสอนดี ครูสอนดีมีใครบ้างในหมู่บ้าน ในตำบล ในอำเภอ ในจังหวัด มีครูคนไหนบ้างที่ทำให้ลูกหลานในแต่ละท้องถิ่นเป็นคนดี มีทักษะชีวิต มีทักษะทางสังคม ครูที่ชี้นำทางสว่างให้แก่ศิษย์ ครูที่เสียสละ ทุ่มเท ครูที่ปฏิรูปการเรียนการสอน ครูที่ปฏิรูปการเรียนรู้ของศิษย์ ฯลฯ ครูเหล่านี้ควรได้รับการยกย่องเชิดชู เพราะปฏิรูปการศึกษาจะสำเร็จหรือไม่อยู่ที่ครู” นพ.สุภกร กล่าว

ด้วยสถานการณ์ “ครูไทย” ในปัจจุบัน กำลังเผชิญอยู่ในระบบการศึกษาไทย คือ “ผลการประเมินสมรรถนะครูที่ต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน”โดยพบว่า ครูที่สอนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายในกลุ่มสาระวิทยาศาสตร์ ได้คะแนนน้อยกว่า 60%มากกว่าครึ่งได้แก่ วิชาฟิสิกส์ 71.18% (จากครูที่เข้าสอบ 3,387คน) วิชาเคมี 63.83% (จากครูที่เข้าสอบ 3,088คน) และวิชาชีววิทยา 88.26% (จากครูที่เข้าสอบ 2,846คน) และกลุ่มสาระคณิตศาสตร์ ได้คะแนนน้อยกว่า 60%ถึง 83.66% (จากครูที่เข้าสอบ 5,498คน) ส่วนวิชาคอมพิวเตอร์ ได้คะแนนน้อยกว่า 60%ถึง 87.54%จากครูที่เข้าสอบ 3,973คน)

เมื่อประกอบกับครูจำนวนมากที่ “สอนไม่ตรงวุฒิการศึกษา” ทำให้เกิดภาวะ “ขาดครูผู้เชี่ยวชาญเฉพาะวิชา”ส่งผลให้ความเชี่ยวชาญด้านวิชาการลดลง โดยพบว่า ครูที่สอนตรงตามวิชาเอกมีเพียง 57,963คน ในขณะที่มีครูสอนไม่ตรงวิชาเอกถึง 26,396คน หรือร้อยละ 45.54แบ่งเป็นสาขาวิชาฟิสิกส์ 1,342คน, เคมี 1,400คน, ชีววิทยา 2,027คน, คณิตศาสตร์ 8,724คน, คอมพิวเตอร์ 5,454คน และภาษาอังกฤษ 7,449คน อันเป็นสาเหตุหนึ่งที่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพการศึกษา

จากข้อมูลของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ดังกล่าว ยังมีปัญหาคุณภาพครูในมิติอื่นๆ ที่จำเป็นต้องได้รับการพัฒนา อาทิ จิตวิญญาณครู เรื่องครูเพื่อศิษย์ ซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญในการพัฒนาคุณภาพครูทั้งสิ้น

รัฐบาล และกระทรวงศึกษาธิการ จึงร่วมจัดให้มีโครงการ “ครูสอนดี”ซึ่งมุ่งเชิดชูครูทั่วประเทศ และส่งเสริมให้ครูได้มีโอกาสพัฒนาศักยภาพให้เกิดความเชี่ยวชาญไปพร้อมๆ กับการเปิดโอกาสให้ภาคประชาคม ทั้งรัฐ และเอกชนมีส่วนสนับสนุน ภายใต้กลไกขับเคลื่อนผ่าน สสค. หรือ สสส.การศึกษา

นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ

ก้าวสำคัญของการพัฒนาคุณภาพครู เมื่อ “นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ประกาศจุดเน้นปี 2554เป็นปีแห่งการพัฒนาคุณภาพครู ด้วยการเตรียมคัดเลือกครูดี 6หมื่นคน เพื่อยกย่องเชิดชูพร้อมเงินรางวัล 1หมื่นบาท ใช้งบ 681ล้านบาท มอบทุนแก่ “ครูสอนดี”

“ครู 6หมื่นคน ที่ได้รับการคัดเลือกในรอบแรก จะมีการคัดเลือกครูอีก 600คน รับทุนในฐานะที่เป็นครูผู้เสียสละทุ่มเทให้เด็กนอกระบบ ในพื้นที่ห่างไกล มีความยากลำบากในการสอน เพื่อสร้างครูสอนดีหน้าใหม่ให้เกิดขึ้นในท้องถิ่น” นพ.สุภกร กล่าวในที่สุด

 

 

 

 

ที่มา:หนังสือพิมพ์คมชัดลึก

 

  

Shares:
QR Code :
QR Code