สศช.แนะรัฐเร่งผลิตคนสายวิทย์-ไอที รองรับเปิดประชาคมอาเซียน

สศช.แนะรัฐเร่งผลิตคนสายวิทย์-ไอที รองรับเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน

สศช.เตรียมความพร้อมด้านการผลิตและพัฒนากำลังคน โดยเฉพาะสายวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี เพื่อรองรับการเคลื่อนย้ายแรงงานเสรีภายใต้กรอบเออีซี

นางสุวรรณี คำมั่น นางสุวรรณี คำมั่น รองเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวถึงการ เตรียมความพร้อมด้านแรงงานเพื่อรองรับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ปี 2558 ว่า สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้ศึกษาถึงการเตรียมความพร้อมด้านการผลิตและพัฒนากำลังคนเพื่อรองรับการเคลื่อนย้ายแรงงานเสรีภายใต้กรอบประชาคมอาเซียน (เออีซี) เพื่อพิจารณาถึงข้อได้เปรียบเสียเปรียบใน 7 สาขาวิชาชีพข้างต้น พบว่า สาขาวิชาชีพแพทย์ ทันตแพทย์และพยาบาล มีข้อได้เปรียบ คือ คุณภาพการศึกษาอยู่ในระดับแนวหน้า อีกทั้งศักยภาพ ของบุคลากรทางการแพทย์ของไทยสูงที่สุดในกลุ่มอาเซียน รายได้ของแพทย์และทันตแพทย์ไม่ได้แตกต่างกับประเทศ อื่นๆ ในอาเซียน พ.ร.บ.วิชาชีพเป็นสิ่งที่ปกป้องผู้ประกอบ วิชาชีพได้เป็นอย่างดี เพราะมีการสอบขอใบอนุญาต เป็นภาษาไทย ส่วนข้อเสียเปรียบเป็นในเรื่องของการ ขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์ โดยเฉพาะในพื้นที่ชนบท และการกระจุกตัวในเมืองใหญ่ รวมทั้งปัญหาเรื่องค่าจ้างและความมั่นคงในการทำงานของพยาบาลในข้าราชการ

ขณะที่สาขาวิชาชีพบัญชี มีข้อได้เปรียบโดย พ.ร.บ.วิชาชีพ ช่วยปกป้องผู้ประกอบวิชาชีพได้เป็นอย่างดี เพราะมีการสอบขอใบอนุญาตเป็นภาษาไทย และสภาวิชาชีพบัญชีมิได้สนับสนุนให้นักบัญชีไทยไปทำงานในต่างประเทศ ส่วนข้อเสียเปรียบคือบริษัทต่างชาติ รายใหญ่ได้เปรียบทางด้านเทคโนโลยี ซอฟต์แวร์ทางบัญชี มีต้นทุนต่ำ ธุรกิจเอสเอ็มอีในไทยแข่งขันกันเองสูงอยู่แล้ว และความสามารถในการใช้ภาษาอังกฤษยังด้อยกว่าประเทศอื่นๆ ในอาเซียน

นอกจากนี้ ในสาขาวิชาชีพสถาปนิก วิศวกรและนักสำรวจ มีข้อได้เปรียบ คือ การศึกษาสาขาวิศวกรรมของไทยอยู่ในระดับแนวหน้า ค่าตอบแทนและสวัสดิการของวิศวกรไทยไม่แตกต่างจากประเทศอื่นๆ ในอาเซียน มหาวิทยาลัย เช่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีการแลกเปลี่ยนนักศึกษาระหว่างประเทศในอาเซียน และสภาวิศวกรไม่ได้สนับสนุนให้คนต่างชาติเข้ามาทำงานในประเทศไทยมากนัก ส่วนข้อเสียเปรียบอุปนิสัยคนไทยรักความสะดวกสบาย ไม่ชอบการเปลี่ยนแปลง รวมทั้งยกระดับวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลและการเรียน ต่อปริญญาตรีของนักศึกษาสายอาชีพ(ปวส.) ทำให้แรงงานระดับกลางขาดแคลน

ผลวิจัยพบว่าศักยภาพการแข่งขันของไทย เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ในอาเซียนแล้ว ยังไม่สูงมากนัก เพราะกำลังคนของไทยโดยเฉพาะด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และการวิจัยของไทยมีจำนวนน้อย และคุณภาพของ แรงงานสาขาต่างๆ ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่สุด ดังนั้น ทุกฝ่ายทั้งรัฐบาล หน่วยงานรัฐและเอกชน เช่น กระทรวง แรงงาน กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) จะต้องเชื่อมโยงการทำงานร่วมกัน เพื่อผลิตและพัฒนากำลังคนด้านวิทยาศาสตร์ การวิจัยและเทคโนโลยีเพิ่มขึ้น รวมทั้งพัฒนาแรงงานให้มีทักษะฝีมือสูงขึ้น มีทักษะด้านภาษาอังกฤษและภาษาอาเซียน ไอที” นางสุวรรณี กล่าว

ที่มา: หนังสือพิมพ์แนวหน้า

Shares:
QR Code :
QR Code