สวรรค์ของคนทำงาน ไม่ใช่แค่วันหยุด แต่ต้องสุข และสนุกทุกวัน
ข้อมูลจากเวทีพัฒนาศักยภาพนักสร้างสุขและนวัตกรรมสร้างเสริมสุขภาพในองค์กร
กลยุทธ์สร้างสุข เติมไฟให้กับคนทำงาน เรื่องราวฝันให้ไกล และต้องไปให้ถึง เพื่อให้คนสำราญ งานสำเร็จ แต่เวลา 8 ชั่วโมง ที่อุทิศไปให้กับความมุ่งมั่น ทุ่มเท ของมนุษย์เงินเดือน ทั้งนั่งไม่ยอมขยับเขยื้อน เคลื่อนไหว จมอยู่กับเก้าอี้ แต่สิ่งที่สะท้อนกลับมา กลับไม่ใช่รางวัลของความสำเร็จ แต่เสียงสะท้อนของร่างกาย ที่บอกว่า กำลังเสียสมดุล ทำให้ป่วยจากโรคออฟฟิตซินโดรม และโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) ดังนั้น แนวคิดองค์กรแห่งความสุข หรือ Happy workplace จึงเกิดขึ้น
โดยรูปแบบขององค์กรสร้างสุข จากสำนักสนับสนุนสุขภาวะองค์กร สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ครอบคลุม 3 ส่วน ตั้งแต่ ความสุขส่วนตัว Happy People, ความสุขครอบครัว Happy Home, ความสุขขององค์กร Happy teamwork และทั้งหมดต้องสมดุลกัน โดยนิยามความสุข 8 ประการของคนทำงาน ได้แก่
- Happy Body สุขจากการมี สุขภาพดี ดูแลตัวเองได้ ไม่เป็นภาระของผู้อื่น
- Happy Heart สุขจากการมีน้ำใจช่วยเหลือผู้อื่น
- Happy Relax สุขจากการจัดการอารมณ์ของตนเองได้ดี
- Happy Brain สุขจากการเรียนรู้ และมีความเป็นมืออาชีพในการทำงาน
- Happy Soul สุขจากการมีคุณธรรมและความกตัญญู
- Happy Money สุขจากการใช้เงินเป็น
- Happy Family สุขจากรักและสามารถดูแลครอบครัวได้
- Happy Society สุขจากการรักและดูแลองค์กรและสังคม
ซึ่งหนึ่งในผู้ผ่านการอบรมนักสร้างสุข องค์กรระดับต้นมาแล้ว นายสัณหณัฐ ดีทองอ่อน นักพัฒนาสังคมชำนาญการ กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เล่าว่า เมื่อเดือนกรกฎมาคม 2566 เห็นเพจ Thai health Academy เปิดอบรมนักสร้างสุข ด้วยความอยากรู้ จึงสมัครเข้าร่วมโครงการฯ เพียง 2 วันที่ได้เข้ารับการอบรม เปลี่ยนมุมมอง ความคิด และเข้าใจถึงความสุขในที่ทำงานที่แตกต่างไปจากเดิม เชื่อว่าแม้ไม่ได้ทำงานเป็นฝ่ายบุคคลขององค์กร แต่ในฐานะคนในองค์กร สามารถสร้างสุขให้กับเพื่อนร่วมงานคนรอบข้างและตัวเองได้ โดยเริ่มจากชักชวนเพื่อนที่ทำงาน จัดกิจกรรมออกกำลังกายเต้นแอโรบิคร่วมกันในตอนเย็นหลังเลิกงาน ทุกวันจันทร์ และพุธ เท่ากับเป็นการสร้างสุขภาพที่ดี หรือเพิ่มรายได้ให้กับกลุ่มเพื่อน ด้วยการออกร้านในตลาดนัดช่วงเช้าขององค์กรร่วมกัน ทั้งสนุกทั้งเพิ่มรายได้และจัดทริปท่องเที่ยวในกองที่ทำงานร่วมกัน ช่วงวันหยุด“การที่เห็นเพื่อนร่วมงาน มีรอยยิ้ม เสียงหัวเราะ ร่วมกัน จากการที่ทำกิจกรรม ช่วยสร้างสัมพันธ์ และทำให้เชื่อมั่นใจว่าตราบใดที่คนทำงานมีความสุข งานที่ออกมาจะดีเสมอ” นายสัณหณัฐ กล่าว
ศ.ดร.นพ.นันทวัช สิทธิรักษ์ ผอ.สถาบันการเรียนรู้การสร้างเสริมสุขภาพ สสส. กล่าวว่า เพราะ 70% ของประชากรไทย เป็นวัยแรงงาน อายุระหว่าง 20-60 ปี มีบทบาทและภาระรับผิดชอบที่หลากหลายมิติ ตั้งแต่เรื่องงาน ที่บางคนสละเวลาส่วนตัว เพื่อทำงานมากว่า 8 ชั่วโมงต่อวัน หวังเอารายได้ มาจุนเจือครอบครัว ตั้งแต่พ่อแม่ และลูก ทำให้เกิดความเครียด และส่งผลให้เกิดภาวะหมดไฟได้ง่าย ดังนั้น สสส. จึงเน้นการสร้างสุขภาวะที่ดีในการทำงาน เริ่มจากสุขภาวะทางกายที่จับต้องง่ายที่สุดด้วยการออกกำลังกาย เพิ่มการขยับร่างกาย งดบุหรี่-เหล้าส่วนสุขภาวะทางใจ ยอมรับ ว่าความเครียด ความขัดแย้ง ในที่ทำงาน มีผลให้คนป่วยจิตเวช โดย 5% ของคนทำงาน ต้องพบจิตแพทย์ รับประทานยารักษาโรคซึมเศร้า
“สถานที่ทำงานมีส่วนสำคัญในการจัดสภาพล้อมที่เอื้อกับคนทำงาน สุขภาวะทางกาย มีสถานที่ออกกำลังกาย สุขภาวะทางใจ มีพื้นที่ปลอดภัย รับฟัง ให้กำลังใจกัน คนในที่ทำงานมีส่วนสำคัญช่วยกันดูแลซึ่งกันและกันได้ โดยนักสร้างสุข จะเป็นตัวเชื่อมนำเครื่องมือที่ได้จากการอบรมไปปรับใช้สร้างสุขในองค์กร เช่น สำรวจทั้งสุขภาพร่างกายของคนที่ทำงาน นำมาสะท้อนเพื่อเกิดการปรับปรุงเปลี่ยนแปลง ตอบโจทย์และบริบทในที่ทำงาน” ศ.ดร.นพ.นันทวัช
ทั้งนี้ยังให้วิธีสังเกตตัวเอง ว่า สมดุลชีวิต หรือ Work-Life Balance เสียไปหรือไม่ สามารถดูได้จากความสุขของตัวเองเป็นหลัก หากไม่มีความสุข ไม่สามารถจัดการ ไม่มีอำนาจต่อรอง หรือบริหารความสุขให้เกิดในทุกวงรอบของความสัมพันธ์ได้ ทั้งมิติความสัมพันธ์ทางการงาน, ความสัมพันธ์ส่วนตัว, ความสัมพันธ์ครอบครัว และความสัมพันธ์ในสังคม แสดงว่าความไม่สมดุลของชีวิตเกิดขึ้นแล้ว
นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ผู้จัดการ สสส. กล่าวว่า โครงการพัฒนาศักยภาพภาคีเครือข่าย วิทยากร และสร้างนวัตกรรมเพื่อการขับเคลื่อนการสร้างสุของค์กรอย่างเป็นระบบนั้น เพื่อมุ่งเน้นให้เกิดการสร้างนักสร้างสุขในองค์กร ที่ช่วยขับเคลื่อน 4 มิติ ทั้ง สุขภาวะทางกาย ,สุขภาวะทางใจ ,สุขภาวะทางสังคม และสุขภาวะทางปัญญา สร้างความเข้าใจ สร้างสุข และการแบ่งปันในองค์กร ไม่ส่งต่อขยะทางใจให้คนรอบข้างในที่ทำงาน ขณะเดียวกัน ช่วยให้เกิดการยอมรับ และแก้ไขปัญหาร่วมกัน โดยในอนาคต สสส. หวัง ว่า นักสร้างสุข จะสามารถนำความรู้ที่ผ่านการอบรมไปช่วยเหลือองค์กร ซึ่งสถานการณ์สุขภาพและพฤติกรรมสุขภาพของคนวัยทำงาน จากรายงานสุขภาพคนไทยปี 2566 ของสำงานสถิติแห่งชาติ ระบุว่า ประเทศไทย มีคนวัยทำงานถึง 39 ล้านคน ส่วนใหญ่ป่วยเป็นโรค NCDs มีสาเหตุมาจาก 1.มีพฤติกรรมสูบบุหรี่ทุกวัน 2.ดื่มแอลกอฮอล์อย่างน้อย 1 ครั้งต่อสัปดาห์ 3. รับประทานอาหารปรุงสำเร็จจากร้านค้าที่เน้น หวาน มัน เค็มจัด และ 4.การขาดการออกกำลังกาย สอดคล้องกับข้อมูลเฝ้าระวังพฤติกรรมสุขภาพของกระทรวงสาธารณสุข ปี 2566 ที่พบว่า คนวัยทำงาน ทำกิจกรรมทางกายลดลง เหลือ 63.31%
“การสร้างความสุขให้เกิดขึ้น และส่งต่อความสุข ไม่เหมือนกับน้ำมันที่ใช้และหมดไป เพราะความสุข ยิ่งให้ยิ่งได้ นักสร้างสุข ไม่ใช้ตนเองผลิตความสุข แต่ทำให้ทุกคนร่วมกันผลิตความสุขในองค์กรและแบ่งปันกัน” นพ.พงศ์เทพ กล่าว
เพราะหมุดหมายของการทำงานไม่ใช่แค่ความสำเร็จ แต่ระหว่างทางต้องมีความสุข ทั้งกายใจ นักสร้างสุขในองค์กรจึงเกิดขึ้น ช่วยสังเกต ช่วยสะท้อน จุดประกายความสุขให้เกิดขึ้นในองค์กร เมื่อความสุข แผ่ขยาย การงานที่ทำย่อมราบรื่นและสำเร็จได้โดยง่าย