สวมหมวกกันน็อคลดการบาดเจ็บ

ได้ร้อยละ 37

  

            คนไทยส่วนใหญ่มีความจำเป็นต้องใช้รถจักรยานยนต์เป็นยานพาหนะในการเดินทางในชีวิตประจำวัน ด้วยเหตุผลที่ว่ารถจักรยานยนต์เป็นยานพาหนะที่มีราคาถูก มีความคล่องตัว สะดวกรวดเร็ว ประหยัด โดยเฉพาะคนในต่างจังหวัดที่ห่างไกล ระบบการขนส่งสาธารณะยังขยายตัวไปไม่ถึง ทำให้ไม่มีทางเลือกอื่นที่ดีกว่า รถจักรยานยนต์จึงจัดได้ว่าเป็นยานพาหนะที่เป็นที่นิยมของคนไทยมาอย่างต่อเนื่อง

สวมหมวกกันน็อคลดการบาดเจ็บ

 

            จากการศึกษาเปรียบเทียบข้อมูลจำนวนประชากรและจำนวนบ้านเรือน กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย และข้อมูลจำนวนรถจดทะเบียน กรมการขนส่งทางบก กระทรวงคมนาคม ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2552 พบว่าประเทศไทยมีจำนวนประชากรทั้งสิ้นเท่ากับ 63,525,062 คน (ผู้หญิง 32,231,966 คน ผู้ชาย 31,293,096 คน) มีจำนวนบ้านเรือนรวมทั้งสิ้น 21,143,975 หลัง ส่วนจำนวนรถจดทะเบียนสะสมทั้งสิ้น 27,184,577 คัน เป็นรถจักรยานยนต์ 16,706,451 คัน (แยกเป็นรถจักรยานยนต์ส่วนบุคคล 16,549,307 คัน รถจักรยานยนต์สาธารณะ 157,144 คัน) คิดเป็นร้อยละ 61.45 ของจำนวนรถทั้งหมด เฉลี่ยแล้วสัดส่วนการใช้รถจักรยานยนต์ของคนไทย 4 คนต่อรถจักรยานยนต์ 1 คัน หรือเกือบทุกหลังคาเรือนมีรถจักรยานยนต์ใช้ 1 คัน

   

            เมื่อความนิยมในการใช้รถจักรยานยนต์มีเป็นจำนวนมาก และกระจายอยู่ทั่วทุกพื้นที่ในประเทศไทย ผลกระทบร้ายแรงที่เกิดขึ้นตามมาอย่างเห็นได้ชัดเจน คือ ปัญหาอุบัติเหตุทางถนน ซึ่งข้อมูลจากหลายแหล่งยืนยันตรงกันว่า “รถจักรยานยนต์” เป็นยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุทางถนนมากที่สุด ถึงแม้จะแสดงจำนวนที่แตกต่างกันไปตามลักษณะของการเก็บข้อมูลก็ตาม ข้อมูลจากโรงพยาบาลเครือข่ายเฝ้าระวังการบาดเจ็บระดับชาติ 28 แห่ง ซึ่งเป็นข้อมูลผู้บาดเจ็บรุนแรงจากอุบัติเหตุทางถนน พบว่า ยานพาหนะของผู้บาดเจ็บ เป็นรถจักรยานยนต์มากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 83.20 รองลงมา คือ รถกระบะหรือรถตู้ ร้อยละ 7.03 และรถจักรยานและสามล้อ ร้อยละ 4.20  ข้อมูลจากศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศกลาง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ พบว่า ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุมากที่สุด คือ รถจักรยานยนต์ ร้อยละ 41.69 รองลงมาคือ รถยนต์ส่วนบุคคล ร้อยละ 24.89 และรถปิกอัพ ร้อยละ 17.63

           

            และข้อมูลจากศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน รายงานอุบัติเหตุทางถนนในช่วงเทศกาลปีใหม่และสงกรานต์ พบว่า รถจักรยานยนต์เป็นยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุมากที่สุด ร้อยละ 85 – 87 และลักษณะการบาดเจ็บของผู้ที่ใช้รถจักรยานยนต์ส่วนใหญ่ พบว่า แขนขาเป็นอวัยวะที่มีการบาดเจ็บมากที่สุด รองลงไปคือ ศีรษะและคอ แต่สำหรับในรายที่พิการและเสียชีวิต พบว่า มีการบาดเจ็บรุนแรงที่ศีรษะและคอมากที่สุด  นอกจากนี้พฤติกรรมเสี่ยงสำคัญของผู้บาดเจ็บจากการใช้รถจักรยานยนต์ ยังพบว่า ส่วนใหญ่เป็นผู้ขับขี่ร้อยละ 89 มีการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากถึงร้อยละ 43.99 และไม่ได้สวมหมวกนิรภัยมากถึงร้อยละ 86.21 (ผู้ขับขี่ไม่สวมหมวกนิรภัยร้อยละ 84.30 ผู้โดยสารไม่สวมหมวกนิรภัยร้อยละ 93.87)

     

            การสวมหมวกนิรภัยในผู้ใช้รถจักรยานยนต์ เป็นที่ยอมรับโดยข้อมูลจากการศึกษาวิจัยในหลายประเทศว่า สามารถป้องกันการตายหรือการบาดเจ็บสาหัสจากอุบัติเหตุจากการขับขี่รถจักรยานยนต์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

           

                       การศึกษาที่สหรัฐอเมริกา โดย Johnson et al.,1996 พบว่า การสวมหมวกนิรภัย

ลดการบาดเจ็บทางสมองได้ร้อยละ 67

 

                       การศึกษาที่อิตาลี โดย Servadei et al.2003 พบว่า การสวมหมวกนิรภัยลดการ

บาดเจ็บทางสมองได้ร้อยละ 30 ในทวีปเอเชีย

 

                       การศึกษาที่ประเทศไทย โดย วีระ กสานติกุล (2002) พบว่า ผู้ที่ไม่สวมหมวก

นิรภัยมีโอกาสบาดเจ็บทางสมองสูงกว่าผู้ที่สวมหมวกนิรภัยถึง 6 เท่า

 

                       การศึกษาของ Deuterman (2004) พบว่า การสวมหมวกนิรภัยช่วยลดการตาย

จากอุบัติเหตุรถจักรยานยนต์ได้ร้อยละ 37

 

            ในประเทศไทยได้มีการประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาหมวกนิรภัยทั่วประเทศ ตั้งแต่ปี พ.. 2539 แต่ในสภาพความเป็นจริงพบว่า ผู้ขับขี่และผู้โดยสารรถจักรยานยนต์ยังมีการสวมหมวกนิรภัยอยู่ในเกณฑ์ที่ค่อนข้างต่ำมาก จากข้อมูลการสำรวจพฤติกรรมเสี่ยงโรคไม่ติดต่อและการบาดเจ็บของสำนักโรคไม่ติดต่อ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ปี พ.. 2550 พบว่า ผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์มีการสวมหมวกนิรภัย ร้อยละ 54.0 ส่วนผู้โดยสารมีการสวมหมวกนิรภัยเพียงร้อยละ 30.9 เท่านั้น

           

            ถึงแม้ปัจจุบันรัฐบาลจะให้ความสำคัญในการแก้ปัญหาอุบัติเหตุทางถนน โดยมีการประกาศนโยบายและกำหนดมาตรการต่างๆ หลายมาตรการ หรือแม้กระทั่งจะมีการประกาศขององค์การสหประชาชาติให้ปี ค.. 2011 – 2020 เป็นปีทศวรรษแห่งความปลอดภัยบนท้องถนน โดยตั้งเป้าหมายในการลดอัตราการตายจากอุบัติเหตุทางถนนให้ลดลงร้อยละ 50 โดยขอความร่วมมือจากประเทศสมาชิกทุกประเทศ ซึ่งหนึ่งในมาตรการหรือแนวทางหลักในการดำเนินงาน คือ การใช้หมวกนิรภัยกับรถจักรยานยนต์ก็ตาม ที่ผ่านมาหลายหน่วยงานทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ได้มีกิจกรรมรณรงค์ส่งเสริมการสวมหมวกนิรภัยบ้างเป็นบางช่วง บางสถานการณ์หรือลงลึกในบางพื้นที่ แต่ยังไม่มีการพบว่า เกิดเป็นกระแสสังคมไทยที่กว้างขวางและเห็นผลอย่างเป็นรูปธรรม

 

 

 

 

 

 

 

ที่มา : มูลนิธิเมาไม่ขับ

 

 

 

 

Update : 30-09-53

อัพเดทเนื้อหาโดย : สุนันทา สุขสุมิตร

Shares:
QR Code :
QR Code