สวนผัก ผู้คน ชุมชน บนพื้นที่รกร้าง

ที่มา : เว็บไซต์สวนผักคนเมือง


ภาพประกอบจากเว็บไซต์สวนผักคนเมือง


สวนผัก ผู้คน ชุมชน บนพื้นที่รกร้าง thaihealth


ทุกวันนี้ ยิ่งตั้งใจมอง ตั้งใจสังเกต ก็ยิ่งพบพื้นที่ที่ถูกซื้อทิ้งไว้ และกลายเป็นพื้นที่รกร้างอยู่มากมายในเมืองกรุง บางครั้งก็แอบคิดเล่นๆว่า ถ้าเปลี่ยนพื้นที่รกร้างเหล่านี้ให้กลายเป็นที่ปลูกผัก ผลไม้ทั้งหมด กรุงเทพอาจจะผลิตอาหารเลี้ยงตัวเองได้ โดยไม่ต้องเสียค่าขนส่งพืชผักผลไม้มาจากจังหวัดอื่น หรือประเทศอื่นไกลๆ ก็เป็นได้


อย่างไรก็ตาม ก็ต้องยอมรับว่า การปลูกผักจะปลูกผัก โดยเฉพาะบนพื้นที่รกร้าง ก็มีปัจจัยเงื่อนไขหลายประการและก็ไม่ใช่เรื่องง่ายนัก แต่ก็ใช่ว่าจะเป็นไปไม่ได้หากมีหลายฝ่ายร่วมมือกัน


ชุมชนเคหะทุ่งสองห้อง 327 เป็นหนึ่งในชุมชนที่มีพื้นที่รกร้าง และเป็นพื้นที่ที่มักมีปัญหาทั้งเรื่องไฟไหม้ และปัญหาเรื่องยาเสพติด เป็นแหล่งมัวสุมของวัยรุ่น โชคดีที่ทางสำนักงานเขตหลักสี่ตระหนักถึงความสำคัญของปัญหา และเข้ามาช่วยปรับเปลี่ยนสถานที่ โดยแปลงจากพื้นที่รกร้างให้กลายเป็นแปลงผักปลอดสารพิษ และให้ชุมชนได้ใช้พื้นที่ทำกิจกรรมนักสำรวจน้อยกับเด็กๆ ตั้งแต่ปี 2551 พร้อมกับช่วยประสานกับบริษัทไทยคาเนตะ จำกัดซึ่งเป็นเจ้าของที่ดิน เพื่อทำสัญญาขอใช้พื้นที่ และขออนุญาตใช้น้ำประปา โดยทางชุมชนจะเป็นผู้รับผิดชอบค่าน้ำเอง


ที่น่าชื่นชม และน่าประทับใจคือ แม้ว่าโครงการที่ทางเขตมาสนับสนุนจะสิ้นสุดไปนานแล้ว แต่สมาชิกที่มาช่วยกันทำแปลงผักยังคงอยู่ และยังคงทำต่อเนื่องเรื่อยมาจนกระทั่งมาร่วมรับทุนและพัฒนาโครงการร่วมกับโครงการสวนผักคนเมืองเมื่อปี 2556 ที่ผ่านมา


สวนผัก ผู้คน ชุมชน บนพื้นที่รกร้าง thaihealth


ภาพบรรยายกาศยามเย็นที่สมาชิกจากหลากอาชีพหลายชุมชนที่อยู่ใกล้เคียง มารวมตัวกัน รดน้ำ ดูแลพืชผักของแปลงตัวเอง ช่างดูเปี่ยมไปด้วยความสุข และมีชีวิตชีวาอย่างยิ่ง นับเป็นภาพที่หาดูได้ไม่ง่ายนักในเมืองใหญ่ โดยเฉพาะในชุมชนเมืองที่บ้านเรือนอยู่เรียงกันอย่างค่อนข้างแออัดเช่นนี้ เรียกว่าแทนที่จะต้องนั่งรถไปสวนสาธารณะ หรือไปฟิตเนสเพื่อออกกำลังกาย คนกลุ่มนี้ก็มาถือจอบถือเสียม รดน้ำ พรวนดิน ปลูกผักกันที่สวนผักบนพื้นที่รกร้างแห่งนี้ เป็นการออกกำลังกายไปในตัว แถมยังได้ผักปลอดภัยจากสารเคมีที่ปลูกเองกับมือไว้กินเอง แบ่งปันเพื่อนบ้าน บางคนก็ยังมีเหลือไปขาย เป็นรายได้เสริมได้อีกด้วย


สมาชิกสวนผักคนเมืองแห่งนี้ เขาแบ่งงานกันรับผิดชอบกันเป็นแปลงๆ ใครทำไหว ก็ได้พื้นที่ดูแลมากหน่อย ใครทำไม่ค่อยไหว ก็ได้พื้นที่น้อยหน่อย ใครอยากจะปลูกผักอะไรในแปลงของตัวเองก็สามารถทำได้ทั้งนั้น ได้ผลผลิตมาจะเก็บไว้กินเอง หรือจะแบ่งคนอื่น หรือจะขาย ก็สุดแท้แต่เจ้าของที่ดูแลแปลง โดยพวกเขาจะหารเฉลี่ยค่าน้ำกัน ส่วนวันไหนใครไม่ว่างมารดน้ำ เพื่อนคนอื่นๆก็จะช่วยรดน้ำแทนให้ เป็นการถ้อยทีถ้อยอาศัยกัน


คุณรัชนี ชนะแสวง หนึ่งในสมาชิกสวนผักแห่งนี้ เล่าให้ฟังว่า เมื่อก่อนคนที่มาช่วยกันทำนี่ก็ไม่ได้รู้จักกันนัก เพราะอยู่กันคนละชุมชน เคยเจอหน้ากันเฉยๆ แต่พอมาทำสวนผักด้วยกันก็สนิทสนมกันมากขึ้น มีอะไรก็ช่วยเหลือกัน หรือใครมีผลผลิตอะไรก็แบ่งปันกันกิน


สวนผัก ผู้คน ชุมชน บนพื้นที่รกร้าง thaihealth


ที่น่าสนใจอีกอย่างหนึ่งก็คือ การรู้จักเชื่อมโยงเรื่องการจัดการขยะในครัวเรือนกับแปลงผัก โดยทุกเย็น สมาชิกแต่ละคนก็จะถือถุงเศษผัก ผลไม้จากครัวที่บ้านติดไม้ติดมือมา เพื่อนำมาหมักเป็นปุ๋ยไว้ใช้ในแปลงตัวเองต่อไป


อาจกล่าวได้ว่า นอกจากประโยชน์ส่วนตัวจากการได้ออกกำลังกาย ได้อาหารปลอดภัยไว้กิน ได้รายได้เสริมจากการขายผัก รวมถึงได้ความภูมิใจ และความสุขใจที่ได้เห็นผลผลิตงอกงามแล้ว สวนผักแห่งนี้ยังเป็นพื้นที่ที่สานสัมพันธ์ เกิดเป็นมิตรภาพของผู้คนที่มาร่วมแรงร่วมใจกัน ที่สำคัญพวกเขายังได้ทำประโยชน์ให้กับคนส่วนรวม โดยทำให้พื้นที่รกร้างซึ่งเคยสร้างปัญหาให้ชุมชนหายไป และกลายเป็นพื้นที่สีเขียว มีอากาศดีๆให้คนในชุมชนได้หายใจกัน แถมยังมีส่วนช่วยจัดการขยะอินทรีย์ให้กับเมืองด้วย


หัวใจสำคัญแห่งความสำเร็จคือ “คนที่มาทำต้องรักและชอบทำเกษตร คนที่ชอบทำก็จะทำได้นาน แล้วก็พยายามที่จะศึกษา ค้นคว้า ปรับปรุงอยู่ตลอด ที่สำคัญคือต้องรวมกลุ่มกันทำ ทำคนเดียวไม่ค่อยยั่งยืน เราใช้วิธีแบ่งปันคนละแปลง 10 คน ก็ 10 แปลง ปลูกแล้วก็เอามาแบ่งกันกิน เวลาเจออุปสรรคก็ช่วยกันแก้ไข บางครั้งก็ต้องอดทน เช่นปัญหาจากการทำลายของศัตรูพืช สัตว์เลี้ยง หรือจากคนที่ไม่ได้ปลูกแต่มาเก็บกิน” คุณปฐมพงศ์ น้ำเพชร หนึ่งในสมาชิกสวนผักชุมชนเคหะทุ่งสองห้อง 327 กล่าว


สวนผัก ผู้คน ชุมชน บนพื้นที่รกร้าง thaihealth


เรื่องราวดีๆอย่างนี้ คงเกิดขึ้นไม่ได้ หากไม่ได้รับการสนับสนุนทั้งจากหน่วยงานภาครัฐอย่างสำนักงานเขตที่มาช่วยเริ่มปรับพื้นที่ และเจรจาทำสัญญาของใช้พื้นที่ให้  และก็คงเกิดขึ้นไม่ได้หากเจ้าของที่ดินไม่อนุญาตให้ใช้พื้นที่ ที่สำคัญคงเกิดขึ้นไม่ได้อย่างต่อเนื่องยาวนานขนาดนี้ หากขาดการร่วมแรงร่วมใจกันของสมาชิกทุกคน


คุณปฐมพงศ์ กล่าวทิ้งท้ายว่า  “ในเมืองมีที่รกร้างอยู่มาก อยากแนะนำให้ไปติดต่อกับเจ้าของที่ อาจจะประสานกับสำนักงานเขตให้รู้ว่าเป็นที่ของใคร แล้วจะขอปลูกผักได้หรือไม่ อยากให้ลองทำดู เพราะได้ประโยชน์มาก แล้วก็ช่วยพัฒนาจิตใจด้วย จาก 1 เมล็ดเล็กๆ จนเป็นต้น เป็นผักให้เรากิน หรือถ้าปลูกไม้กินผล ก็ต้องคอยเฝ้าดู จากเมล็ด เป็นต้น เป็นดอก เป็นผล มันสอนให้เรารู้จักธรรมชาติ รู้จักการรอคอย พอได้ผลผลิตก็ภูมิใจ เหมือนเราปลูก รดน้ำ ดูแลเขา เขาก็ตอบแทนให้ผลผลิตเรา


โครงการสวนผักคนเมืองก็ขอเป็นอีกแรงสนับสนุนหนึ่งที่ร่วมช่วยขับเคลื่อนการทำสวนผักในเมืองโดยเฉพาะบนพื้นที่รกร้าง ให้เดินหน้า เติบโต และงอกงามต่อไปนะคะ

Shares:
QR Code :
QR Code