สวนผักอินทรีย์ `ผู้สูงวัย` งานใหม่สังคมคนเมือง
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์
าพประกอบจากอินเทอร์เน็ตหนังสือพิมพ์เดลินิวส์
จุดกำเนิดธุรกิจเพื่อสังคมโซเชียลเอ็นเตอร์ไพรส์ (Social Enterprise : SE) ส่วนใหญ่มักเริ่มต้นจากปัญหา "PLANT:D" สวนผักอินทรีย์คนเมืองก็เช่นเดียวกัน ถือกำเนิดจากปัญหาที่ผู้ก่อตั้งมีความคิดว่า ผู้สูงอายุที่มีจำนวนมากขึ้นทุกวัน ประชากรผู้สูงอายุวัยเกษียณมีกว่า 8 แสนคน ที่ไม่มีรายได้ ขาดกิจกรรมทางกาย และไม่มีโอกาสได้เข้าสังคม ส่งผลกระทบต่อสุขภาพร่างกายและจิตใจ
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ส่งเสริมให้คนไทยบริโภคผักวันละ 400 กรัม เพื่อป้องกันโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง อาทิ ความดัน หัวใจ เบาหวาน มะเร็ง ขณะเดียวกันได้สนับสนุนเครือข่ายสร้างเครือข่ายเกษตรอินทรีย์ เกิดแรงกระเพื่อมให้เกษตรกรหันมาปลูกผักไม่ใช้สารเคมี ยาฆ่าแมลง ทำให้ผู้บริโภคมีผักอินทรีย์ราคาถูกบริโภคและเข้าถึงแหล่งได้ง่าย โดยเน้นให้ขายเองปลูกเองกินเองในชุมชน เพราะจากข้อมูลการบริโภคพบว่าผืชผักในกรุงเทพฯ 50% ที่จำหน่ายในกรุงเทพฯ มีการปนเปื้อนยาฆ่าแมลง
ธนัน รัตนโชติ ผู้ก่อตั้ง PLANT:D เล่าจุดเริ่มต้นโครงการนี้ให้ฟังว่า เริ่มจากเขาเองทำงานด้านการตลาดและเคยทำงานในบริษัทเคมีการเกษตร มีโอกาสไปลงพื้นที่พบว่า มีการใช้เคมีการเกษตรค่อนข้างสูง ขณะที่พืชผักปลอดภัยที่เป็นผักอินทรีย์ ก็มี ราคาจำหน่ายที่สูงเกินไป ไม่สามารถบริโภคในชีวิตประจำวันได้
อีกปัจจัยหนึ่งก็มองเรื่องสังคมผู้สูงอายุ จุดประกายความคิดเริ่มจากคนใกล้ตัว คือคุณพ่อคุณแม่ ซึ่งเกษียณงานแล้ว ทั้งคู่ คุณพ่อไม่ทำอะไรอยู่เฉย ๆ ไม่มีงานอดิเรกอะไร สุขภาพไม่ค่อยดี ในขณะที่คุณแม่ชอบปลูกต้นไม้ดูแลต้นไม้มีสุขภาพดีกว่า ด้วยการริเริ่มให้ผู้สูงวัยที่มีเวลาว่างอยู่บ้านได้สามารถทำฟาร์มผักอินทรีย์ขนาดเล็ก เพื่อตอบโจทย์การบริโภค และจัดจำหน่ายในรูปแบบสมาชิก ผ่านโครงการของ PLANT:D ซึ่งเป็นการออกแบบวิธีการทำสวนผักขนาดย่อม ในสังคมเมืองใหญ่อย่างกรุงเทพมหานคร และส่งจำหน่ายกันภายในเครือข่ายในรูปแบบสมาชิก
ธนัน บอกเล่า ให้ฟังว่า PLANT:D เป็นผู้จัดหาพัฒนาอุปกรณ์และระบบการบริการ สำหรับการปลูกผักอินทรีย์แบบสวนแนวตั้งใช้พื้นที่น้อย ซึ่งผู้สูงอายุที่เกษียณแล้ว ก็สามารถปลูกผักไว้บริโภคเองที่บ้าน และมีเหลือขายให้กับ PLANT:D ซึ่งสามารถสร้างรายได้ประมาณ 4,500 บาทต่อเดือน โครงการนี้ใช้ระบบกระจายการเพาะปลูกให้ผู้สูงอายุในกรุงเทพฯ ปลูกในบ้านของตัวเอง ฟาร์มขนาดเล็กและมีการพัฒนา แบ่งพื้นที่กรุงเทพฯ เป็นพื้นที่ย่อยแล้วสร้าง ขนาด 1 ตารางกิโลเมตร เพื่อความสดของผัก และลดต้นทุนการจัดส่งสินค้าทำให้ผู้บริโภคในกรุงเทพฯ ได้รับผักสดแบบวันต่อวัน ปลอดภัยด้วยระบบตรวจรับรองมาตรฐานอินทรีย์แบบเกษตรอินทรีย์แบบมีส่วนร่วม ในราคาที่ต่ำกว่าซื้อที่ซูเปอร์มาร์เกต ประมาณ 40%
ปัจจุบัน PLANT:D มีผลิตภัณฑ์ 3 ชนิดด้วยกัน เป็นผักอินทรีย์บรรจุถุงขนาด 200 กรัม คือ ผักสลัด ต้นอ่อนทานตะวัน และเห็ดนางฟ้าภูฏาน จำหน่ายในรูปแบบสมาชิกรายเดือน เดือนละ 450 บาท จะได้ผักอินทรีย์ 8 ถุง โดยลูกค้าจะได้รับผักอินทรีย์ 2 ถุงต่อสัปดาห์ สลับชนิดผักส่งให้ตลอด 4 สัปดาห์
ในทางปฏิบัตินั้น PLANT: D ได้แบ่งพื้นที่ 4 แห่งในกรุงเทพฯ และพัฒนาระบบไอทีเพื่อเปิดไป ยังพื้นที่ใหม่ ๆ โดยตั้งเป้าจะพัฒนาให้ได้ 500 พื้นที่ภายใน 5 ปี สู่เป้าหมายเพื่อสร้างงานจากบ้านให้ผู้สูงอายุในเมืองได้ 2 หมื่นคน คิดเป็นรายได้ต่อเดือนรวม 90 ล้านบาท
โดยการปลูกผักตามที่แนะนำแอพพลิเคชั่นผ่านมือถือซึ่งจะมีข้อมูล วิธีดูแล ระยะเวลาในการปลูก รวมถึงเป็นช่องทางในการติดต่อกับ PLANT:D ตลอดจนมีเมล็ดพันธุ์ ดินที่ใช้ซึ่งเป็นอินทรีย์ทั้งหมด โดยจะมีเจ้าหน้าที่คอยให้บริการ และนำสินค้าไปจำหน่ายให้กับผู้บริโภค
PLANT:D กำลังมองหาหุ้นส่วนและผู้สนับสนุน โดยเน้นไปยังผู้ที่กำลังดำเนินโครงการชุมชนผู้สูงอายุในปัจจุบัน และสนใจเพิ่มการทำงานสร้างงานอาชีพให้ผู้สูงอายุ หรือผู้ที่สนใจใช้พื้นที่ดาดฟ้าอาคาร หรือบริเวณอาคารสำนัก งานเพื่อสร้างการทำเกษตรในเมือง
อย่างไรก็ตาม เมื่อไม่นานมานี้ "PLANT:D" ได้รับเลือกเป็นหนึ่งในธุรกิจเพื่อสังคม เข้าร่วมงาน SET Social Impact Day 2017 : รวมพลังเพื่อความยั่งยืน ที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ร่วม กับภาคธุรกิจ ภาคสังคม จัดขึ้นเพื่อเปิดเวทีให้บริษัทจดทะเบียนพบผู้ประกอบการ
ทั้งนี้ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ยังมีข้อมูลรายละเอียดเกี่ยวกับ "PLANT:D" และกิจการเพื่อสังคมในด้านอื่น ๆ ครอบคลุมทั้งการพัฒนาชุมชน การศึกษา สิ่งแวดล้อม สุขภาพ และด้อยโอกาส บริษัทที่ต้องการเชื่อมโยงหาพันธมิตรแก้ไขปัญหาสังคม สามารถดูได้ที่ www.setsocialimpact.com หรือ เฟซบุ๊ก SET Social Impact