สวนผักซอกตึก วิถีชีวิตชาวแฟลตเอื้ออาทร
วิถีชีวิตของคนในหมู่บ้านเอื้ออาทร ในกรุงเทพมหานคร มีสภาพที่อยู่อาศัยไม่ต่างจากแฟลตการเคหะแห่งชาติทั่วไป ตึกหลายสิบหลังเรียงรายในพื้นที่จำกัด ประชาชนที่อาศัยอยู่ส่วนใหญ่ก็ล้วนมุ่งหาเลี้ยงปากท้องหาเช้ากินค่ำ ไม่มีเวลาพบปะเพื่อนบ้านข้างห้องหรือแม้แต่จะสนใจสภาพแวดล้อมที่ตนเองอยู่อาศัย
แต่ที่ชุมชนบ้านเอื้ออาทร เขตสายไหม กรุงเทพมหานคร พื้นที่ตามซอกตึกที่เคยว่างเปล่ากลับเขียวขจีไปด้วยพันธุ์ไม้ผล พืชผักสวนครัว จำพวกสะระแหน่ บัวบก ผักชีฝรั่ง กะเพรา ผักกาด โหรพา พริก มะเขือ เป็นต้น ซึ่งเกิดจากการรวมกลุ่มของคนในพื้นที่กว่า 20 คน เข้าร่วมโครงการสวนผักคนเมือง โดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส. สนับสนุนผ่านทางมูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน เพื่อลดรายจ่าย ประชาชนได้กินผักปลอดสาร เพิ่มคุณภาพชีวิตที่ดีแก่คนเมือง
คนอยู่ตึกก็ปลูกผักปลอดสารพิษกินเองได้
รัชต์สุพงศ์ ดวงแก้ว หัวหน้าโครงการสวนผักคนเมือง หมู่บ้านเอื้ออาทร สายไหมกล่าวว่า สวนผักของชาวเอื้ออาทร สายไหม เริ่มต้นจากการเข้าอบรมในโครงการสวนผักคนเมืองของมูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน โดยมี สสส. เป็นผู้ให้เงินสนับสนุน พร้อมกันนี้ได้ทำเรื่องขอพื้นที่รอบบ่อบำบัดน้ำเสีย และพื้นที่ว่างรอบตึกที่อยู่อาศัย กับทางการเคหะแห่งชาติ เมื่อได้รับอนุมัติพื้นที่ตรงกลางระหว่างอาคารและรั้วโครงการ ยกเว้นพื้นที่ใกล้ท่อระบายน้ำ ท่อประปา กลุ่มที่เข้าอบรมก็กลับมาจัดสรรพื้นที่หลังห้องของตนเป็นสวนผักนานาชนิดที่เก็บกินได้ง่ายและสะดวกทุกวัน เน้นใช้บริโภคในครัวเรือนประจำวัน อาทิ ผักไทย ผักฝรั่ง มะเขือ กะเพรา พริก เป็นต้น
“จุดเริ่มต้นที่การรวมตัวของคนในชุมชนที่เห็นพ้องต้องกัน ใครอยากจะปลูกผักก็มาแจ้งกับเราแล้วก็จะส่งไปอบรมโครงการสวนผักคนเมือง ซึ่งก็จะสอนตั้งแต่การเตรียมพื้นที่ เตรียมดิน ซื้อปุ๋ย หาพันธุ์ผัก รวมถึงการดูแลผักให้ปลอดจากแมลง เพื่อให้ได้ผักที่มีคุณประโยชน์ต่อร่างกายจริงๆ” รัชต์สุพงศ์กล่าว
เงื่อนไขการปลูกก็ไม่มีอะไร เพียงแค่ไม่ใช้สารเคมีหรือยาฆ่าแมลง เพราะอยู่ใกล้ที่อยู่อาศัย แล้วก็มาหาพื้นที่หลังห้องพักตัวเอง หรือพื้นที่ว่างๆ ริมรั้วของตึก ใครอยู่ชั้น 2 ชั้น 3 หรืออยู่สูงขึ้นไป หากจะปลูกก็มาแบ่งพื้นที่กัน
“ผมก็จะคอยดูแลให้ เพราะทุกคนก็มีสิทธิในพื้นที่ร่วมกัน คือปลูกได้หมด แต่ต้องเป็นพืชผักล้มลุก ห้ามปลูกต้นที่มีรากแก้ว เพราะจะไปดันท่อน้ำ” รัชต์สุพงศ์กล่าว
ปลูกผักได้คุณภาพชีวิตที่ดี จิตแจ่มใส
ด้าน ทัศนวรรณ์ นิมนอก สมาชิกบ้านเอื้ออาทร สายไหม อาคารที่ 32 ชั้น 1 บอกว่า เมื่อทราบว่ามีโครงการสวนผักคนเมืองให้ผู้ที่อาศัยอยู่ในชุมชนแห่งนี้ปลูกผักได้ ก็รีบสมัครเข้าร่วมโครงการและไปอบรม พร้อมกลับมาจัดสรรพื้นที่หลังห้องตัวเองปลูกผักสวนครัวที่ใช้ประกอบอาหารเป็นประจำ ทำให้ประหยัดค่าใช้จ่ายในครอบครัวหลายร้อยบาทต่อเดือน พร้อมแบ่งปันให้เพื่อนบ้านข้างห้องด้วย
“ปกติจะต้องไปขายของที่หน้าหมู่บ้านช่วงบ่ายๆ แล้วในช่วงเช้าเราก็ว่างก็เอาเวลานี้มาปลูกผัก ดูแลผัก เริ่มต้นก็ปลูกในกระถาง ทำแปลงผักยกพื้น นำยางรถเก่ามาตัดเป็นกระถางปลูกผัก ทั้งมะละกอ คะน้า ต้นหอม ผักกาด ผักบุ้ง ผักแพว แมงลัก ตะไคร้ บวบ มะเขือเทศ ปุ๋ยก็ใช้ปุ๋ยคอก น้ำยาชีวภาพรดแมลงก็ไม่ค่อยมี ทุกวันนี้ไม่ต้องซื้อผักเลยจะกินอะไรก็มาเก็บหลังห้อง เพื่อนบ้านมาขอก็แบ่งบันกัน การได้ดูแลผักทุกวันเวลาว่างก็ดีกว่านั่งดูทีวีอยู่แต่ในห้อง ทำให้สุขภาพดีได้ออกกำลังกายทำแปลงผัก สุขภาพใจก็ดีเพราะได้เห็นผักที่เราปลูกโตขึ้นทุกวัน กินผักปลอดสารพิษฝีมือเราเอง ก็ภูมิใจ แถมยังประหยัดค่าใช้จ่ายของครอบครัวลงไปได้เยอะ” ทัศนวรรณ์กล่าว
ผักปลอดสารพิษในครัวเรือน จุดเริ่มต้นสุขภาพกาย-ใจที่ดี
ส่วน วีรพงษ์ เกรียงสินยศ กรรมการบริหารสำนักสร้างสรรค์โอกาสและนวัตกรรม สสส. กล่าวว่า จุดเริ่มต้นของการดูแลสุขภาพที่ดีมีหลายอย่าง โดยเฉพาะอาหาร โดย สสส. ได้สนับสนุนทุนแก่มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืนในการจัดทำโครงการสวนผักคนเมือง เพื่อส่งเสริมให้คนเมืองที่มีข้อจำกัดเรื่องที่ดินมีการรวมกลุ่มและรู้จักการปลูกผักไว้บริโภคเองในครัวเรือน ถือเป็นกิจกรรมหนึ่งที่มีส่วนช่วยให้คนเมืองสามารถพึ่งตนเองด้านอาหารได้มากขึ้น
ที่สำคัญจากการศึกษาในหลายประเทศยังพบว่า การทำเกษตรในเมืองสามารถช่วยทำให้เกิดความมั่นคงทางอาหาร อีกทั้งยังมีส่วนช่วยแก้ปัญหาความยากจน ลดโลกร้อนและเสริมสร้างสุขภาพให้แข็งแรงสมบูรณ์ทั้งกายและใจ ที่สำคัญการปลูกผักยังเป็นกิจกรรมที่ช่วยสานสัมพันธ์อันดีให้เกิดขึ้นระหว่างชุมชนที่เป็นสังคมเมืองได้อีกด้วย
“สสส. มีหน้าที่สนับสนุนกิจกรรมที่ส่งเสริมสุขภาพ และโครงการนี้ก็เป็นเรื่องของอาหารการกินที่ง่าย เมื่อก่อนคนเมืองคนชนบทก็ปลูกผักกินเอง แต่มาปัจจุบันหวังพึ่งตลาด หรือรถพุ่มพวง ซึ่งถึงเวลาก็ไปซื้อมาทำอาหาร แต่ไม่รู้ที่มาว่าเขาปลูกอย่างไร ฉีดยาฆ่าแมลงอะไรบ้าง และบางฤดูก็มีราคาแพงมาก แต่การที่ชาวชุมชนได้มารวมกลุ่มกันปลูกผักกินเองในพื้นที่ว่างหลังห้องพักระหว่างซอกตึก ริมรั้วโครงการบ้านเอื้ออาทร ทำให้พวกเขามีการพบปะสังสรรค์กับคนในชุมชน และได้กินผักที่สะอาด ปลอดภัย ทำให้เกิดความสุขความภูมิใจที่เราทำเองได้ ปลูกผักกินเองได้ ไม่ต้องซื้อ และผลพลอยได้ที่ตามมาคือเกิดการรวมกลุ่ม ช่วยเหลือพึ่งพาอาศัยกันทำให้เกิดชุมชนเข้มแข็งและมีความยั่งยืนต่อไป” วีรพงษ์กล่าว
สวนผักตามซอกตึกแม้จะไม่ได้ใหญ่โต ที่จะซื้อขายแลกเปลี่ยนเป็นเงินทองได้ แต่ผลพลอยได้หลังผักเติบโตกลับใหญ่โตกว่าขนาดแปลงผักหลายพันเท่านัก นอกจากนำมาซึ่งสุขภาพกายใจของผู้ที่ได้ปลูกแล้ว ผักแปลงเล็กๆ นี้ยังเอื้อเฟื้อไปถึงเพื่อนข้างห้อง ตึกข้างๆ ได้พึ่งพาอาศัยกัน ความสัมพันธ์ที่ห่างเหินกลับมีผักเป็นตัวเชื่อมสายสัมพันธ์ที่แนบแน่นในสังคมของผู้มีรายได้น้อยมากด้วยน้ำใจ
ที่มา : หนังสือพิมพ์คมชัดลึก โดย ดลมนัส กาเจ