‘สวนผักคนเมือง’ แบ่งปันพื้นที่สร้างอาหารยั่งยืน
ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์
ภาพประกอบจาก สสส.
ความฝันของคนที่มาใช้ชีวิตในเมืองกรุง พบเจอความเร่งรีบ แข่งขัน เผชิญกับค่าครองชีพที่สูง ส่วนหนึ่งอยากจะลาออกจากงานแล้วกลับบ้านต่างจังหวัดไปทำสวนปลูกผักในพื้นที่เล็กๆ พร้อมกับใช้ชีวิตที่เรียบง่าย ไม่วุ่นวาย กินอาหารปรุงสุกตามธรรมชาติใช้สารเคมีน้อยที่สุด พบเจออากาศดีๆ หายใจได้เต็มปอด ไม่ใช่สูดดมฝุ่นพิษ บริโภคแต่อาหารสำเร็จรูป ฟาสต์ฟู้ดที่มีสารอันตรายต่อสุขภาพ
แต่ใช่ว่าคนเมืองจะไม่สามารถสร้างสิ่งแวดล้อมสร้างสุขให้เกิดขึ้นได้ ปัจจุบันมีหน่วยงานที่ร่วมสร้างให้คนเมืองเข้าถึงการบริโภคอาหารปลอดภัยจากผลผลิตในระบบเกษตรอินทรีย์ ทั้งตลาดสีเขียวและสนับสนุนคนเมืองหันมาปลูกผักในพื้นที่ของตน เหตุนี้มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน (ประเทศไทย) ภายใต้การสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง จัดกิจกรรม "เทศกาลสวนผักคนเมือง ครั้งที่ 5" ภายใต้แนวคิด Land Sharing: แบ่งปันพื้นที่ แบ่งปันอาหาร แบ่งปันชีวิต ณ สวนผักคนเมือง มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน (ประเทศไทย) จ.นนทบุรี เมื่อวันก่อน
ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สสส. กล่าวว่า เนื่องจากผู้บริโภคหาวัตถุดิบผักผลไม้ปลอดสารเคมีในท้องตลาดมาประกอบอาหารได้ยากมาก เทศกาลสวนผักคนเมืองจึงเกิดขึ้น มุ่งหวังสร้างต้นแบบให้ผู้บริโภคได้เข้าถึงระบบอาหารที่ปลอดภัย อุดมด้วยคุณค่าอาหารด้วยการเข้าถึงแหล่งจำหน่ายและเข้าสู่บทบาทการเป็นผู้ผลิตในการปลูกผักสวนครัวไว้กินเองจากองค์ความรู้ เทคนิค วิธีการต่าง ๆ ผ่านการถ่ายทอดประสบการณ์จากกิจกรรม Workshop จัดเวทีเสวนา เปิดพื้นที่เป็นศูนย์เรียนรู้เพื่อให้เห็นเป็นรูปธรรมที่ชัดเจนมากขึ้น
"ศูนย์เรียนรู้เพื่อความมั่นคงทางอาหารสวนผักคนเมือง มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืนฯ เป็นพื้นที่ที่เป็นต้นแบบของการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตคนเมืองสู่การเป็นมือใหม่หัดเพาะปลูกบนพื้นที่เล็ก ๆ ในบ้านพัก ดาดฟ้า หรือพื้นที่สาธารณะที่รกร้างให้กลายเป็นพื้นที่สีเขียวก่อให้เกิดผลผลิต รายได้ และระบบสิ่งแวดล้อมที่ดีในชุมชน
ด้าน สุภา ใยเมือง ผู้อำนวยการมูลนิธิเกษตร กรรมยั่งยืนฯ เล่าถึงที่มาของการจัดงานนี้ว่า ชูแนวคิด Land Sharing: แบ่งปันพื้นที่ แบ่งปันอาหาร แบ่งปันชีวิต เป็นความพยายามเปลี่ยนความคิดให้คนเมืองเห็นความสำคัญของการใช้พื้นที่ให้เกิดประโยชน์ ไม่ว่าจะมีเนื้อที่ขนาดกี่แปลง กี่ไร่ บนกระถางต้นไม้ หรือกระบะริมระเบียงก็สามารถผลิตอาหารปลอดภัยให้เกิดขึ้นได้ เช่น ปลูกใบกะเพรา เพาะเห็ด เพาะต้นอ่อนทานตะวัน เพราะอาหารและเกษตรเป็นเรื่องเดียวกัน หากผลิตอาหารที่มีต้นทางจากระบบเกษตรอินทรีย์ที่ปลอดสารเคมีจะทำให้เกิดผลผลิตที่ปลอดภัยต่อสุขภาพผู้บริโภค เชื่อมโยงให้ระบบนิเวศสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ไม่เสื่อมโทรมซึ่ง สสส.สนับสนุนทุน องค์ความรู้ พัฒนานวัตกรรม รวมถึงร่วมจัดอบรมให้ความรู้ขับเคลื่อนงานตั้งแต่ปี 2553
สำหรับมูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืนฯ ทำงานร่วมกับเกษตรกรรายย่อยทั้งในพื้นที่เขตเมืองและชนบท เพื่อส่งเสริมการใช้ระบบเกษตรอินทรีย์แทนการใช้สารเคมีเพื่อสร้างวัฒนธรรมอาหารปลอดภัยเกิดเป็นเครือข่ายศูนย์อบรม 7 แห่งในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล
"เราเน้นสร้างกลไกผ่านการให้ความรู้ เมื่อคนได้ลงมือทำเองจะเข้าใจว่าการปลูกผักไม่ได้แค่เพียงอาหาร แต่ได้ปลูกธรรมชาติไปด้วย" สุภาเผย
ตัวอย่างการเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจน สร้างแรงบันดาลใจคนเมือง เธอพูดถึงโรงเรียนเล็กโกเมศอนุสรณ์เปลี่ยนพื้นที่รกร้างจากการก่อสร้างเป็นพื้นที่สีเขียวผ่านการมีส่วนร่วมจากคุณครูและนักเรียน โครงการสวนผักลุงดิ๊ด ชุมชนหมู่บ้านนักกีฬาแหลมทองที่เกิดจากความฝันของคนในชุมชนที่อยากสร้างวิถีชุมชนให้กลายเป็นสวนผัก แล้วยังมีโครงการ Farm Friends ปันที่ รวมใจเกษตร ที่เกิดจากการพบพื้นที่รกร้างหลังที่พักอาศัย ส่งโครงการขอทุน โดยเปิดพื้นที่ของตัวเองและชวนผู้สนใจร่วมกันใช้พื้นที่ทำเกษตร เป็นต้น
สำหรับแนวทางการขับเคลื่อนงานในปีนี้ สุภาย้ำชัด นอกจากจะมุ่งสร้างการแบ่งปันพื้นที่แชร์ความรู้ร่วมกันแล้วยังเน้นขับเคลื่อนผ่านกลไกการสั่งซื้อสินค้า Pre Order จากผู้ผลิตเกษตรอินทรีย์ในเครือข่ายอย่างต่อเนื่อง
หนึ่งในภาคีเครือข่ายที่ร่วมให้ความรู้ใน โครงการ ไข่…ยิ้ม พอทิพย์ เพชรโปรี หรือ ป้าหน่อย หัวหน้าศูนย์เรียนรู้ออร์แกนิคเวย์ Organic Way เล่าว่า ไข่…ยิ้ม จะสร้างความยั่งยืนของอาหารให้ผู้บริโภคร่วมโครงการได้ร่วมเรียนรู้ขั้นตอนของระบบเกษตรการเลี้ยงไก่ไข่อินทรีย์ที่ไม่มีฮอร์โมนภายใต้การดูแลที่ถูกสุขลักษณะแบบกรงเปิด ให้ไก่นอนคอน ไม่มีการทรมานด้วยการตัดปลายปากไก่ จัดพื้นที่ปูพื้นด้วยแกลบให้ไก่นุ่มเท้าและจิกเป็นอาหาร มีของเล่นให้ไก่สามารถเกาะ มีบ่อทรายให้ไก่อาบน้ำเพื่อกำจัดไรในปีก ด้านหน้าโรงเลี้ยงไก่จะปลูกต้นไม้ให้ร่มเงา นอกจากนี้มีการพูดคุยกับไก่และเปิดเพลงให้ไก่ฟังเพื่อสร้างความสัมพันธ์และสร้างความสุข
ใครสนใจสไตล์นี้ ป้าหน่อยบอกว่า โครงการเปิดให้ลงทุนผ่านไก่ 1 ตัว ในราคา 2,000 บาท เพื่อรับไข่ไก่อินทรีย์สด ๆ จากฟาร์มจำนวน 210 ฟอง ตลอดระยะเวลาอายุของไก่เฉลี่ย 2 ปี นอกจากได้กินไข่ไก่อินทรีย์แล้ว ยังได้รู้ข้อมูลระบบเกษตรการเลี้ยงไก่ และเป็นพื้นที่แลกเปลี่ยนพูดคุยเชื่อมโยงสู่ความมั่นคงด้านอาหาร จะเน้นให้มารับไข่อินทรีย์เองจากฟาร์ม เพื่อได้มาเห็น เรียนรู้และมีปฏิสัมพันธ์กับไก่ของตัวเอง เริ่มโครงการเดือน ต.ค.2561 ปัจจุบันมีผู้ร่วมดูแลไก่จำนวน 40 ตัว ใครสนใจอย่ารอช้า เหลือโควตาเพียง 30 ตัว ติดต่อผ่านแฟนเพจโครงการไข่ยิ้ม
สวนผักอินทรีย์คนเมืองเป็นเครื่องมือหนึ่ง แต่การส่งเสริมอาหารปลอดภัย ต้องเริ่มตั้งแต่การเพาะปลูกอย่างหลากหลาย การเก็บเกี่ยวผลผลิต ช่องทางจัดจำหน่ายในตลาดไปสู่มือผู้บริโภค ถึงปลายทางมีระบบจัดการขยะเป็นศูนย์ หากดำเนินการครบเรียกได้ว่าเป็นการสร้างความมั่นคงทางอาหารให้เกิดขึ้นได้อย่างแท้จริง