สวท.ภาคใต้ ร่วมถกแก้ปัญหา วิกฤตการสูบบุหรี่ภาคใต้

ที่มา : เว็บไซต์มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่


ภาพประกอบจากเว็บไซต์มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่


สวท.ภาคใต้ ร่วมถกแก้ปัญหา วิกฤตการสูบบุหรี่ภาคใต้ thaihealth


เผยภาคใต้มีสถิติการสูบบุหรี่ และการได้รับควันบุหรี่มือสองสูงสุดของประเทศ และอัตราการสูบบุหรี่ลดลงน้อยที่สุด คือ ลดลงร้อยละ 13.1 โดยภาคเหนือมีอัตราการสูบบุหรี่ลดลงร้อยละ 43.3 ภาคอีสานร้อยละ 40.0 ภาคกลางร้อยละ 37 และค่าเฉลี่ยของอัตราการลดของประเทศอยู่ที่ร้อยละ 35.3


นายสัมพันธ์  มูซอดี  ผู้อำนวยการสำนักประชาสัมพันธ์เขต 6 สงขลา กล่าวว่า รู้สึกตกใจที่สถิติการสูบบุหรี่ของภาคใต้สูงเป็นอันดับหนึ่งของประเทศ บทบาทหน้าที่อีกประการหนึ่งของสำนักประชาสัมพันธ์ คือ การกำกับดูแลการปฏิบัติงานของสถานีวิทยุกระจายเสียงและสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทยในพื้นที่ และประสานความร่วมมือกับสื่อมวลชนเพื่อพัฒนาเครือข่ายการประชาสัมพันธ์ของรัฐในภูมิภาค  ดังนั้นสื่อมวลชนจึงเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการกระตุ้นให้คนภาคใต้ รับทราบข้อมูล สถานการณ์การสูบบุหรี่ และมีบทบาทอย่างมากในการช่วยกันสื่อสารรณรงค์เพื่อลดอัตราการสูบบุหรี่ของชายไทยภาคใต้ที่หนึ่งในสองยังสูบบุหรี่ รวมไปถึงกระตุ้นให้ประชาชนตระหนักถึงความสำคัญของการเลิกสูบบุหรี่ และร่วมปกป้องเด็ก ๆ ไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของการเสพติดบุหรี่


ศ.นพ.ประกิต  วาทีสาธกกิจ  เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ เปิดเผยข้อมูลการสำรวจเกี่ยวกับสถานการณ์การบริโภคยาสูบของคนไทย พบว่าในช่วง 24 ปีที่ผ่านมา (พ.ศ. 2534 – 2558) จำนวนผู้สูบบุหรี่ลดลงจาก 12.2 ล้านคน ในปี 2534 เป็น 10.9 ล้านคนในปี 2558  โดยอัตราสูบระดับประเทศในเพศชาย 39.9%  เพศหญิง 1.8% และภาคใต้เพศชายร้อยละ 49.6 เพศหญิงร้อยละ 1.2 การสำรวจในปี พ.ศ.2558 พบว่า ในภาคใต้ มีผู้สูบบุหรี่ 1.8 ล้านคน ซึ่งในจำนวนนี้เป็นเด็กอายุ 15-18 ปี 59,300 คน โดยตามสถิติแล้วผู้ที่ไม่สามารถเลิกสูบได้ ครึ่งหนึ่งจะเจ็บป่วยและเสียชีวิตก่อนเวลาด้วยโรคที่เกิดจากการสูบบุหรี่


ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ กล่าวเพิ่มเติมว่า มาตรการที่สำคัญในการทำให้การสูบบุหรี่ลดลง คือ การสกัดเด็กและเยาวชนไม่ให้เข้าสู่วงจรของการเสพติดบุหรี่ เพราะเมื่อเริ่มสูบและติดแล้ว มีเพียงร้อยละ 30 เท่านั้นที่สามารถเลิกได้ อีกร้อยละ 70 จะติดไปจนตลอดชีวิต ซึ่งทุกฝ่ายต้องร่วมกันปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ.2560 โดยมีสาระสำคัญ คือ มีมาตรการต่าง ๆ ที่จะทำให้เด็กเข้าถึงบุหรี่ยากขึ้น  เช่น การห้ามขายบุหรี่แก่เด็กอายุ  20 ปี การห้ามแบ่งซองขาย ห้ามโชว์ซองบุหรี่ที่ร้านขาย ห้ามขายบุหรี่ในสถานที่ต่าง ๆ ที่เยาวชนทำกิจกรรม ห้ามบริษัทบุหรี่โฆษณาและส่งเสริมการขายด้วยวิธีต่าง ๆ เป็นต้น ที่สำคัญหากมีการปฏิบัติตามกฎหมายห้ามสูบบุหรี่ในที่สาธารณะอย่างจริงจัง นอกจากจะคุ้มครองสุขภาพของผู้ไม่สูบบุหรี่แล้ว จะส่งผลให้เยาวชนเข้ามาเสพติดบุหรี่น้อยลงด้วย ดังนั้นสื่อมวลชนจึงมีบทบาทสำคัญในการเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับกฎหมายนี้ เพื่อลูกหลานของเราในอนาคต  ด้วยการนำข้อมูลไปเผยแพร่ให้แก่ประชาชนได้ตระหนักถึงอันตรายจากการสูบบุหรี่  เพื่อสร้างค่านิยมที่ไม่สูบบุหรี่ให้กว้างขวางยิ่งขึ้น รวมถึงปกป้องเด็กและเยาวชนคนรุ่นใหม่ไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของบุหรี่


การจัดสัมมนาในวันนี้มีผู้เข้าร่วมสัมมนาที่เป็นสื่อของสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย  สถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย และจากสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยเพื่อการศึกษา ในสังกัดสำนักประชาสัมพันธ์ เขต 5 และเขต 6 กรมประชาสัมพันธ์ โดยงานจัดวันที่ 19-20  มีนาคม 2561 ณ ห้องจันผา โรงแรมบุรีศรีภู อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา

Shares:
QR Code :
QR Code