สวทช.ผนึกกำลัง สสส.และหอสมุดมธ. ร่วมสร้างเครือข่ายพัฒนามาตรฐานสื่อดิจิทัลระดับชาติ
เพื่อสร้างพื้นที่ทางปัญญาบนโลกอินเทอร์เน็ต
ศูนย์บริการความรู้ทางวิทยาศาตร์และเทคโนโลยี (ศวท.) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ร่วมกับ แผนงาน ict เพื่อสุขภาวะออนไลน์และการสนับสนุนภาคีเครือข่าย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และสำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดงานสัมมนา “มาตรฐานสื่อดิจิทัลเพื่อการบริการยุคสังคมฐานความรู้” ณ ห้องประชุมประกอบ หุตะสิงห์ อาคารอเนกประสงค์ 1 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อให้ความรู้ด้านมาตรฐานแก่หน่วยงานผู้เผยแพร่เนื้อหาดิจิทัลและกำหนดทิศทางการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับมาตรฐานข้อมูลในลักษณะเครือข่ายเนื้อหาร่วมกันของประเทศไทย
ศ.ดร.สุรพล นิติไกรพจน์ อธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวถึงเป้าหมายในการส่งเสริมสนับสนุนการเผยแพร่และใช้งานเนื้อหาดิจิทัลให้เกิดประโยชน์สูงสุดว่า ขณะนี้ การพัฒนาคลังความรู้ และการจัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนความรู้ผ่านเครือข่ายสังคมล้วนต้องใช้เอกสารดิจิทัลรูปแบบต่างๆ แต่ปรากฎว่า การจัดเก็บของแต่ละหน่วยงานทำให้การเข้าถึงและการ สืบค้นสืบค้นประสบปัญหาต่างๆ มากมาย อาจเป็นเพราะการเลือกใช้ซอฟต์แวร์บริหารจัดการที่ไม่เหมาะสม รวมทั้งไม่มีการกำหนดรูปแบบและมาตรฐานข้อมูลในการจัดเก็บที่ดี เพื่อให้เกิดการเชื่อมต่อเนื้อหาระหว่างกัน ง่ายต่อการเข้าถึง และนำไปสู่ความยั่งยืนในการจัดเก็บและเผยแพร่เนื้อหาดิจิทัลที่เกิดประโยชน์อย่างแท้จริงต่อผู้ใช้ จึงจำเป็นต้องมีการกำหนดเรื่องมาตรฐานการจัดเก็บข้อมูล
ด้านดร.ทวีศักดิ์ กออนันตกูล รองผู้อำนวยการ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ได้กล่าวเสริมว่า ปัจจุบันสื่อดิจิทัลเข้ามามีบทบาทสำคัญในการเรียนการสอนมากขึ้นเรื่อยๆ แต่การดำเนินการเรื่องมาตรฐานสื่อในประเทศไทยยังมีน้อย เมื่อนักเรียนนักศึกษาค้นคว้าข้อมูลในอินเทอร์เน็ตจึงไม่ค่อยพบข้อมูลที่ตรงกับความต้องการ หากบรรณารักษ์และผู้ที่เกี่ยวข้องร่วมมือกันจัดทำมาตรฐานสื่อ จะทำให้การสืบค้นข้อมูลทางอินเตอร์เน็ตเป็นไปอย่างมีระบบ และมีความน่าเชื่อถือมากขึ้น
ศ.ดร.ไพรัช ธัชยพงษ์ ที่ปรึกษาอาวุโสสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่าเรากำลังอยู่ในยุคที่ฐานความรู้ต่างๆ ในสังคมปรับเปลี่ยนรูปแบบมาสู่การออนไลน์มากขึ้น จากรายงานพบว่ายอดการจำหน่ายหนังสือพิมพ์ในสหรัฐอเมริกาลดลงทุกปี โดยในปี 2008-2009 นั้นยอดการจำหน่ายลดลงไป 10 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่เมซอนดอทคอมยังได้ออกมาประกาศว่าช่วงเทศกาลคริสต์มาสที่ผ่านมาเป็นครั้งแรกที่ยอดการสั่งซื้อหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ (e-book) มีจำนวนมากกว่าการสั่งซื้อหนังสือเล่ม ดังนั้นสิ่งที่เราต้องการมากในขณะนี้ก็คือการร่วมมือกันรณรงค์ และพัฒนาการบริหารจัดการสื่อดิจิทัลอย่างเป็นระบบ โดยต้องหาข้อกำหนดมาตรฐานสื่อต่างๆ ร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นตัวอักษร ภาพนิ่ง เสียง หรือภาพเคลื่อนไหว เพื่อให้ได้ข้อมูลที่มีคุณภาพ สะดวกในการเข้าถึง และสามารถนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ศูนย์บริการความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจึงจัดทำ “ข้อกำหนดการพัฒนาสื่อดิจิทัลที่มีคุณภาพ” เพื่อเป็นจุดตั้งต้นสำหรับผู้ที่ต้องการกำหนดแนวทางหรือมาตรฐานการพัฒนาสื่อดิจิทัล
คุณชิตพงษ์ กิตตินราดร ผู้จัดการโครงการเครือข่ายห้องสมุดดิจิทัลแห่งประเทศไทย แผนงาน ict เพื่อสุขภาวะออนไลน์และการสนันสนุนภาคีเครือข่าย สสส. กล่าวว่า จุดประสงค์ของโครงการเครือข่ายห้องสมุดดิจิทัลประเทศไทยคือสนับสนุนการผลิต การเผยแพร่ และการเข้าถึงสื่อออนไลน์ที่มีประโยชน์ เพื่อสร้างพื้นที่ทางปัญญาให้แก่ทุกกลุ่มเป้าหมาย ทั้งผู้พิการ เยาวชน นักวิจัย ฯ โดยทางแผนงาน ict ได้ทดลองสร้างเว็บไซต์ www.dlib.in.th พื่อพัฒนาให้เป็นระบบห้องสมุดดิจิทัลกลางที่สามารถค้นหาสารสนเทศที่ต้องการจากสารสนเทศเครือข่ายทั้งหมดได้จากจุดเดียว ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวมีแนวทางการดำเนินงานในรูปแบบของความร่วมมือจากหลากหลายหน่วยงาน โดยในเบื้องต้นได้ร่วมมือกับหอสมุดแห่งชาติ หอจดหมายเหตุแห่งชาติ สถาบันทักษิณคดีศึกษา มูลนิธิสารานุกรมไทย ศูนย์ศึกษาและฟื้นฟูภาษาและวัฒนธรรมในภาวะวิกฤติ มหาวิทยาลัยมหิดล สวรส. มูลนิธิหมอชาวบ้าน และสวทช. เพื่อพัฒนาให้เกิดระบบห้องสมุดดิจิทัลที่ได้มาตรฐาน และจะขยายความร่วมมือไปยังหน่วยงานอื่นๆ โดยมีเป้าหมายในการจัดตั้งมูลนิธิเพื่อการบริการสื่อดิจิทัลสาธารณะในอนาคต
ที่มา : สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)
update: 28-01-53
อัพเดทเนื้อหาโดย: ภราดร เดชสาร