สละโสดปีเสือ อย่าเป็นเหยื่อน้ำเมา ชวนคนรุ่นใหม่ ดื่มไม่ขับ กลับบ้านเจอคนรักปลอดภัย
ที่มา : สำนักข่าวสร้างสุข
ภาพประกอบจาก สสส.
สสส. – สถาบันยุวทัศน์ฯ เผย พบคดีเมาแล้วขับสูง 3,730 คดี จัดกิจกรรมวันแห่งความรัก 2565 สละโสดปีเสือ อย่าเป็นเหยื่อน้ำเมา ชวน คนรุ่นใหม่ ดื่มไม่ขับ กลับบ้านเจอคนรักปลอดภัย
เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2565 ที่ศูนย์การค้าเกทเวย์ เอกมัย สถาบันยุวทัศน์แห่งประเทศไทย (ยท.) ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดกิจกรรม “สละโสดปีเสือ อย่าเป็นเหยื่อน้ำเมา” เนื่องในเทศกาลวันแห่งความรัก ประจำปี 2565 รณรงค์สร้างการรับรู้ชวนคนรุ่นใหม่ ดื่มไม่ขับ กลับบ้านไปเจอคนที่เรารักปลอดภัย เพื่อสุขภาวะที่ดีรอบด้าน
นางสาวรุ่งอรุณ ลิ้มฬหะภัณ รักษาการผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงหลัก สสส. กล่าวว่า การสำรวจพฤติกรรมสูบบุหรี่และดื่มสุราของประชากรไทย ปี 2564 ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า อัตราการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในกลุ่มเยาวชน อายุ 15 – 24 ปี ตั้งแต่ปี 2547 – 2564 พบอัตราการดื่มที่เปลี่ยนแปลงทั้งเพิ่มขึ้นและลดลง โดยปี 2547 – 2558 พบการดื่มมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นร้อยละ 23.5 – 29.5 และในปี 2564 ลดลงเหลือร้อยละ 20.9 หรือคิดเป็นประมาณ 1.9 ล้านคน และพบข้อมูลว่า การดื่มแล้วขับ ร้อยละ 33.06 ทำให้เกิดอุบัติเหตุบนถนน ขณะที่ร้อยละ 25.09 พบการดื่มแล้วขับส่งผลกระทบอย่างหนักคือ ทำให้ผู้ขับขี่และผู้ที่อยู่ในยานพาหนะได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต สถานการณ์ที่เกิดขึ้นส่งผลกระทบต่อสังคม 2 ด้าน ได้แก่ 1. มิติสุขภาพกาย เช่น ทุพพลภาพ ได้รับบาดเจ็บขั้นรุนแรง ได้รับบาดเจ็บเล็กน้อยแต่ไม่สามารถไปประกอบอาชีพได้ หรือเลวร้ายที่สุดคือการเสียชีวิต และ 2. มิติทางสุขภาพใจ เช่น เกิดความรู้สึกสูญเสียบุคคลสำคัญของครอบครัวในช่วงเทศกาลสำคัญ
“สสส. เชิญชวนคนรุ่นใหม่ทุกคนร่วมกันมีพฤติกรรมความปลอดภัยทางถนนด้วยการ “ดื่มไม่ขับ” โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลเฉลิมฉลองวันแห่งความรัก ที่คู่รักหนุ่มสาวชวนกันไปนั่งรับประทานอาหาร และมีการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ร่วมด้วย อยากให้คู่รักทั้งสองฝ่ายต่างแสดงความห่วงใยซึ่งกันและกัน ผ่านการเตือนกันและกันด้วยความห่วงใย และต้องร่วมกันดื่มไม่ขับ” นางสาวรุ่งอรุณ กล่าว
นายพชรพรรษ์ ประจวบลาภ เลขาธิการสถาบันยุวทัศน์แห่งประเทศไทย (ยท.) กล่าวว่า กิจกรรมสละโสดปีเสือ อย่าเป็นเหยื่อน้ำเมา จัดขึ้นในช่วงเทศกาลวันแห่งความรัก ปี 2565 เนื่องจากเห็นความสำคัญของการแก้ปัญหาการดื่มแล้วขับในกลุ่มเด็กและเยาวชน เพราะเป็นกลุ่มเป้าหมายสำคัญของการแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุทางถนนอย่างยั่งยืน หากมีกิจกรรมสร้างการรับรู้ลักษณะนี้บ่อยครั้งจะเป็นเครื่องมือย้ำเตือนให้คนรุ่นใหม่ในสังคมตระหนักว่าการดื่มแล้วขับเป็นอันตราย ซึ่งจะส่งผลที่ดีในอนาคตเพราะจะช่วยลดปัญหาต่าง ๆ จากข้อมูลกรมคุมประพฤติ กระทรวงยุติธรรม ระบุว่า ช่วง 7 วันอันตรายเทศกาลปีใหม่ ปี 2565 พบคดีเมาแล้วขับของคนไทยสูงถึง 3,730 คดี ประกอบกับในช่วงระหว่างปี 2563 – 2564 สถาบันยุวทัศน์แห่งประเทศไทย (ยท.) พบข้อมูลข่าวทางสื่อสังคมออนไลน์ (Monitor) ประเด็นความสูญเสียสามี ภรรยา หรือบุคคลสำคัญในครอบครัวจากเหตุการณ์เมาแล้วขับอย่างน้อย 30 ข่าว สะท้อนความสูญเสียอย่างหนักที่ประเมินมูลค่าความเสียหายไม่ได้ จึงอยากย้ำเตือนคนรุ่นใหม่ให้นึกถึงผลกระทบจากการเมาแล้วขับ