สร้าง 5 สุข เตรียมพร้อมกายใจก้าวสู่วัยเกษียณ

ที่มา : สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์


สร้าง 5 สุข เตรียมพร้อมกายใจก้าวสู่วัยเกษียณ thaihealth


แฟ้มภาพ


ผอ.จิตเวชนครพนมแนะ สร้าง 5 สุข เตรียมพร้อมกายใจก้าวสู่วัยเกษียณอย่างมีคุณภาพและมีความสุข


นายแพทย์มงคล ศิริเทพทวี ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจิตเวชนครพนมราชนครินทร์ เปิดเผยว่า จากสถานการณ์ประชากรผู้สูงอายุในประเทศไทยที่คาดว่าจะเป็นสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ในปี2564 และที่น่าเป็นห่วงคือยังมีประชากรก่อนวัยสูงอายุกว่าร้อยละ 30 ยังไม่ได้มีการเตรียมความพร้อมเพื่อเป็นผู้สูงอายุที่มีคุณภาพและมีความสุข โดยเฉพาะเกี่ยวกับสุขภาพซึ่งผู้สูงอายุถือเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดโรคต่าง ๆ เพราะความเสื่อมตามธรรมชาติของร่างกายและโรคประจำตัวเรื้อรังที่ต้องได้รับการดูแลแตกต่างจากผู้ป่วยทั่วไป ประกอบกับช่วงนี้ที่ใกล้ครบกำหนดเกษียณอายุราชการที่ถือเป็นการเปลี่ยนผ่านของหลาย ๆ ท่านในการก้าวเข้าสู่ชีวิตผู้สูงวัย กรมสุขภาพจิตจึงอยากแนะนำการเตรียมความพร้อมในการสร้างสุข 5 ประการให้กับตนเองเพื่อเตรียมความพร้อมทั้งกายและใจ


โดยสุขที่ว่าประกอบด้วย สุขสบาย คือ การเตรียมพร้อมสำหรับสุขภาพร่างกายที่ทุกท่านต้องหมั่นดูแลตรวจสุขภาพตัวเองอย่างสม่ำเสมอ ระมัดระวังเรื่องการรับประทานอาหารเพราะระบบการย่อยอาหารของผู้สูงวัยจะเสื่อมประสิทธิภาพลงทำให้เกิดปัญหาต่าง ๆ ตามมา เช่น เกิดโรคภัยไข้เจ็บหรือทำให้ระบบร่างกายทำงานผิดปกติได้ ที่สำคัญคือหมั่นออกกำลังกายซึ่งก็ต้องให้สมกับวัยด้วย สุขต่อมาคือสุขสนุก คือต้องเตรียมหางานอดิเรกไว้ทำในวัยเกษียณซึ่งในสุขนี้จะทำให้เป็นคนที่มีอารมณ์ดี มีจิตใจที่สดชื่นแจ่มใส กระฉับกระเฉงและมีชีวิตชีวา ต่อไปคือสุขสง่า สุขนี้ผู้สูงอายุต้องรู้จักหาวิธีมาสร้างกำลังใจให้ตนเองเพื่อก่อให้เกิดความภาคภูมิใจและความสุข ด้วยเป็นวัยที่จะต้องอยู่กับตนเองมากขึ้น หากรู้สึกว่ามีความโดดเดี่ยวมีความเหงาก็ให้ออกไปทำกิจกรรมจิตอาสาต่าง ๆ รวมถึงการนำประสบการณ์ชีวิตที่ผ่านมาไปแนะนำให้คำปรึกษาแก่บุตรหลานหรือบุคคลอื่น ๆ ก็จะเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่จะเข้ามาเติมเต็มความสุขนี้ได้ ต่อมาคือ สุขสว่าง ก็จะเป็นสุขที่เกี่ยวกับความคิดความจำที่ผู้สูงวัยทุกคนต้องฝึกกระบวนการคิดการจำ และเปิดรับการเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ อยู่เสมอเพื่อให้สมองได้ทำงาน เพราะในวัยนี้จะเกิดการหลงลืมได้ง่ายเนื่องจากสมองเสื่อม และสุขสุดท้าย สุขสงบ คือจะต้องมีความเข้าใจและสามารถควบคุมอารมณ์ความรู้สึกของตนเองได้อย่างมีประสิทธิภาพกับสภาวะต่างๆที่เกิดขึ้นตามความเป็นจริง ซึ่งในสุขนี้ผู้สูงวัยต้องมีการฝึกให้ตัวเองเป็นคนคิดบวก หาวิธีผ่อนคลายความเครียดมีสติมีสมาธิอยู่กับตนเอง ซึ่งถ้าทุกท่านสามารถปฏิบัติได้ทั้ง 5 ประการจะเป็นการก้าวเข้าสู่วัยเกษียณและวัยผู้สูงอายุที่มีคุณภาพและความสุขอย่างแน่นอน

Shares:
QR Code :
QR Code