สร้าง ‘วินัย-ความปลอดภัย’ เสริมคุณภาพตลาดแรงงาน
ที่มา : หนังสือพิมพ์มติชน
แฟ้มภาพ
ในการทำงานของสถานประกอบการนอกจากทักษะฝีมือแรงงานที่เป็นสิ่งสำคัญแล้ว สิ่งที่ต้องให้น้ำหนัก เน้นความสำคัญ คือเรื่องวินัยและความปลอดภัยในการทำงาน หากขาดซึ่งทักษะดังกล่าวจะทำให้เกิดความสูญเสียทั้งในแง่ความคุ้มทุนของผู้ประกอบการและการสูญเสียทรัพย์สินและสุขภาพของลูกจ้าง
กรมพัฒนาฝีมือแรงงานจึงร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และสมาคมนายจ้างผู้ประกอบการพัฒนาทรัพยากรบุคคล จัดทำ "โครงการเสริมสร้างวินัยที่ส่งผลต่อสุขภาวะ ความปลอดภัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน"
เพื่อพัฒนาฝีมือแรงงานให้เตรียมพร้อมก่อนเข้าสู่ตลาดแรงงาน จึงได้จัดฝึกอบรมการเสริมสร้างวินัยและความปลอดภัยให้แก่เยาวชนนอกระบบการศึกษาที่เข้ารับการฝึกหลักสูตรก่อนเข้าทำงาน จำนวน 1,240 คน ใน 12 จังหวัด คือ นครสวรรค์ พิษณุโลก สระแก้ว สุราษฎร์ธานี ตรัง สตูล นครราชสีมา ขอนแก่น อุดรธานี อุบลราชธานี เชียงใหม่ และเชียงราย
ธีรพล ขุนเมือง อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กล่าวว่า กรมพัฒนาฝีมือแรงงานมีนโยบายชัดเจนเรื่องการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ โดยเฉพาะในปี 2560 ทางกรมมีแนวทางการพัฒนาที่ชัดเจน เน้นการเพิ่มคุณภาพฝีมือแรงงานสู่ไทยแลนด์ 4.0 และเน้นการสร้างเครือข่าย ใช้พื้นที่และดึงความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในวิถีประชารัฐ การฝึกอบรมในโครงการเน้นการพัฒนาทักษะชีวิตและวินัยการทำงานโดยใช้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นแบบอย่าง เช่นมีการจัดทำบัญชีในครัวเรือน
นอกจากนี้ยังมีการจัดฝึกอบรมวิทยากรต้นแบบประจำศูนย์ของกรมพัฒนาฝีมือแรงงานทั้งสิ้น 110 คน ให้มีความรู้ความเข้าใจเพื่อเข้าสู่การอบรมในระบบปกติ ซึ่งจะส่งผลให้เกิดความยั่งยืน
"การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ หากพัฒนาเรื่องทักษะฝีมืออย่างเดียวไม่พอ ทาง สสส.และสมาคมนายจ้างจึงได้เข้ามาช่วยเพิ่มเติมเรื่องทักษะชีวิตขึ้นมาเพื่อนำไปใช้เวลาทำงานจริงเมื่อเข้าสู่ตลาดแรงงาน ทั้งเรื่องวินัยและความปลอดภัยซึ่งเป็นสิ่งสำคัญในการทำงานเพื่อป้องกันความสูญเสีย โครงการนี้จึงเป็นการเติมเต็มการทำงานและเป็นประโยชน์ต่อเยาวชนให้เป็นกำลังแรงงานที่มีคุณภาพ"
ธีรพลกล่าวว่า หลังจากนี้ทางกรมพัฒนาฝีมือแรงงานตั้งเป้าหมายว่าจะขยายจังหวัดที่ร่วมโครงการเพิ่มเติม เพราะมองว่าสิ่งที่ได้รับจากโครงการนั้นเป็นประโยชน์กับเยาวชนที่จะเป็นแรงงานที่มีคุณภาพในอนาคต แน่นอนว่าโครงการนี้มีผู้ที่เข้ามาให้ความร่วมมือจนดำเนินไปได้ด้วยดี
เพ็ญพรรณ จิตตะเสนีย์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชนและครอบครัว สสส. ยืนยันว่าทาง สสส. นั้นให้ความสำคัญกับการส่งเสริมสุขภาพเป็นสำคัญอยู่แล้ว ซึ่งก็คือการป้องกันก่อนมีอันตราย เน้นการป้องกันด้านสุขภาพก่อนที่จะต้องไปโรงพยาบาล เป็นทั้งความคุ้มทุนและคุ้มค่ากว่าที่จะไปแก้เมื่อถึงเวลาต้องรักษาแล้ว
"การทำงานในสถานประกอบการต้องมีทั้งวินัยและความปลอดภัยเป็นสำคัญเพื่อลดความเสียหายทางธุรกิจและสร้างสุขภาวะที่ดีแก่คนทำงาน กลุ่มเป้าหมายใหญ่ของ สสส. คือคนไทยทุกคน แต่น้องๆ ที่เข้าร่วมโครงการเป็น กลุ่มเป้าหมายของกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน เป็นเยาวชนที่ขาดโอกาสทางการศึกษา จึงได้มาร่วมมือกันทำโครงการเป็นกิจกรรมในรูปแบบค่ายให้เยาวชนได้ฝึกปฏิบัติ มีการฝึกวินัยที่ส่งผลต่อสุขภาวะความปลอดภัยและสภาพแวดล้อมในการทำงานซึ่งส่งผลต่อโอกาสการทำงานและความสุขในการประกอบอาชีพ
"ที่ผ่านมากรมพัฒนาฝีมือแรงงานมีการอบรมทักษะอาชีพอยู่แล้ว เมื่อมีการเพิ่มเรื่องวินัยและความปลอดภัยซึ่งถือเป็นทักษะชีวิต น้องกลุ่มเป้าหมายนี้จะมีคุณค่าเพิ่มในการทำงาน โครงการนี้แม้มีระยะสั้น 16 เดือน กลุ่มเป้าหมายไม่กว้าง แต่คิดว่าน้องกลุ่มนี้จะเป็นพลังสำคัญของคนที่เข้าไปทำงานในสถานประกอบการ โดยมีกระบวนการติดตามความพึงพอใจของสถานประกอบการที่รับเยาวชนในโครงการเข้าทำงาน"
เพ็ญพรรณ บอกอีกว่า ทาง สสส.เห็นประโยชน์จากโครงการ มุ่งหวังถึงความยั่งยืนในระบบตลาดแรงงาน โดยคาดหวังถึงโอกาสที่จะได้ร่วมกันจัดหลักสูตรความรู้เพื่อความยั่งยืนของระบบต่อไป
อีกองค์กรที่ยื่นมือเข้ามาร่วมกันทำงาน วิชัย ศิรินคร ประธานสมาคมนายจ้างผู้ประกอบการพัฒนาทรัพยากรบุคคล กล่าวว่า แรงงานถือเป็นต้นทุนที่สำคัญ นายจ้างคาดหวังแรงงานมีประสิทธิภาพทั้งร่างกายและจิตใจพร้อมที่จะทำงาน เป็นคนดี มุ่งมั่นในการพัฒนาตนเองโดยเฉพาะการมีวินัย
"ที่ผ่านมามักมีนายจ้างพูดเสมอว่าลูกจ้างยังขาดวินัยหลากหลายเรื่อง ทั้งการหยุดงานโดยไม่แจ้งล่วงหน้า ไม่ตรงต่อเวลา ไม่สวมใส่อุปกรณ์ความปลอดภัย ไม่ปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับ อยากสะท้อนถึงพฤติกรรมของแรงงานที่นายจ้างคาดหวังคือ มีพฤติกรรมเชิงบวกในสังคม เช่น ความซื่อสัตย์ รับผิดชอบ มีวินัย ขยัน อดทน รวมถึงมีพฤติกรรมที่ดีต่อการทำงาน เช่น คำนึงถึงความปลอดภัยในการทำงาน ใช้เครื่องมืออย่างถูกต้องเหมาะสม ทำงานอย่างมีขั้นตอน ประณีต ใช้เวลาการทำงานที่เหมาะสม
"โครงการนี้เป็นการสร้างวินัยในการทำงานให้แก่แรงงานที่นายจ้างและสถานประกอบการต้องการ ทรัพยากรบุคคลเป็นเรื่องสำคัญ การทำธุรกิจทำให้เห็นภาพนายจ้างกับลูกจ้างทะเลาะกันมามากมาย จึงอยากสนับสนุนการทำงานของกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ผมมีหลักการเริ่มต้นพัฒนาบุคคลด้วยหลัก 4 ค. คือ คุณสมบัติ คุณภาพ คุณค่า และคุณธรรม ภารกิจของเราต้องทำให้คนเป็นคนดี แม้ในสถานประกอบการจะมีผู้คนมากมายร้อยแปด แต่หาก ทำให้ดีได้ส่วนหนึ่งก็นับเป็นสิ่งสำคัญ" วิชัยกล่าว
เป็นอีกหนึ่งจุดเริ่มต้นในการพัฒนาฝีมือแรงงานให้มีคุณภาพยิ่งขึ้น นอกจากทักษะอาชีพแล้ว ทักษะชีวิตเรื่องวินัยและความปลอดภัยก็จะช่วยเสริมสร้างให้เกิดความพึงพอใจทั้งจากนายจ้างและลูกจ้างเอง
หากมีการพัฒนาหลักสูตรเรียนรู้จนเห็นผลจริงในสถานประกอบการ น่าจะช่วยสร้างคุณภาพในระบบตลาดแรงงานไทยได้อย่างยั่งยืน