สร้าง ม.ชีวิตเปลี่ยนประเทศไทย ชูนักศึกษาเรียนรู้วัฒนธรรมท้องถิ่น
“ประเวศ” ชี้เปลี่ยนแปลงประเทศไทย ต้องสร้างมหาวิทยาลัยชีวิต ให้นักศึกษาเรียนรู้วัฒนธรรมท้องถิ่น ติงการศึกษาติดจัดมา 100 ปี ปฏิรูปไม่สำเร็จ เหตุไม่ได้ปฏิรูปแนวคิดการศึกษาไทยเอาวิชาเป็นตัวตั้ง แต่ไม่ได้เอาชีวิตเป็นตัวตั้ง
เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ (มรอ) ศ.นพ.ประเวศ วะสี ประธานสมัชชาปฏิรูปประเทศไทย ปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “มหาวิทยาลัย..พลังแก้วิกฤติชาติ” ภายในงาน “อุตรดิตถ์โมเดลสู่การพัฒนาท่าเหนือเมืองน่าอยู่ 1 มหาวิทยาลัย 1 จังหวัด” จัดโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ตอนหนึ่งว่า
“มหาวิทยาลัยคือขุมทรัพย์ทางปัญญาที่จะทำให้ชาติพ้นวิกฤติ การเปลี่ยนแปลงประเทศไทย ต้องเรียนรู้วัฒนธรรมการเรียนรู้ท้องถิ่นต่างๆ ผู้คน ท้องถิ่นต้องเข้ามามีส่วนร่วม สถาบันการศึกษา ทำงานร่วมกับทุกคนในพื้นที่ และใช้เครื่องมือในการเรียนรู้ร่วมกันในการปฏิบัติ การเรียนรู้รูปแบบใหม่ ต้องเป็นมหาวิทยาลัยชีวิต” หมอประเวศ กล่าว
ประธานสมัชชาปฏิรูปประเทศไทย กล่าวต่อว่า การศึกษาที่ติดจัดมา 100 ปี และพยายามปฏิรูป แต่ไม่สำเร็จ เพราะไม่ได้ปฏิรูปแนวคิด เอาวิชาเป็นตัวตั้ง ไม่ได้เอาชีวิตเป็นตัวตั้ง แผ่นดินจึงอ่อนแอ ความขัดแย้งที่เกิดขึ้น ส่วนหนึ่งเกิดจากวัฒนธรรม วิถีชีวิตของชุมชนที่หลากหลายมหาวิทยาลัยต้องเข้ามาช่วยสร้างสันติระหว่างคนกับคน และคนกับสิ่งแวดล้อม อยากให้ทุกคนมาเรียนรู้ร่วมกับชุมชนและชุมชนควนสนับสนุนชุมชนท้องถิ่นในเชิงนโยบายและความรู้ จะลดปัญหาคอรัปชันได้
“ตอนนี้มีนักศึกษาเป็นแสนคน มีหมู่บ้านประมาณ 89 หมื่นแห่ง การจะทำให้สร้างนักศึกษามีความรู้และปัญญา ต้องให้ได้เรียนรู้จากตำรา และบุคคล วิถีชีวิต ประสบการณ์ จะทำให้นักศึกษาได้ปัญญา การสร้าง 1 มหาวิทยาลัย 1 จังหวัด ให้เกิดขึ้นต้องปรับแนวคิดให้เป็นรูปแบบ พื้นที่เป็นตั้วตั้ง มหาวิทยาลัยทำงานร่วมกับจังหวัด และมี สสส.เข้ามาสนับสนุน ทำให้เป็นพื้นที่ปัญญา และพื้นที่สังคม” ศ.นพ.ประเวศ กล่าว
รศ.นพ.กำจร ตติยกวี รองเลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) กล่าวว่า 1 มหาวิทยาลัย 1 จังหวัด มีภารกิจในการจัดองค์ความรู้ ศูนย์ความรู้ในมหาวิทยาลัย สร้างนักวิชาการรับใช้สังคม งานวิชาการต้องสามารถช่วยเหลือพัฒนาสังคม การดำเนินงานผลักดันให้งานวิจัยสามารถขอตำแหน่งทางวิชาการได้
ด้าน นายศรายุทธ์ ทิอ่อน นายกองค์กรการบริหารส่วนตำบล (อบต.) ขุนฝาง จ.อุตรดิตถ์ กล่าวว่า ที่ผ่านมาหลายคนจะมองว่าการทำงานขององค์กรต่างๆ ในชุมชนนั้นจะมีการทุจริต แต่จากประสบการณ์ที่ตนทำงานร่วมกับชุมชน ไม่พบว่ามีกรณีดังกล่าว เพราะทำงานด้วยการไว้ใจกัน และมีการทำงานร่วมกันฝ่ายจึงทำให้มีระบบการตรวจสอบกันด้วย อยากให้ส่วนกลางมีการนำวัฒนธรรมเชื่อใจกันเข้าไปใช้ในงานด้วย
ที่มา: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก