สร้าง ‘พยาบาล’ สู่นักจัดการสุขภาพผู้สูงอายุระยะยาว

ที่มา : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ


ภาพประกอบจาก สสส.


สร้าง 'พยาบาล' สู่นักจัดการสุขภาพผู้สูงอายุระยะยาว thaihealth


การเข้าสู่สังคมสูงวัยเป็นเรื่องสำคัญทั้งในระดับครอบครัวและประเทศ เพราะถูกบรรจุเป็นแผนยุทธศาสตร์ชาติ ระยะ 20 ปี และในปี 2563 จะมีอัตราส่วนการพึ่งพิงของผู้สูงอายุต่อคนวัยทำงาน คือ วัยทำงาน 100 คน ต้องดูแลผู้สูงอายุ 30.3 คน ทุกฝ่ายจึงต้องเร่งเตรียมความพร้อมอย่างรอบด้าน


ปี 2560 ที่ผ่านมาไทยมีประชากรผู้สูงวัยสูงเป็นอันดับ 2 รองจากประเทศสิงคโปร์ และมีจำนวนสูงกว่าเวียดนาม มาเลเซีย เมียนมาร์ และอินโดนีเซีย เนื่องจากมีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป ถึงร้อยละ 17.1 จากจำนวนประชากรทั้งหมด แน่นอนว่าในวัยผู้สูงอายุจะมีความเปลี่ยนแปลงทั้งทางร่างกายและจิตใจ ทั้งจากกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) ความรู้สึกท้อแท้ สิ้นหวัง คิดว่าเป็นภาระ หมดคุณค่าในตัวเอง จนนำมาซึ่งภาวะติดบ้าน ติดเตียง และภาวะพึ่งพิง ดังนั้นการอภิบาลดูแลเอาใจใส่จึงเป็นเรื่องสำคัญ ด้วยเหตุนี้เอง สภาการพยาบาล จึงร่วมมือกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดการประชุม 'เวทีพัฒนานโยบายที่สนับสนุนการพัฒนาบทบาทพยาบาล ผู้จัดการระบบการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุ กรณีการดูแลระยะยาว' 


รองศาสตราจารย์ ดร.ทัศนา บุญทอง นายกสภาการพยาบาล กล่าวว่า วิชาชีพพยาบาลมีความสำคัญต่อวงการแพทย์และการสร้างเสริมสุขภาพ ครั้งนี้นับเป็นครั้งแรกที่ สสส. และสภาการพยาบาลได้ขับเคลื่อนงานร่วมกันโดยตรง ซึ่ง สสส. เข้ามาสนับสนุนการศึกษาหารูปแบบการดูแลผู้สูงอายุในชุมชนทั่วประเทศให้มีคุณภาพมาตรฐานยิ่งขึ้น ได้มีการส่งแบบสอบถามไปยังพื้นที่ใน 300 แห่ง และลงพื้นที่จริงเพื่อวิเคราะห์ข้อมูล ถอดบทเรียนจาก 162 แห่งที่ผ่านการคัดเลือก ถอดเป็นองค์ความรู้ต้นแบบในแต่ละภูมิภาค ซึ่งความร่วมมือครั้งนี้จะนำการถอดบทเรียนจาก 4 พื้นที่ต้นแบบแต่ละภูมิภาคไปปฏิบัติใช้ให้เข้ากับบริบทชุมชนแต่ละพื้นที่ทั่วประเทศ 


สร้าง 'พยาบาล' สู่นักจัดการสุขภาพผู้สูงอายุระยะยาว thaihealth


รองศาสตราจารย์ ดร.ทัศนา กล่าวต่อว่า ภาพรวมทั้งประเทศมีประชากรราว 66,413,979 คน มีพยาบาลปฏิบัติงานในระบบบริการสุขภาพระดับปฐมภูมิ 12,433 คน หากเป็นไปตามสัดส่วนที่กำหนดว่าให้พยาบาล 1 คนดูแลประชากร 2,500 คน จะเท่ากับว่าขาดพยาบาลอีก 14,133 คน จึงเสนอให้จัดตั้ง 'ศูนย์การดูแลสุขภาพชุมชนและผู้สูงอายุ' ประมาณ 14,133 ศูนย์ เพื่อให้การดูแลครอบคลุมประชากรทุกคน โดยเสนอให้สำนักงาน หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ให้การ รับรองศูนย์ฯ ให้เป็นเครือข่ายในหน่วยบริการปฐมภูมิ และมีองค์กรจากทุกภาคส่วนร่วมกัน กำกับคุณภาพและมาตรฐานการบริการ ภายใต้การมีสถาบันการศึกษาพยาบาลเป็นกลไกขับเคลื่อนการพัฒนาคุณภาพศูนย์ ทั้งนี้ สภาฯ มีความพยายามที่จะร่วมมือกับ สสส. สธ. อปท. และทุก ๆ หน่วยงานเพื่อพัฒนารูปแบบการดูแลผู้สูงอายุไทยให้มีคุณภาพอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากการลงพื้นที่ศึกษายังพบปัญหาสุขภาวะในชุมชน เช่น  ผู้ป่วยนอนบนแคร่ที่มีน้ำขัง เป็นต้น


"ดังนั้นจึงต้องเร่งสร้างนักจัดการสุขภาวะในชุมชนที่รู้ว่าเมื่อคนในพื้นที่มีอาการหรือภาวะแบบไหนแล้วต้องเข้าไปปรึกษาใคร ต้องติดต่อประสานงานกับแพทย์ประจำครอบครัวหรือแพทย์ประจำพื้นที่เพื่อการส่งต่อข้อมูลและส่งต่อคนไข้ได้ทันท่วงที แม้ในทีมจะมีพยาบาลวิชาชีพที่มีความเชี่ยวชาญ มีผู้ช่วยพยาบาลทำงานร่วมมือกับผู้ดูแลที่ผ่านการอบรม (Care Giver) ทั้ง อสม. อาสาสมัครกู้ชีพกู้ภัย นักจิตอาสา และบุคลากรสายวิชาชีพอื่นในชุมชนก็ตามเพื่อร่วมกันป้องกัน ดูแล และแก้ไขปัญหาสุขภาวะตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดาจนถึงผู้ป่วยระยะท้าย หรือเปรียบง่าย ๆ คือ การสร้างลูกทีมด้านสุขภาพ"  นายกสภาการพยาบาล เผย


สร้าง 'พยาบาล' สู่นักจัดการสุขภาพผู้สูงอายุระยะยาว thaihealth


ด้านองค์กรที่สนับสนุนการศึกษาดังกล่าว นพ.ชาญวิทย์ วสันต์ธนารัตน์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการพัฒนาระบบสุขภาพ (สำนัก 7) สสส. เสนอว่า จากประสบการณ์ที่ได้ทำงานร่วมกับพยาบาลเป็นระยะเวลาหลายปี เห็นได้ว่า พยาบาลเป็นนักจัดการในระบบสุขภาพที่สำคัญ ปัจจุบันความท้าทายในระบบสุขภาพไทยคือการรักษาที่ดีและการดูแลผู้ป่วยอย่างมีคุณภาพ จึงต้องพัฒนาระบบบริการสุขภาพให้เป็น Health Manager หรือนักจัดการสุขภาพ เพราะจะทำให้รู้ว่าต้องทำอย่างไรถึงจะแก้ปัญหาได้แม้ไม่ใช่พยาบาลวิชาชีพก็ตาม  เพราะสถานการณ์สุขภาพในปัจจุบันเปลี่ยนไปการมีสุขภาพดีไม่ได้มาจากการ ออกกำลังกายเพียงอย่างเดียว แต่ยังมีปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจ การเมือง สิ่งแวดล้อม และสังคม ยกตัวอย่าง สถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 เป็นต้น


"ในประเด็นผู้สูงอายุ กลุ่มผู้สูงอายุในเขตเมืองเป็นกลุ่มที่น่าจะเข้าไปช่วยเหลือ เนื่องจากเป็นกลุ่มคนที่ถูกทอดทิ้งมากที่สุด ที่ผ่านมา สสส. จึงเข้าไปทำโครงการบางกอกน้อยโมเดล ใน 42 ชุมชน เพื่อส่งเสียงความห่วงใยและการดูแลให้ไปถึงพวกเขาหรือเปรียบได้ว่าเป็นการไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังนั่นเอง" นพ.ชาญวิทย์ กล่าว

Shares:
QR Code :
QR Code