สร้างเสริมสวัสดิภาพเด็ก คืนคนดีสู่สังคม

         สสส. ร่วมกับหน่วยงานต่างๆ  เปิดโครงการบูรณาการสร้างเสริมสวัสดิภาพเด็กเยาวชนและครอบครัว เพื่อพัฒนาความร่วมมือของเครือข่ายในการปฏิบัติต่อเด็กและเยาวชนในกระบวนการยุติธรรมระดับชาติ


สร้างเสริมสวัสดิภาพเด็ก คืนคนดีสู่สังคม thaihealth


          นายดิเรก อิงคนินันท์ ประธานศาลฎีกา เป็นประธานในพิธีเปิดงานวันคล้ายวันสถาปนาศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง ครบรอบ 63 ปี พร้อมเปิดโครงการบูรณาการสร้างเสริมสวัสดิภาพเด็กเยาวชนและครอบครัวในกระบวนการยุติธรรม โดยมีนายภัทรศักดิ์ วรรณแสง เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม นายสุภัทร อยู่ถนอม อธิบดีผู้พิพากษาศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง นางอภิรดี โพธิ์พร้อม ผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา และนางเพ็ญพรรณ จิตตะเสนีย์ ผอ.สำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชนและครอบครัว สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และผู้พิพากษาศาลเยาวชนฯ เข้าร่วมในพิธีเป็นจำนวนมาก


          นายสุภัทร กล่าวว่า โครงการดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมเสร้างและพัฒนาความร่วมมือของเครือข่ายในการปฏิบัติต่อเด็กและเยาวชนในกระบวนการยุติธรรมระดับชาติ เสริมสร้างสวัสดิภาพเด็ก พัฒนายกระดับระบบการปฏิบัติและการดำเนินงานด้านจิตสังคม โดยมุ่งผลสำฤทธิ์เพื่อให้เด็กและเยาวชนที่กระทำความผิด สามารถปรับเปลี่ยนทัศนคติและพฤติกรรม ได้รับการแก้ไขบำบัดและฟื้นฟูที่มีมาตรฐานเป็นระบบอย่างต่อเนื่อง โดยการบูรณาการกับภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน เพื่อให้เด็กและเยาวชนกลับมาเป็นสมาชิกที่มีคุณภาพของสังคม ไม่กระทำผิดซ้ำอีก เบื้องต้นได้ดำเนินการนำร่องในพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี และกระจายไปในภูมิภาคตามเขตอำนาจสำนักงานอธิบดีผู้พิพากษาภาค 1 – 9 รวม 12 ศาล สำหรับสถิติคดีของศาลเยาวชนฯ ประจำปี 2557 มีคดีค้างมาจากปีก่อนในคดีอาญา 453 คดี รับใหม่ 1,670 คดี พิจารณาแล้วเสร็จ 1,616 คดี คงเหลือค้าง 507 คดี ส่วนคดีแพ่ง มีค้างจากปีก่อน 555 คดี รับคดีใหม่ 1,875 คดี พิจารณาเสร็จ 1,799 คดี คงเหลือค้าง 631 คดี


          ด้านนางอภิรดี ในฐานะหัวหน้าโครงการฯ กล่าวว่า โครงการบูรณาการสร้างเสริมสวัสดิภาพเด็กฯ มีกรอบแนวคิดการดำเนินงานภายใต้พ.ร.บ.ศาลเยาวชนฯ และวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 ซึ่งเป็นกฎหมายกำหนดกระบวนการยุติธรรมสำหรับเด็ก ยุทธศาสตร์ศาลยุติธรรมตามกรอบภารกิจของศาลเยาวชนฯ และนโยบายของนายสุภัทร อธิบดีผู้พิพากษาศาลเยาวชนฯ โดยใช้งบประมาณดำเนินการ 13 ล้านบาทเศษ ซึ่งการดำเนินโครงการจะต้องได้รับความยินยอมทั้งฝ่ายผู้เสียหายและเยาวชนที่กระทำผิด ผ่านเครื่องมือชี้วัดความเสี่ยงในการกระทำผิดซ้ำระดับต่ำ กลาง สูง โดยเป้าหมายของโครงการไม่ใช่ให้คดีจบ หรือผู้กระทำผิดไม่ถูกลงโทษ แต่เป็นการปรับเปลี่ยนการทำโทษให้เหมาะสมกับเด็ก เพื่อให้ทุกฝ่ายอยู่ในสังคมได้ปกติสุขและเป็นที่ยอมรับของสังคม ทั้งนี้ เชื่อว่าผลของโครงการจะทำให้เด็กที่เข้าสู่โครงการจะได้รับการแก้ไขบำบัดฟื้นฟูตรงตามสภาพปัญหา เด็กสามารถปรับเปลี่ยนทัศนคติและพฤติกรรม เพื่อกลับไปสู่ชุมชน จนถึงได้รับโอกาสการวางแผนพิจารณาพิพากษา เพื่อการแก้ไขบำบัดฟื้นฟูตรงกับสภาพปัญหา จึงอยากให้ผู้เสียหายและสังคมได้ทำความเข้าใจ หากจะลงโทษเด็กอย่างหนัก เมื่อเด็กพ้นโทษแล้วสังคมจะได้ใครกลับเข้ามาในสังคม ดังนั้น ขอโอกาสให้เด็กและศาลได้ร่วมกันทำงานตรงนี้ ถ้าเราทำงานร่วมกันเชื่อว่าจะแก้ไขพฤติกรรมและทัศนคติของเด็กได้


          ขณะที่นางเพ็ญพรรณ กล่าวว่า สสส.ทำหน้าที่สนับสนุนโครงการ โดยเห็นว่าวิธีการตัดสินลงโทษมีหลายวิธี ถ้าการกระทำผิดไม่ใช่พฤติกรรมที่รุนแรง หรืออยู่ในความเสี่ยงระดับต่ำที่ไม่กระทำผิดซ้ำอีก เด็กก็ไม่จำเป็นต้องถูกส่งเข้าสถานพินิจทั้งหมด เราสามารถส่งเยาวชนที่กระทำผิดกลับไปหาผู้ปกครองหรือรับการปรับเปลี่ยนทัศนคติจากหน่วยงานต่างๆ ได้ เช่น การฝึกอบรม หรือฝึกอาชีพ โดยใช้เครื่องมือชี้วัดเป็นเกณฑ์ในการรองรับและคุ้มครองเด็ก ซึ่งกระบวนการนี้จะทำให้หลักกฎหมายบังคับใช้ได้ชัดเจนยิ่งขึ้น และเด็กที่เข้าสู่โครงการจะอยู่ภายใต้กฎหมายสิทธิเด็ก


 


 


          ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ


          ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต 

Shares:
QR Code :
QR Code