สร้างเมืองสุขภาวะ พัฒนาคนเมือง-ชนบท
ที่มา : เว็บไซต์เดลินิวส์
ภาพปะกอบจากสสส.
มหกรรม 'สุขภาวะสร้างได้ด้วยมือเรา' พัฒนาคนเมือง-ชนบท “สุดใจ”ชี้การอ่านช่วยสมองเด็กมีพัฒนาการที่ดี และป้องกันเด็กติดมือถือได้
ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้อำนวยการสำนักสร้างเสริมระบบสื่อและสุขภาวะทางปัญญา สสส. กล่าวว่า เมื่อเร็ว ๆนี้ มูลนิธิพร้อมใจพัฒนาและสหพันธ์พัฒนาองค์กรชุมชนคนจนเมืองแห่งชาติ (สอช.) ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)จัดงานมหกรรม "สุขภาวะสร้างได้ด้วยมือเรา" เพื่อขับเคลื่อนงานโครงการพื้นที่สร้างสรรค์สุขภาวะคนเมืองและชนบท อันจะนำไปสู่การเป็นเมืองสุขภาวะ เมืองแห่งความสุขของทุกคน ที่ประชากรในเมืองมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และส่งเสริมแกนนำเยาวชน คนรุ่นใหม่ ให้สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงในพื้นที่ได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยได้เปลี่ยนวิถีชีวิตจากแบบชนบทมาเป็นสังคมเมืองถึง 60 % ขณะที่เทคโนโลยีและความเจริญทางเศรษฐกิจรุกคืบเข้าหาเรา และตัวเราเองก็เดินเข้าหาความเจริญด้วยเช่นกัน
ดร.นพ.ไพโรจน์ กล่าวต่อไปว่า ตนขอยกตัวอย่างการลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลง เพื่อรักษาความเป็นชุมชน คือ บ้านสายรุ้ง ประเทศไต้หวัน ที่รัฐบาลของไต้หวันได้ประกาศนโยบายจัดสรรที่ดินใหม่ เพื่อให้เป็นระบบ ระเบียบ ด้วยการให้ประชาชนโยกย้ายไปอาศัยมาอยู่คอนโด เพื่อปรับพื้นที่ใหม่ ซึ่งบ้านของ “ลุงฟู่” ชายชราผู้เคยเป็นทหารผ่านศึก ก็เป็นหนึ่งบ้านที่กำลังจะถูกรื้อถอน ลุงฟู่ไม่อยากจะไป แต่ทำอะไรไม่ได้มาก ก็เลยซื้อสีมาวาดภาพบนตัวบ้าน โดยวาดทุกวันวาดไปตามอารมณ์ศิลปิน จนกระทั่งวันหนึ่งมีนักศึกษาศิลปะเดินมาพบ แล้วเห็นว่าสิ่งที่ลุงฟู่ทำเป็นผลงานศิลปะชั้นครู จึงกลับไปบอกเล่าให้อาจารย์ฟัง หลังจากนั้นข่าวกระจายในสังคมโซเซียล ผู้คนที่ทราบข่าวต่างให้ความสนใจบ้านของลุงฟู่ มาขอถ่ายรูป จนกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียง ทำให้รัฐบาลมองเห็นประโยชน์ต่อผลงานศิลปะของลุงฟู่ จึงอนุญาตให้ลุงฟู่อาศัยอยู่ในบ้านหลังนี้ต่อไป และปรับพื้นที่ให้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของประเทศ
“สิ่งที่ลุงฟู่ทำเริ่มต้นจากความคิดที่ว่า เราต้องทำอะไรสักอย่างหนึ่ง เพื่อแสดงถึงจุดยืน และความต้องการของเราเอง ไม่ใช่การรอคอย นิ่งเฉย แล้วปล่อยไป โดยลุงฟู่เลือกใช้ศิลปะเพื่อแสดงจุดยืน และเมื่อย้อนกลับมาที่ประเทศไทย หลายชุมชนก็เริ่มตระหนักถึงปัญหาความเจริญที่เข้ามาคุกคามวิถีชีวิต และวัฒนธรรมอันดีงามในท้องถิ่น หนึ่งในชุมชนที่น่าสนใจ คือ กลุ่มโครงการบ้านมั่นคงเมืองสุรินทร์ โดยใช้หนังสือเป็นเครื่องมือสร้างเยาวชนของพวกเขาให้เป็นคนคุณภาพของสังคม”ดร.นพ.ไพโรจน์ กล่าวและว่าสังคมเมืองกำลังจะกลายเป็น ชนกลุ่มใหญ่ แล้วคนที่อยู่ในชนบทกำลังจะกลายเป็นชนกลุ่มน้อย จึงเกิดคำถามที่ว่า แล้วเราจะให้สังคมเมือง กลายเป็นนายของเราไหมคงตอบว่าไม่ เพราะเราต่างอยากเป็นเจ้านายของตัวเอง ซึ่งที่ผ่านมาหลายคนถามว่าแล้วภาครัฐทำอะไรบ้าง ก็ต้องตอบว่า ทำหลายอย่าง แต่สุดท้ายแล้วโครงการที่ยั่งยืนที่สุดคือโครงการที่มาจากความต้องการของประชาชนหรือคนในชุมชน ส่วนโครงการที่ทำแล้วไม่ใช่สิ่งที่ชุมชนต้องการก็ถูกทิ้งร้างโดยเปล่าประโยชน์ อย่างที่เราเคยเห็นกันมาก่อน
ด้านนางสุดใจ มิ่งพฤกษ์ ผู้ประสานงานโครงการบ้านมั่นคงเมืองสุรินทร์ จ.สุรินทร์ กล่าวว่า ในจังหวัดสุรินทร์มีการอ่านหนังสือต่อปีน้อยมาก จึงเกิดความคิดว่าแล้วเราจะทำอย่างไรให้เกิดการอ่านหนังสือมากขึ้น เพราะการอ่านจะช่วยให้สมองของเด็กมีพัฒนาการที่ดี และป้องกันเด็กติดมือถือ แท๊ปเลต แต่ปัญหาของชุมชนอยู่ที่การเข้าถึงหนังสือ เพราะราคาหนังสือสูงเมื่อเทียบกับรายได้ของพ่อแม่ โครงการบ้านมั่นคงจึงได้ของบประมาณมาจัดซื้อหนังสือ และรวบรวมหนังสือใหม่เข้ามา จึงทำเป็นกล่องหนังสือเดินทางไปตามชุมชนต่าง ๆ โดยหมุนเวียนกันให้เด็กๆ และประชาชนที่สนใจได้เข้ามาอ่านหนังสือ ซึ่งทำให้เด็ก มีกิจกรรมทำ ได้รู้จักรักการอ่านหนังสือ มีความฉลาดรอบรู้มากขึ้น ดังนั้นเราจะต้องพัฒนาสุขภาวะของคนในชุมชน โดยเฉพาะเยาวชน ให้มีการเจริญก้าวหน้าในสังคมคนเมือง