สร้างเด็กบ้านหาดสองแควรักถิ่น

          กระแสการปั่นได้รับความนิยมแพร่หลายไม่เว้นแม้กระทั่งเด็กๆ ด้วยเหตุนี้ องค์การบริหารส่วนตำบลหาดสองแคว อำเภอตรอน จังหวัดอุตรดิตถ์ จึงนำเรื่องการปั่นมาเป็นเครื่องมือให้เด็กๆ รักการปั่นและนำไปสู่การเรียนรู้วิถีชุมชน


/data/content/26120/cms/e_abcegjmuwy47.jpg


          ตำบลแห่งนี้แม้เป็นเพียงชุมชนขนาดเล็ก มีประชากร 4,195 คน และอยู่ห่างจากตัวเมืองอุตรดิตถ์ 25 กิโลเมตร แต่กลับเป็นชุมชนที่ได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวในเรื่องของการวิถีชีวิตแบบดั้งเดิมที่เรียบง่าย รักษ์ถิ่นกำเนิด กอปรกับคนในชุมชนมีเชื้อสายเป็นคนลาวเวียงจันทน์ที่มีประเพณี วัฒนธรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่นที่ควรอนุรักษ์ ส่งผลให้การพัฒนาทุกด้านขับเคลื่อนจนประสบความสำเร็จด้วยความวิถีแห่งชุมชน


          โลกยุคโลกาภิวัตน์ ความเป็นโซเชียลเน็ตเวิร์ก เทคโนโลยีที่แทรกซึมเข้ามาสู่ชุมชน ดาบหลายคมที่ นายพงษ์เทพ ชัยอ่อน นายกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) หาดสองแคว อ.ตรอน จ.อุตรดิตถ์ เกรงว่าประเพณี วัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่นชาวหาดสองแควจะเลือนหาย พร้อมทั้งต้องการดึงเด็กในพื้นที่ให้มีความใกล้ชิดและรู้จักคุณตาคุณยายในหมู่บ้าน เนื่องจากเด็กในปัจจุบันเริ่มห่างเหินและไม่รู้จักคนเฒ่าคนแก่


          เมื่อศูนย์วิจัยและพัฒนานวัตกรรมด้านเด็กและเยาวชน คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชนและครอบครัว สสส. จัดทำโครงการการบูรณาการพลังเด็กและเยาวชนกับพลังชุมชนท้องถิ่น ในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ด้านเด็กและเยาวชน เพื่อเชื่อมโยงและบูรณาการงานด้านเด็กและเยาวชนในระดับชุมชน ท้องถิ่นจึงเกิดแนวคิดทำ โครงการจักรยานสานฝันเรียนรู้วิถีชุมชน สานสัมพันธ์ท้องถิ่น เพื่ออนุรักษ์วัฒนธรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่นที่มีมาแต่ดั้งเดิมให้ลูกหลานคงสืบทอดไว้


      /data/content/26120/cms/e_acfkrstz4589.jpg    นายพงษ์เทพ ในฐานะที่ปรึกษาโครงการจักรยานสานฝันฯ เล่าถึงแรงบันดาลใจในการทำโครงการว่า เกิดจากสาเหตุหลักๆ คือ 1) เด็กไม่รู้จักคนเฒ่าคนแก่ในหมู่บ้าน 2) ไม่รู้จักชื่อหมู่บ้านของตนเอง 3) ไม่รู้จักวิถีวัฒนธรรมที่น่าสนใจในชุมชน ซึ่งความเป็นจริงพื้นฐานเด็กและเยาวชนต้องรู้จักประวัติศาสตร์ บริบทหมู่บ้าน ภูมิปัญญา คนเฒ่าคนแก่ในชุมชน ฉะนั้นการที่เด็กไม่รู้จักพื้นฐานตรงนี้ อนาคตประวัติ วัฒนธรรมชุมชนย่อมเลือนหายไปอย่างแน่นอน ทั้งนี้ เป็นความโชคดีที่ทางสภา อบต.ให้การสนับสนุนงบประมาณ และได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจาก 7 หมู่บ้าน ให้ข้อมูลประวัติความเป็นมาของหมู่บ้าน สร้างฐานการเรียนรู้ จำนวน 37 ฐาน เพื่อให้เด็กในชุมชนได้เรียนรู้ แต่ไม่สามารถลงไปเรียนรู้ได้ทั้งหมด เพราะเวลามีจำกัด จึงให้เด็กนำจักรยานปั่นลงพื้นที่เรียนรู้ชุมชนทั้ง 7 หมู่บ้าน ซึ่งเป็นที่มาของโครงการจักรยานสานฝันฯ


          ทาง อบต.ให้เด็กมาใช้สถานที่พบปะพูดคุยทำกิจกรรมร่วมกัน ถือเป็นพื้นที่สร้างสรรค์ โดยแบ่งเป็นศูนย์ 3 วัย คือ วัยเด็ก วัยรุ่น และวัยผู้สูงอายุ ทั้งนี้อนาคตมีแนวคิดจัดเป็นลานถนนเด็กเดิน จัดกิจกรรมในช่วงเย็น ซึ่ง อบต.ได้จัดสรรงบประมาณให้ทางสภาเด็กและเยาวชน ขับเคลื่อนการทำงานและจัดกิจกรรมทุกเดือนให้เกิดความหลากหลาย ต่อเนื่องและยั่งยืน


          "หาดสองแควถือเป็นต้นแบบของการพัฒนา จึงอยากชวนท้องถิ่นที่อยู่รอบข้างนำต้นแบบไปทำในพื้นที่ของตนเอง โดยในรุ่นที่ 2 จะให้เด็กและเยาวชนลงพื้นที่เชิญชวนผู้บริหารส่งตัวแทนมาเรียนรู้กระบวนการทำงานด้านเด็ก เพื่อให้เด็กมีสำนึกรักบ้านเกิด เรียนรู้ประเพณี วัฒนธรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่น เพราะเชื่อว่าทุกตำบลต่างมีของดีอยู่ในพื้นที่ อีกทั้งในปี 2558 จะขยายแนวคิดไประดับจังหวัดซึ่งมีทั้งหมด 9 อำเภอ 67 ตำบล เพื่อให้จังหวัดเห็นความสำคัญของเด็กและเยาวชนในการเรียนรู้และบริหารจัดการวิถีวัฒนธรรมของชุมชน และอนุรักษ์วัฒนธรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่นให้คงสืบเนื่องต่อไป


          นางสนาม ดีประเสริฐ หรือยายสนาม วัย 72 ปี ประธานกลุ่มเย็บปักถักร้อย ฐานการเรียนรู้ภูมิปัญญาชาวบ้าน เล่าว่า ศิลปะการเย็บปักถักร้อยของชุมชนที่เคยมีมาเมื่อครั้งวัยหนุ่มสาว ได้ถักผ้าเช็ดหน้า ปักหมอนให้กับผู้ชายที่ตัวเองรัก ซึ่งการถักหมอนนั้นจะถักให้ในวัยที่ฝ่ายชายบวช แต่ปัจจุบันการเย็บปักถักร้อยเริ่มเลือนหาย จึงมีแนวคิดที่จะฟื้นฟูการเย็บปักถักร้อยของชุมชนขึ้นมา จนได้รับเลือกให้เป็นประธานกลุ่ม ทุกวันจันทร์จะมีการรวมกลุ่มเย็บปักถักร้อยที่มีทั้งผ้าเช็ดหน้า กระเป๋า ผ้าเช็ดมือ ซึ่งกระเป๋าผ้าจะปักเป็นรูปหาบจังหัน สัญลักษณ์ของตำบลหาดสองแคว ซึ่งน้อยคนนักที่ จะหาบจังหันไปวัด


          ขณะที่ น.ส.ชลธิกาญจน์ กัลยา หรือแน็ก ชั้นปีที่ 1 คณะครุศาสตร์ เอกการศึกษาปฐมวัย มรภ.อุตรดิตถ์ เล่าว่า ได้เข้ามาร่วมกิจกรรมกับทางสภาเด็กและเยาวชนตำบลหาดสองแควตั้งแต่ 8 ขวบ จนตอนนี้อายุ 19 ปีแล้ว สาเหตุที่เข้าร่วมกิจกรรมนั้นเหมือนถูกปลูกฝังมาตั้งแต่เด็ก และก่อนจะตั้งสภาเด็กฯ มีกลุ่มเด็กคล้ายๆ เด็กกำพร้า คือพ่อแม่ไปทำงานต่างจังหวัด ปล่อยให้อยู่กับตายาย จึงเกิดการรวมกลุ่มมาดูการ์ตูนในเช้าวันเสาร์-อาทิตย์ และได้ดูรายการหนึ่งในทีวีให้ความสำคัญกับเด็ก ทำให้เกิดแนวคิดแบบเด็กๆ อยากออกรายการทีวีบ้าง จึงไปปรึกษากับป้านะ (นางรัตนะ เสริมมา ประธานสภา อบต.หาดสองแคว) ผู้ใหญ่ใจดี ช่วยสนับสนุนและให้คำแนะนำในการทำกิจกรรมเพื่อให้ได้ออกทีวี ด้วยการทำกิจกรรมปั่นจักรยานเก็บขยะ ขายผัก ทำปุ๋ยหมัก และด้วยความที่ตำบลหาดสองแควมีประเพณี วัฒนธรรม ภูมิปัญญา และเรื่องเล่าที่ควรอนุรักษ์และสืบทอดเพื่อให้คนรุ่นหลังได้รับรู้และไม่ละทิ้งหลายอย่าง การปั่นจักรยานเรียนรู้วิถีชุมชนถือเป็นการเริ่มต้นที่ดีที่จะทำให้เด็กมีความใกล้ชิดกับคนเฒ่าคนแก่ในหมู่บ้านของตนเอง และหมู่บ้านโดยรอบทั้ง 7 หมู่บ้านในตำบลหาดสองแคว จนสามารถเล่าประวัติความเป็นมาได้อย่างภาคภูมิใจ


          "หนูภูมิใจที่นายก อบต.เห็นด้วยและคอยสนับสนุนกิจกรรมมาโดยตลอด นอกจากนี้ นายก อบต.ก็ทำตนเป็นตัวอย่างให้เด็ก และดีใจที่วันนี้เด็กๆ ในชุมชนยังคงทำสิ่งนี้อยู่ พวกเราทำจนกลายเป็นนิสัย ไม่ใช่เพียงแค่หน้าที่รับผิดชอบ แต่เราทำเพราะเรารัก อยากเห็นบ้านสะอาด ใช้ถังขยะมีชีวิต ช่วยกันดูแลบ้านของตัวเอง ปลูกฝังไม่เห็นแก่ตัว เอื้อเฟื้อกันและกัน และถือเป็นธรรมเนียมปฏิบัติ พี่สอนน้องดูแลความสะอาดในชุมชนของตนเอง ตอนนี้ขยายครบทั้ง 7 หมู่บ้านในตำบลหาดสองแคว"น้องแน็กกล่าวพร้อมกับเล่าอีกว่า ในฐานะที่จะรับหน้าที่เป็นประธานสภาเด็กฯ คนต่อไป มีแนวคิดในการรวมกลุ่มเด็กให้มีความสามัคคี โดยจะจัดกิจกรรมให้เหมาะกับกลุ่ม เช่น คนชอบรถก็ตั้งกลุ่มอนุรักษ์รถโบราณ ชอบดนตรีกลุ่มรักษ์ดนตรี กลุ่มกีฬา กลุ่มงานฝีมือเย็บปักถักร้อย งานใบตอง กลุ่มทำขนมไทย และกลุ่มเรื่องเล่าประวัติศาสตร์ เป็นต้น


          น้องปาล์ม ด.ญ.ปริณทิพย์ กลมเกลียว ชั้น ป.3 โรงเรียนบ้านหาดสองแคว แม้น้องจะเป็นโรคหอบ แต่ด้วยความสำนึกรักบ้านเกิดและอยากเรียนรู้วัฒนธรรมของตำบล จึงตัดสินใจเข้าร่วมปั่นจักรยานเรียนรู้วิถีชุมชน และถือว่าได้กำไรด้วยการออกกำลังกายไปในตัว รวมถึงได้ความรู้จากสิ่งที่ไม่เคยรู้และได้สร้างสัมพันธ์กับรุ่นพี่ด้วย "หนูมีโรคประจำตัวคือเป็นหอบ แต่หนูก็อยากรู้จักชุมชน การที่ได้มาร่วมปั่นจักรยานและทำกิจกรรมกับพี่ๆ เพื่อนๆ ถือเป็นความโชคดี เพราะได้ทั้งความสนุก มีความผูกพันรุ่นพี่รุ่นน้อง และหนูดีใจที่ตำบลหาดสองแควมีผู้ใหญ่ใจดีให้ความรู้และคอยสนับสนุนกิจกรรม โตขึ้นหนูจะอนุรักษ์วัฒนธรรม ประเพณีไว้ให้รุ่นหลังดูค่ะ"


          สร้างกิจกรรมให้เด็กเรียนรู้วิถีแห่งชุมชน สืบสานมรดกวัฒนธรรม ประเพณี ภูมิปัญญาท้องถิ่น รุ่นสู่รุ่น รักษาคุณค่าแห่งแผ่นดินไทย


 


 


          ที่มา: หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์


          ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต

Shares:
QR Code :
QR Code