สร้างเครือข่ายจิตอาสา
เยียวยาผู้ด้อยโอกาส
ในสภาวะสังคมที่เอารัดเอาเปรียบ น้อยคนนักจะมาสนใจคนรอบข้าง คนกรุงเทพฯ บ้านติดกันยังไม่รู้จัก ต่างคนต่างอยู่ ไม่ผูกมิตรกัน ขณะที่ผู้ได้รับอุบัติเหตุหรือเคราะห์ร้ายมักเจอไทยมุงมากกว่าจะไปช่วยเหลือเยียวยาให้เขาผ่านพ้นภยันตราย
อย่างน้อยหลังจากเกิดเหตุการณ์สึนามิ เมื่อชาติเกิดความสูญเสียครั้งใหญ่ ช่วงเวลานั้นทำให้เห็นน้ำใจของคนไทยที่หลั่งไหลเข้ามาโดยไม่ได้นัดหมาย เปรียบดังฝนโปรยปรายในพื้นที่แห้งแล้งลงมาช่วยเหลือ ทั้งกำลังเงิน สิ่งของ และกำลังอาสาสมัครจากทั่วสารทิศ จนสามารถทำให้สถานการณ์ที่เหมือนจะเลวร้ายลงให้เบาบางลง
คราวนั้นเราเห็น “น้ำใจคนไทย” ยังไม่เคยเหือดแห้ง แต่จะทำอย่างไรไม่ให้สิ่งเหล่านั้นหายไปตามกาลเวลาเมื่อความเสียหายผ่านพ้นไป จึงเป็นที่มาของคนกลุ่มเล็กๆ ที่ตระหนักปัญหาข้างต้น จึงรวบรวมกันตั้ง “เครือข่ายจิตอาสา” ขึ้น เพื่อเป็นตัวกลางประสานงานกับหน่วยงานต่างๆ ผลักดันอาสาสมัครรุ่นใหม่ที่มีความตั้งใจทำงานตอบแทนสังคม
“นันทินี มาลานนท์” ผู้ประสานงานเครือข่ายจิตอาสา เปิดเผยว่า เครือข่ายนี้เป็นผู้ประสานงานให้แก่อาสาสมัครเข้ามาร่วมตัวหลังจากเหตุการณ์สึนามิเมื่อประมาณ 5 ปีที่ผ่านมา เราเห็นประชาชนจำนวนมากที่ลงไปบริจาค ลงไปเป็นอาสาสมัครในพื้นที่ ทำให้เกิดกระแสมีคนจำนวนมากที่ต้องการทำอะไรดีๆ เพื่อสังคม แต่ไม่รู้จะเริ่มต้นอย่างไร เริ่มต้นที่ไหน อย่างไร เครือข่ายจัดการอาสาสมัคร มีระบบ ฐานข้อมูลงาน เป็นศูนย์กลางให้ประ ชาชนเข้าถึงข้อมูลได้ แต่ปัญหาที่ตามมาคือ จะทำอย่างไรที่จะรักษาสปิริตของการคนเหล่านี้ไว้ได้ให้ยังทำงานต่อไปได้ จึงมีการตั้งเครือข่ายขึ้นจนถึงปัจจุบัน
“ผู้ประสานงานเครือข่ายจิตอาสา” บอกว่า เราจะสนับสนุนให้คนไปทำงานด้านอาสาสมัครในองค์กรต่างๆ ทุกประเด็น ในเครือข่ายองค์กรต่างๆ ที่มีความเชี่ยวชาญต่างกัน เข้าไปเป็นอาสาสมัครตามความต้องการของเขา เช่น มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม ก็จะเน้นอาสาสมัครพัฒนาสังคมต่างๆ มูลนิธิพัฒนาเด็ก ก็เน้นเรื่องการช่วยเหลือและพัฒนาเยาวชนให้โตมาอย่างมีคุณภาพ
องค์กรด้านอาสาสมัครต่างๆ ปัจจุบันมีทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาสังคม และเครือข่ายของเราอยู่ในภาคประชาสังคม นอกจากนี้ยังองค์กรอื่นๆ อย่างเช่น สภากาชาดไทย มูลนิธิร่วมกตัญญู ป่อเต็กตึ๊ง ก็ส่งเสริมอาสาสมัครเช่นกัน
“นันทินี” กล่าวว่า เครือข่ายยังจัดอาสาสมัครเพื่อเตรียมความพร้อมสู่สนามจริงด้วย เช่น การออกบทเรียนให้สร้างกระบวนการเรียนรู้ด้วยตัวเอง ให้ต่อยอดความรู้ให้เพิ่มมากขึ้น เพราะการเป็นอาสาสมัครจะเกิดเปลี่ยนแปลงทัศนคติ เกิดการเรียนรู้ และสุดท้ายการทำงานเป็นผลดีอย่างไรกับพื้นที่เป้าหมาย
“จะให้การสนับสนุนคนรุ่นใหม่ที่เพิ่งเรียนจบไปเรียนรู้งานพัฒนา เครือข่ายจิตอาสาจะเป็นตัวกลาง ส่งอาสาสมัครไปสู่มูลนิธิหรือองค์กรต่างๆ เพื่อช่วยเหลือสังคม โดยเราเป็นพื้นที่ตรงกลาง ทำหน้าที่ประชาสัมพันธ์งานอาสาสมัครออกไปสู่วงกว้าง”
“นันทินี” บอกว่า งานอาสาสมัครส่วนใหญ่ที่เข้ามาหาเรา เป็นความต้องการจากภายนอกตามความประสงค์ ตามความต้องการ แต่สิ่งที่เราอยากได้ และขณะนี้สังคมกำลังต้องการคือ อาสาสมัครด้านวิชาชีพที่มีความรู้เฉพาะด้านให้มากขึ้น เช่น นักบัญชี จะช่วยพัฒนาแผนการเงิน หรือทำบัญชีให้องค์กรชุมชนและภาคสังคม หรือคนทำงานด้านไอทีจะช่วยเรื่องระบบคอมพิวเตอร์ การจัดฐานข้อมูลเว็บไซต์ให้แก่องค์กรชุมชนต่างๆ หรือองค์กรพัฒนาสังคม
“ผู้ประสานงานเครือข่ายจิตอาสา” บอกว่า คนที่เข้ามาเป็นอาสาสมัครมีหลากหลายสาขา ตั้งแต่ระดับมัธยม มหาวิทยาลัย คนทำงาน แต่ส่วนใหญ่จะเป็นคนรุ่นใหม่อายุไม่เกิน 35 ปี งานดังกล่าวไม่ต้องการทักษะอะไรเป็นพิเศษ เป็นใครก็ได้ ไม่ว่าจะเป็นเพศชายหรือหญิง ลงไปทำงานในพื้นที่ประสบปัญหา เช่น ไปเรียนรู้ชุมชน ไปปลูกป่า ช่วยเหลือภยันตรายต่างๆ แต่องค์กรภายนอกกำหนดขอบวัตถุประสงค์ว่าต้องการนักอาสาสมัครประเภทอะไร เราจะเปิดสมัคร หรือประสานอาสาสมัครที่มีอยู่ให้ตรงตามต้องการ เพื่อป้อนสู่องค์กรภาคีต่างๆ ตามลักษณะงาน
“งานผู้ที่เข้ามาเป็นอาสาสมัครสนใจคือ เขาได้เดินทางเรียนรู้พื้นที่ใหม่ๆ นอกเหนือจะไปช่วยอาสาทำอะไรบ้างอย่างแล้ว โดยเฉพาะงานด้านสิ่งแวดล้อม ปลูกป่าชายเลน นอกจากนี้ ทางเครือขายยังร่วมทำงานกับกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จัดตั้งศูนย์ส่งเสริมการให้ พร้อมทั้งส่งเสริมอาสาสมัครระหว่างประเทศด้วย”
“นันทินี” บอกว่า เครือข่ายเราเป็นศูนย์กลางทำให้สามารถแลกเปลี่ยนทรัพยากรบุคคลแต่ละเครือข่าย เพราะบางองค์กรอาจถนัดงานประเภทหนึ่ง ก็อาจไปช่วยองค์กรอื่นที่ขาดแคลน การทำงานส่วนใหญ่ถือว่าประสบความสำเร็จ เป็นที่รู้จักต่อคนภายนอกกว้างขวางตลอดระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา คนภายนอกเข้าใจงานอาสาสมัครมากขึ้น และเข้ามาติดต่อกับเราเพื่อจะทำงานอาสา
“ตอนนี้เรากำลังทำเรื่องออนไลน์ เฟซบุ๊กและทวิตเตอร์มากขึ้น เพราะเป็นเครื่องมือที่คนกำลังสนใจและใช้มาก ไม่มีต้นทุน เป็นช่องทางสื่อสารระบบออนไลน์ของทั้งอาสาสมัครที่เคยทำกิจกรรมกับเรา และคนที่ยังไม่เคยก็มีการระดมอาสาสมัครผ่านช่องทางดังกล่าวได้อย่างรวดเร็วและกว้างขวางขึ้น”
“ผู้ประสานงานเครือข่ายจิตอาสา” กล่าวว่า สำหรับเรื่องเด็ก เท่าที่ประสานงานมีเรื่องครูอาสาไปสอนหนังสือเด็กด้อยโอกาสตามชุมชนต่างๆ หรืออาสาสมัครไปดูแลเด็กพิการ หรือเชิงพัฒนาทักษะชีวิตจัดค่ายอาสาให้เด็กให้ เพื่อให้ผู้ด้อยโอกาสมีชีวิตที่ดีมากขึ้น
งานของเราไม่ใช่การให้สิ่งของ แต่จะเอาแรงกายแรงใจไปดูแลเขา อย่างการนวดเด็กที่บ้านปากเกร็ด ที่เป็นกระบวนการส่งผ่านความรักไปสำหรับผู้ไม่มีพ่อแม่ ส่วนงานที่พบเป็นประจำคือ เด็กถูกทอดทิ้ง หรือเด็กพิการ โดยทางอาสาสมัครจะต้องเข้าดูแลทำกิจกรรมในวันเสาร์-อาทิตย์ให้ความรักความอบอุ่น
“ขณะนี้สังคมให้ความตื่นตัวกับเรื่องนี้ไม่เฉพาะแต่คนทั่วไป ทางบริษัทเอกชนใหญ่ๆ หรือรัฐวิสาหกิจจะมีการจัดอบรมพนักงานจิตอาสาหรือการส่งเสริมและความรับผิดชอบต่อสังคม สร้างภาพลักษณ์ที่ดี จะติดต่อให้เราเตรียมทีมไปจัดอบรมให้แก่พวกเขา”
เมื่อถามว่าทำงานจิตอาสาจะได้อะไร “นันทินี” บอกว่า คนที่ทำงานอาสาสมัครจะรู้สึกมีทัศนคติเชิงบวก เพราะได้ให้คนอื่นแต่จริงๆ คนที่ให้เป็นผู้ได้รับเต็มๆ” เป็นความรู้สึกกับการได้ช่วยเหลือคนอื่น อย่างเยาวชนที่แต่ก่อนไม่เคยสนใจเรื่องต่างๆ รอบตัว เขาไปทำงานอาสาสมัครแล้วจะมีระเบียบวินัยในชีวิต เขามองคุณค่าสิ่งรอบตัวมากขึ้น หรือพนักงานบริษัทเอกชนที่มีความเครียดในการทำงาน เขาใช้เวลาว่างไปทำเพื่อประโยชน์ที่ไม่ใช่ตัวเอง ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงความคิดของเขาให้รู้จักความเสียสละมากขึ้น
“ผู้ประสานงานเครือข่ายจิตอาสา” บอกว่า ส่วนการสนับสนุนเครือข่ายจิตอาสา ขณะนี้ยังไม่มีใครสนับสนุนเป็นพิเศษ แต่ที่ผ่านมาเราทำงาน เช่น โครงการฉลาดทำบุญ หรือโครงการอาสาเพื่อในหลวง ก็เคยได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ส่วนเครือข่ายภาคีต่างๆ ที่ประสานกับเรา หากจะทำอะไรก็จะมีแหล่งทุนของตัวเองเป็นพิเศษ
อย่างไรก็ตาม เครือข่ายจิตอาสากำลังจัดงานตลาดนัดอาสาสมัคร รวบรวมองค์กรอาสาสมัครทั้งหมดวันที่ 20-21 พ.ย. ที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ โดยจะมีการระดมทุนจากภาคเอกชน วัตถุประสงค์สร้างกระแสเรื่องจิตอาสาในวงกว้างให้คนรู้จักมีช่องทางเข้ามามีส่วนร่วมที่ดีสร้างสรรค์สังคมมากขึ้น ผู้ใดมีจิตอาสาสมัครต้องการช่วยเหลือสังคมด้านต่างๆ แล้วแต่ความถนัด โปรดคลิก www.volunteerspirit.org
ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์
update : 27-09-53
อัพเดทเนื้อหาโดย : สุนันทา สุขสุมิตร