สร้างอาชีพจากการอ่านหนังสือการ์ตูนในห้องสมุดรพ.

ที่มา : เว็บไซต์คมชัดลึก 


ภาพประกอบจากเว็บไซต์คมชัดลึก 


สร้างอาชีพจากการอ่านหนังสือการ์ตูนในห้องสมุดรพ. thaihealth


จากแรงบันดาลใจในการอ่านหนังสือการ์ตูนในห้องสมุดโรงพยาบาล สร้างฝันสู่อาชีพ "ROTOMATION ARTISH"


จากแรงบันดาลใจในการอ่านหนังสือการ์ตูนในห้องสมุดรพ. ตัวการ์ตูน “มู่หลาน” กับ “ทาร์ซาน” ทำให้ “แบงค์” ออกตามหาความฝัน ตั้งแต่เรียนอยู่ ป.5 ฝันอยากเป็น “นักสร้างการ์ตูน” แต่พบอุปสรรคสำคัญครอบครัวไม่หนุน แต่ไม่ยอมทิ้งฝัน จากเด็กสถาปัตย์สู่เด็กคอมพิวเตอร์อาร์ทสู่งานที่รัก ROTOMATION ARTISH ที่ YANNIX THAILAND คือ รางวัลมีค่าในชีวิต นี่คือตัวอย่างของคนรุ่นใหม่ที่ไม่ยอมทิ้งความฝัน จึงนำเส้นทางความสำเร็จของ ”แบงค์-วิโรจน์ เซียตระกูล” เจ้าของผลงานThe Click ManจากเวทีThailand Animator Festival1 (TAF1 ดำเนินงานโดยSputnik Tales : Studio สนับสนุนโดยมูลนิธิสยามกัมมาจล) มาถ่ายทอดเพื่อให้ทราบถึงแนวคิดและแรงบันดาลใจที่สามารถก่อให้เกิดความสำเร็จในชีวิตในวันนี้ได้


“แบงค์” เล่าว่าเมื่อตอนเด็กๆ ฝันอยากทำแอนิเมชั่นหนังใหญ่ การ์ตูนดีสนีย์ รู้ตัวว่าอยากทำตั้งแต่ตอน ป.5 “ได้แรงบันดาลใจจากห้องสมุดใน รพ.ของแม่แม่จะเอาไปปล่อยไว้ช่วงปิดเทอม แม่เป็นพยาบาล ห้องสมุดจะมีหนังสือเยอะมาก แต่มีเล่มหนึ่งเขาพูดถึงการทำโปรดักชั่น การทำแอนิเมชั่น แต่ว่าเริ่มอยากทำจริงๆ ตอนดูหนังการ์ตูนเรื่องมู่หลานและทาร์ซาน เขามีสมุดและวิดีโอเบื้องหลังมาให้ดู ว่าทำอย่างไรอยากทำเพราะว่ามันเป็นศิลปะ คือตัวเองชอบศิลปะด้วย และชอบที่จะเล่าเรื่องตอนเด็กๆ ด้วย รู้สึกว่ามันเป็นงานที่พอทำเสร็จแล้วทุกคนทั่วโลกสามารถมองเห็นงานของเราในโรงหนังจอใหญ่ๆ งานคุณภาพ ควอลิตี้ละเอียด ไม่ใช่ทำเสร็จๆ ไป ตอนเด็กๆ พอรู้ตัวว่าชอบทางนี้ ก็ติดตามพวกนิตยสารสตาร์พิก หนังสือพิมพ์หรือในอินเตอร์เน็ตตอนนั้นก็ยังไม่ค่อยมีอินเตอร์เน็ตเรื่องแอนิเมชั่นเกี่ยวกับคนไทยเท่าไหร่


ตอนนั้นยังไม่บูม “บ้านผมอยู่ยโสธรถึงแม้สิ่งแวดล้อมไม่เอื้อ แต่ก็ยังอยากเป็นนักวาดการ์ตูนแบบนั้นบ้าง มันบอกไม่ถูก” แต่ฝันต้องสลายเมื่อพ่อแม่ไม่หนุน แต่ “แบงค์” ยังคงสู้ต่อด้วยวิธีของตนเอง “พ่อแม่ไม่สนับสนุนครับ ก็คุยกันกับแม่ตั้งแต่นั้นมาจนถึง ม.6 จนเลือกคณะเพื่อสอบเข้ามหาวิทยาลัย แม่ก็ให้เลือกคณะสถาปัตย์ ม.ขอนแก่น" แบงค์เล่าย้อนวัยให้ฟังว่านอกจากศึกษาหาข้อมูลด้วยตนเองแล้ว ยังพยายามนำงานศิลปะมาอยู่ใกล้ตัวมากที่สุด และใช้ช่องทางการเรียนที่ตนมีอยู่สอดแทรกศิลปะเข้าไปอย่างเนียนๆ ตั้งแต่สมัยเรียนมัธยมจนถึงมหาวิทยาลัย


สร้างอาชีพจากการอ่านหนังสือการ์ตูนในห้องสมุดรพ. thaihealth


“ผมก็จะอยู่กับศิลปะให้มากที่สุด ตอนมัธยมผมทำการบ้านให้เป็นแนวศิลปะให้มากที่สุด เช่น มีวิชาคณิตศาสตร์ เขาให้ใบงานมาเราก็พยายามวาดรูปใส่ลงไป ออกแบบให้มันดีๆ หรือว่าเขามีการ์ตูนวิทยาศาสตร์เราก็ออกแบบใบงานให้อ่านง่ายๆ มีการ์ตูนแทรกเข้าไปเล่าเรื่อง เราก็พยายามไม่ทิ้ง เวลาจัดบอร์ดสมัยเรียนก็พยายามใส่ตัวการ์ตูนเข้าไป หรือเวลาทำแสตนด์เชียร์ ออกแบบพวกค่ายต่างๆ ก็พยายามเอาเข้าไปเรื่อยๆ พอมาเรียนมหาวิทยาลัย คณะสถาปัตย์ที่ผมเรียนจะมีละครคณะ ซึ่งทั้งมหาวิทยาลัยก็จะมาดูที่นี่ แล้วก่อนจะเล่นละครเขาก็จะมีธรรมเนียมทุกปี มีแอนิเมชั่นเล่าเรื่องก่อนถึงให้คนมาแสดง ผมก็มาทำตั้งแต่อยู่ปี 2 จากปกติเขาให้พี่ปี 3 ทำ ปกติเขาให้ทำปีละคน แต่ว่าผมเหมารวม 3 ปีเลย เราไม่ทิ้งโอกาสเล็กๆ น้อยๆ ที่จะทำมันทุกครั้งเมื่อมีโอกาส โชคดีที่ ม.ขอนแก่น เขามีคณะศิลปกรรม มีวิชาแอนิเมชั่น ผมก็ไปขออาจารย์เขาเรียนด้วยเป็นวิชาเสริม หรือไม่ก็มีค่ายแอนิเมชั่น มันมีอีสานซอฟต์แวร์ปาร์คอยู่ที่ขอนแก่นพอดี ก็ขอเขาเข้าอบรมบ่อยๆ ผมพยายามอยู่กับศิลปะให้มากๆ แล้ววิชาศิลปะก็พยายามทำเต็มที่ ทำให้ได้อยู่ใกล้เคียงกับศิลปะมากขึ้นเรื่อยๆ แต่ทำอย่างไรก็ไม่ถึงความฝันสักทีแต่ผมก็ไม่ท้อความฝันเพิ่งจะมาถึงเมื่อตอน 3 ปีก่อน ที่มีโอกาสได้เรียนต่อโทที่คอมพิวเตอร์อาร์ทที่ ม.รังสิต นี่แหละครับ”


หลังจาก “แบงค์” ได้ตามใจแม่ จนเรียนจบระดับปริญญาตรี คราวนี้แม่ก็ตามใจ “แบงค์” บ้าง “แม่ก็ให้ผมไปต่อโทคอมพิวเตอร์อาร์ทที่ ม.รังสิต คราวนี้ความฝันพรั่งพรูเป็นความจริง “ที่นี่ทำให้ผมได้ปลดปล่อยตนเองมากเลยครับที่เราอั้นมานาน ที่เราโดนปิดกั้น โดนอุปสรรคต่างๆ ทุกอย่างที่นี่มันเป็นอย่างที่เราฝันหมดเลย ทุกวันที่ได้การบ้านผมก็จะตั้งใจทำการบ้านมาก แล้วก็ชอบมากเลยครับ เวลาได้คะแนนออกมาผมก็จะอยู่ท็อปๆ ตลอด” ทำให้แบงค์จบออกมาได้เกรดเฉลี่ย 4.00 สร้างเกียรติประวัติให้ตนเองและครอบครัว ในที่สุด “แบงค์” ก็ไล่ตามความฝันได้สำเร็จ ปัจจุบันมีอาชีพนัก “ออโตเมชั่น” ที่เข้าใกล้กับคำว่าแอนิเมเตอร์ ไม่ได้เป็นแอนิเมเตอร์100% “แต่ผมก็พอใจกับมันนะครับ เพราะว่ามันก็มาได้ไกลมากแล้ว ผมเป็นออโตเมชั่น ทำคล้ายๆ แอนิเมเตอร์ แอนิเมเตอร์จะทำท่าตัวละครให้ขยับตามที่เขานึกคิด แต่ของเราจะขยับให้ตามภาพคนแสดงแบบเป๊ะๆ ครับ ของผมจะไม่ใช่แนวแอนิเมชั่น จะเป็นแนวสมจริง เป็นCGเป็นคนแสดง เช่น สมมติคนจะแปลงร่างจากหน้าคนแล้วมีเลือดออกมาก็สามารถที่จะทำให้เป็นอย่างนั้นได้


สร้างอาชีพจากการอ่านหนังสือการ์ตูนในห้องสมุดรพ. thaihealth


โดยการที่พวกผมจะทำหน้าคนจำลองให้เหมือนเป๊ะๆ แล้วก็ส่งให้แผนก CG ใส่เลือดเข้าไป (เหมือนการทำ CG ในหนังที่คนแสดง) ทำโมโตฯ คนให้ไปอยู่ในคอมพิวเตอร์ เพื่อให้คนที่ทำCGใส่อะไรเข้าไปก็ได้ เช่น อยากใส่เลือด ใส่หัวไฟลุก ใส่ขน อยากเปลี่ยนลูกตา อยากทำจมูกเบี้ยว จมูกหัก ทำได้หมดเลย งานที่เปิดเผยได้ก็จะมีเรื่องโกสต์บัสเตอร์ภาคสอง (Ghost Busterภาค2) งานนี้ผมชอบครับ เพราะเป็นอะไรที่อยากทำตั้งแต่เด็กแล้วครับ


เพราะงานแอนิเมชั่นที่สร้างชื่อเรื่อง The Click Man ที่ได้รางวัล 1 ใน 10 ผลงานสุดท้ายในเวทีThailand Animation Festivalครั้งที่ 1 (TAF1) “แบงค์” ได้นำข้อคิดดีๆ ใส่ไปในงานนี้ด้วย โดยเล่าเรื่องเกี่ยวกับคนที่ทำอาชีพแอนิเมเตอร์ ทำงานหามรุ่งหามค่ำ แล้วสุดท้ายก็ป่วย แล้วก็จบ ให้คนไปคิดว่าจะทำอย่างไรต่อจากชีวิตนี้ดี ชีวิตที่เรามีความสุขกับการทำงานแต่ว่าสุขภาพเรามันไม่เอื้ออำนวย เวทีนี้ทำให้แบงค์ได้รับแรงบันดาลใจกลับไปเสมอ “ทุกครั้งที่ผมได้มาร่วมในเวทีผมจะได้แรงบันดาลใจจากทุกคน เพราะว่าทุกคนจะมีความคิดตรงกันว่าจะทำงานตัวเองให้ดีที่สุดแล้วเสนอเทคนิคที่มันแตกต่างจากคนอื่น เสนอแนวความคิด สำหรับผมสิ่งที่ได้จากที่นี่มากที่สุดคือแรงบันดาลใจ จากเพื่อนๆ น้องๆ ครับ”


และในฐานะรุ่นพี่โครงการ Thailand Animation Festival แบงค์จึงอาสารับหน้าที่ ช่วยดูแลงานแอนิเมชั่นสร้างสรรค์ของน้องๆ ในรุ่นที่ 4 ในค่าย TAF CAMP ภายใต้โครงการ Thailand Animation Festival 4 (TAF 4) จัดโดย Sputnik Tales : Studio สนับสนุนโดย มูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) และ มูลนิธิมั่นพัฒนา ที่ให้เยาวชนที่เข้ารอบ 10 ผลงานสุดท้ายได้มาร่วมกันสร้างสรรค์แอนิเมชั่นเพื่อสังคม 1 เรื่องในหัวข้อความยั่งยืน และจะนำไปฉายในเทศกาลฉายหนังแอนิเมชั่นประจำปี 2560 สำหรับผู้สนใจสามารถติดตามความเคลื่อนไหวได้ที่ www.scbfoundation.com/เฟสบุ๊คThailand Animation Festival


สุดท้ายแบงค์ได้เฉลยว่าอะไรคือสิ่งยึดเหนี่ยวที่ทำให้แบงค์ไม่ยอมปล่อยมือจากความฝัน “เป็นความรู้สึกที่ได้รับพอเราทำเสร็จแล้วมันภูมิใจ มันดีใจที่เห็นงานตัวเองและคนอื่นเขาชอบงานเรา มันเลยเป็นแรงผลักดันให้เราทำ ไปอยู่ตรงนั้นให้ได้ เช่น เวลามีพรีเซ็นต์งานที่คณะ ปกติคนอื่นเขาก็จะเป็นพาวเวอร์พอยต์รายงานๆ แล้วจบ แต่ผมจะมีแอนิเมชั่นเข้ามาด้วย ทำเป็น VDO มาเล่าเรื่อง เวลาทุกครั้งที่เพื่อนมาเห็น หรืออาจารย์มาดูก็จะได้คะแนนท็อปๆ ตลอด เพื่อนก็จะมีปฏิกิริยาตอบโต้ตลอด มีเสียงหัวเราะ ปรบมือชอบ แล้วก็มีรุ่นน้องมาชอบ เราได้รับการยอมรับด้วย อาจารย์ก็มาให้ช่วยงาน ช่วยรับฟรีแลนซ์ ญาติก็มีงานแต่งงานก็มาจ้างเราทำแอนิเมชั่น เพื่อนคณะอื่นก็มาดูงานเรา รู้จักเรา” แบงค์ตบท้าย


นี่คือตัวอย่างของผู้มีความฝันเต็มเปี่ยมและไม่ยอมให้อะไรมาเป็นอุปสรรคในสิ่งที่ตนเองฝันและจะไปให้ถึง เรื่องราวของ “แบงค์” น่าจะเป็นแรงบันดาลใจให้กับน้องๆ เยาวชน ได้นำ ไปเป็นแรงขับเคลื่อนภายในใจตนให้เกิดความสำเร็จได้ไม่มากก็น้อย

Shares:
QR Code :
QR Code