สร้างอนาคตสังคมไทย ขจัดภัยวงจรยาสูบ
เรื่องโดย ปัญจวรา บุญสร้างสม Team Content www.thaihealth.or.th
ข้อมูลบางส่วนจาก งานเสวนาวิชาการ “ได้เวลา…วิถีสุขใหม่ ชาวไร่ยาสูบไทย” การประชุมวิชาการ “บุหรี่กับสุขภาพแห่งชาติ” ครั้งที่ 20 และเอกสารข้อมูลชุด ยาสูบทำลายสิ่งแวดล้อมได้อย่างไร
ภาพโดย ปารมี ขันธ์แก้ว Team Content www.thaihealth.or.th และ สสส.
ตลอดวงจรชีวิตยาสูบเปรียบเสมือนการวางยาพิษให้แก่โลก สร้างความเสียหายทั้งในด้านสุขภาพ และสิ่งแวดล้อม ชาวไร่ยาสูบที่เพาะปลูกและเก็บเกี่ยวยาสูบ อาจดูดซับสารนิโคตินต่อวันมากเท่ากับนิโคตินที่พบในบุหรี่ถึง 50 มวน ในใบยาสูบมีสารชนิดหนึ่งที่มีความเหนียว หากติดที่เสื้อผ้าจะซักไม่ออก ซึ่งเป็นสารที่ทำให้เกิดความเมา เมื่อได้รับการเผาไหม้ สูบควันเข้าไปในร่างกาย แล้วพ่นออกมาที่เล็บนิ้วมือจะเป็นคราบสีดำ สารตัวนี้เมื่อสูบเข้าไปจะเกาะติดอยู่ในปอด เมื่อสะสมไปเรื่อย ๆ อาจทำให้เกิดโรคมะเร็งในที่สุด
จากเวทีประชุมวิชาการบุหรี่กับสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 20 เรื่อง “บุหรี่ไฟฟ้า ภัยซ่อนเร้นในสังคม” โดยความร่วมมือของแพทยสมาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และภาคีเครือข่ายควบคุมยาสูบ ได้ร่วมระดมแนวคิด หาทางออกให้แก่เกษตรกรชาวไร่ยาสูบไทย ให้ไม่ต้องพึ่งพิงรายได้จากยาสูบ ในการพูดคุยผ่านเวทีย่อย “ได้เวลา…วิถีสุขใหม่ ชาวไร่ยาสูบไทย”
นพ.สุรเชษฐ์ สถิตนิรามัย รองประธานกรรมการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ คนที่ 2 เล่าถึงบทบาทการทำงานควบคุมยาสูบของ สสส. ว่า สสส. ร่วมกับภาคีเครือข่าย สนับสนุนข้อมูลด้านวิชาการและระบบข้อมูลข่าวสาร เพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องของสังคมในประเด็นสำคัญต่าง ๆ เช่น บุหรี่กับโควิด-19 การปลูกพืชทดแทนใบยาสูบ เพื่อเสริมสร้างความรู้รอบทางสุขภาพด้านการควบคุมยาสูบให้แก่ประชาชนตระหนักและรับรู้ข้อมูลที่ถูกต้อง นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมที่เหมาะสม
รศ. ดร.จักรพันธ์ เพ็ชรภูมิ อาจารย์ประจำคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร หัวหน้าคณะทำงานพัฒนาศักยภาพนักวิจัยและวิชาการ ศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) ประจำภาคเหนือ เล่าว่า จากผลการสำรวจ พบว่า ชาวไร่ยาสูบส่วนใหญ่มีอายุเฉลี่ย 52 ปี และสูงสุด 84 ปี ซึ่งค่อนไปทางผู้สูงวัย จึงเป็นข้อกังวลว่าด้วยอายุที่มาก และแนวโน้มว่าไม่มีลูกหลานทำต่อ ทำให้โอกาสในการเริ่มต้นประกอบอาชีพใหม่ไม่ใช่เรื่องง่ายนัก เพราะชาวไร่ยาสูบนั้นปลูกยาสูบถึงประมาณ 7 ไร่ ต่อครัวเรือน ซึ่งถือเป็นรายได้หลัก 82% ของรายได้ทั้งปี อีกทั้งยังมีหนี้สินติดตัว ซึ่งเป็นข้อจำกัดสำคัญในการนำเงินไปลงทุนประกอบอาชีพอื่น เพราะมีต้นทุนไม่เพียงพอ จึงมีมาตรการและแนวทางภายใต้ยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจ เพื่อเพิ่มรายได้ให้แก่ชาวไร่ยาสูบ เตรียมความพร้อมต่อการลดการบริโภคยาสูบของประชาชนอย่างเหมาะสมและยั่งยืน ดังต่อไปนี้
1. สนับสนุนทางเลือกที่เป็นไปได้ทางเศรษฐกิจ อาทิ การสร้างความสามารถในการแข่งขันจากสินค้าผลิตภัณฑ์ด้านเกษตรกรรม รวมถึงการสร้างกลไกในการสนับสนุนทางเลือกที่เป็นไปได้ทางเศรษฐกิจ ที่มุ่งเน้นสัมฤทธิผล
2. ส่งเสริมให้เกษตรกรและแรงงานในไร่ยาสูบ รวมถึงภาคประชาสังคมเข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนด ทิศทางการสนับสนุนทางเลือกที่เป็นไปได้ทางเศรษฐกิจ
3. พัฒนาขีดความสามารถและศักยภาพกลุ่มเป้าหมายด้านทักษะอาชีพ
4. กำหนดแนวทางในการลดหรือจำกัดบทบาทของอุตสาหกรรมยาสูบในการส่งเสริม สนับสนุน ให้เกษตรกรปลูกยาสูบ
5. สนับสนุนการวิจัยในมิติที่เกี่ยวกับทางเลือกที่เป็นไปได้เชิงเศรษฐกิจและการประกอบอาชีพของเกษตรกร และมิติด้านการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม
6. จัดการข้อจำกัด และอุปสรรคต่าง ๆ ในการประกอบอาชีพที่เป็นทางเลือกใหม่ อาทิ การสร้างตลาดใหม่ ที่เน้นความยั่งยืนตลอดห่วงโซ่อุปทานการผลิต การสนับสนุนด้านงบประมาณ
7. มุ่งเน้นการคุ้มครองด้านสังคม สุขภาพ และสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ที่มีการปลูกยาสูบ
นายไฟซอล สะเหล็ม ผู้รับผิดชอบโครงการลดการพึ่งพิงยาสูบ มูลนิธิสร้างสุขมุสลิมไทย เล่าถึงภาพรวมการทำงานของโครงการให้ฟังว่า โครงการลดการพึ่งพิงยาสูบ “ครอบครัวปลอดภัย ชุมชนสดใส ไร้ใบยาสูบ” จัดตั้งขึ้นเพื่อลดพื้นที่การปลูกยาสูบ ซึ่งเป็นต้นทางของปัญหาบุหรี่ ด้วยกระบวนการให้ความรู้พิษภัยวงจรยาสูบ และร่วมกันหาแนวทางสร้างอาชีพจากเศรษฐกิจทางเลือก โดยมีกลุ่มป้าหมาย เป็นครัวเรือนที่อยู่ในชุมชนที่ปลูกใบยาสูบเพื่อบริโภคเอง และครัวเรือนที่อยู่ในชุมชนที่ปลูกใบยาสูบเพื่อขายเป็นรายได้เสริมในพื้นที่จังหวัดสงขลา สตูล และพัทลุง
“โดยผลการดำเนินโครงการที่ผ่านมาในปี 2561-2564 จาก 16 ชุมชนที่เข้าร่วมโครงการในภาพรวมสามารถลดพื้นที่การปลูกยาสูบได้ถึง 6.92 ไร่ เทียบเท่าการลดจำนวนบุหรี่ลงได้ 276,800 มวน หรือ 13,844 ซอง โดยสนับสนุนให้ชาวไร่ยาสูบปลูกพืชทดแทน อาทิ ผักสวนครัวปลอดสารพิษ ต้นกาแฟ เพาะเห็ด ปลูกถั่วลิสง ต้นไผ่ และส้มจุก”นายไฟซอล กล่าว
พิษภัยของยาสูบนั้นไม่ได้สร้างเพียงผลกระทบในแง่ของสุขภาพ หากแต่ยังส่งผลกระทบไปถึงด้านสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม สสส. และภาคีเครือข่ายที่ขับเคลื่อนงานด้านการควบคุมยาสูบ ตระหนักถึงปัญหานี้ และมุ่งที่จะสร้างสังคมไทยให้เป็นสังคมไร้ควันบุหรี่ ลดจำนวนนักสูบหน้าใหม่ สร้างทางเลือกในการช่วยเหลือผู้ที่ต้องการเลิกบุหรี่ รวมทั้งสร้างสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการสร้างสุขภาวะที่ดีอย่างยั่งยืน