สร้างองค์กร ปชช.ขับเคลื่อนสำนึกปฏิรูปไทย
จิตสำนึก ทางรอดสุดท้ายของทุกปัญหา
หลายครั้งหลายหนที่ผมมีโอกาสไปนั่งฟังการสัมมนาหรืออภิปรายอันเกี่ยวกับประเด็นปัญหาเพื่อหาทาสงออกหรือแก้วิกฤตสังคมไทย แทบทุกเวทีไม่ว่าจะเป็นการเมือง สังคม หรือว่า เศรษฐกิจ มักจะหยิบยกแนวคิดหรือเสนอแนะช่องทางการแก้ปัญหาให้มีการตั้ง “องค์กรอิสระ” หรือ “องค์กรมหาชน” ก็แล้วแต่จะเรียกขานขึ้น
เพราะมีความเชื่อว่า องค์กรอิสระดังว่านี้จะมีอิสระในการบริหารจัดการปัญหา ไม่ติดยึดกับระบบระเบียบราชการแบบเก่า และเมื่อปลอดการแทรกแซงทางการเมืองหรือจากอิทธิพลอำนาจอย่างใด อย่างหนึ่ง ปมปัญหาก็จะได้รับการคลี่คลายทีละเล็กละน้อยในที่สุด
แต่ในระยะหลัง ก็มีไม่น้อยทีเดียวนะครับที่เห็นว่าเจ้าองค์กรอิสระนั้นดูหรูและไฮโซแต่ชื่อ ประมาณว่า จ้างคนเรียนสูงประวัติเยี่ยม ด้วยเงินเดือนเยอะ แต่ผลงานขี้ปะติ๋ว หรือไม่ปรากฏสัมฤทธิ์ผลเท่ากับทุนที่ลงไป เนื่องจากหยิบโหย่งทำงานไม่เป็น หรือบริหารงานบนกระดาษเท่านั้น
ทั้งๆ ที่ว่าไปแล้ว “องค์กรอิสระ” ได้รับการคาดหวังว่า เป็นองค์กรของรัฐที่ได้รับมอบหมายให้ดำเนินการเกี่ยวกับภารกิจของรัฐตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญและกฎหมาย โดยเป็นองค์กรของรัฐที่มีสถานะพิเศษ ซึ่งได้รับหลักประกันให้สามารถปฏิบัติภารกิจหน้าที่ได้โดยอิสระ ปลอดพ้นจากการแทรกแซงขององค์กรของรัฐอื่นหรือสถาบันการเมืองอื่น รวมทั้งอยู่เหนือกระแสและการกดดันใดๆ ที่เกิดขึ้นภายในสังคมในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง
แต่ชีวิตจริงกับอุดมการณ์มักจะเดินสวนทางกันครับ เพราะเอาเข้าจริงแล้ว องค์กรอิสระ ที่ทุกฝ่ายหวังว่าจะเป็นองค์กรตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ เป็นความหวังของสังคมประชาธิปไตยเป็นความจำเป็นของโลกปัจจุบัน มันก็ถูกกลืนกลับไปเข้าสู่ระบบอุปถัมภ์ ระบบราชการเหมือนเดิม ด้วยเพราะคนทำงานยังเป็นคนเดิมๆ ที่จิตสำนึกมิได้พัฒนาไปตามอุดมการณ์และลักษณะขององค์กรอิสระนั่นเอง
ลองพิจารณาก็ต้องยอมรับว่า องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญหรือตามสถานการณ์ที่เป็นไปนั้น มีที่ไหนบ้างเป็นอิสระจากเรื่องของที่มาและการเข้าสู่อำนาจของบุคคลที่เข้าทำหน้าที่ในองค์กรอิสระ มีองค์กรไหนเป็นอิสระในเรื่องการกำหนดนโยบายและการดำเนินงานขององค์กร รวมทั้งมีที่ใดกันที่มีอิสระในเรื่องงบประมาณ
นอกจากองค์กรอิสระแล้ว ดูเหมือนคำว่า “องค์กรมหาชน” ก็เป็นค่านิยมใหม่หรือฮิตติดตลาดนักการบริหารบ้านเมืองเหมือนกันด้วย แนวคิดและหลักการขององค์การมหาชนที่มีจำกัดความกันว่า
…องค์การมหาชน เป็นองค์กรของรัฐประเภทหนึ่งที่กำหนดขึ้นเพื่อทำบริการสาธารณะที่กฎหมายกำหนดให้เป็นหน้าที่ของรัฐที่ต้องการประสิทธิภาพสูง โดยมิได้ค้ากำไรจากการบริการ มีวัฒนธรรมองค์กรเยี่ยงภาคธุรกิจ ที่สามารถใช้ประโยชน์ทรัพยากรให้มีประสิทธิภาพสูงสุด ซึ่งมิอาจดำเนินการได้ในส่วนราชการซึ่งเป็นองค์การแบบราชการ (Bureaucratic model) องค์การมหาชนมีสถานะเป็นหน่วยงานของรัฐและเป็นนิติบุคคล จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติองค์การมหาชน พ.ศ.2542 และพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งหน่วยงาน เพื่อรับผิดชอบภารกิจของรัฐในการให้บริการสาธารณะหรือดำเนินกิจกรรมเฉพาะด้านที่ภาครัฐยังจำเป็นต้องดำเนินการและจัดให้มี หรือภาครัฐต้องมีบทบาทให้การสนับสนุนในเรื่องงบประมาณเพื่อให้เกิดการดำเนินงาน เป็นบริการในส่วนที่รัฐต้องการส่งเสริม หรือเป็นบทบาทของรัฐในการให้บริการการแทรกแซงตลาด หรือบริการที่ภาคเอกชนยังไม่สนใจหรือมีศักยภาพที่จะดำเนินการ…
แปลไทยเป็นไทยคือ เมื่อรัฐบาลมีนโยบายด้านใดด้านหนึ่งโดยเฉพาะเพื่อจัดทำบริการสาธารณะ องค์กรมหาชนจะเป็นเครื่องมือขับเคลื่อนนโยบายให้เป็นจริง แต่ก็อีกนั่นแหละ ตราบเท่าที่ผู้บริหารหรือคนทำงานในองค์กรมหาชน รวมทั้งองค์กรอิสระ ปราศจากจิตสำนึกตามอุดมการณ์หรือหลักการองค์กร ศักดิ์และสิทธิ์ขององค์กรอิสระและองค์กรมหาชนก็มิได้มีความหมาย นอกจากเป็นโอกาสอันดีที่ข้าราชการจะย้ายตัวเองมาใหญ่และกินเงินเดือนที่มากกว่าที่เก่าก็เท่านั้นเอง
ข้อเสนอของหลายคนเกี่ยวกับการตั้งองค์กรอิสระหรือองค์กรมหาชน เพื่อแก้ปัญหาหรือวิกฤตบางกรณี จึง “ถูกเบรก” ด้วยเหตุผลที่น่าสนใจและน่าสนับสนุนเป็นที่สุด เพราะมีการเล็งเห็นว่าหากภาคประชาชนตรวจสอบอำนาจรัฐกันเอง ด้วยการรวมกลุ่มหรือตั้งองค์กรตามธรรมชาติด้วยจิตสำนึกร่วมน่าจะมีพลังมากกว่าและรู้สึกรู้จริง ไม่ต้องพึ่งพิงจมูกองค์กรต่างๆ หายใจมากกว่า
องค์กรภาคประชาชน หรือ การสร้างระบบที่เรียกว่า Citizen Watch ไม่ใช่แค่อุดมการณ์ที่พุดกันให้สวยหรู เพื่อทำตัวเป็นจระเข้ขวางคลองของเหล่านักวิชาการ หรือนักพัฒนาสังคมอย่างแน่นอน เพราะมันมีตัวอย่างที่เห็นกันตามองค์กรชุมชนต่างๆ มาแล้ว
กรณีของ “ธนาคารคนจน” ของอาจารย์ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ ที่ผมเคยเขียนเล่าตรงนี้ หรือล่าสุด โครงการโภชนาการทางเลือกด้วยภูมิปัญญาท้องถิ่นขององค์การบริหารส่วนตำบลปากพูนอำเภอเมือง นครศรีธรรมราช ที่ผมเพิ่งเขียนขยายให้เห็นในหัวเรื่อง “ชุมชนเข้มแข็ง ทุกวิกฤต…ซ่อมได้” ก็เป็นประสบการณ์ตรงที่พิสูจน์ทราบแล้วว่า องค์กรภาคประชาชนต่างหากที่จะแก้ปัญหาได้อย่างยั่งยืนและถาวร
“นมโรงเรียนบูดหรือมีปัญหาแก้ง่ายครับ ที่ปากพูนเราเลี้ยงโคนมเอง เด็กได้กินนมสดๆ ตามนโยบายรัฐบาล ไม่จำเป็นต้องมี อย. หรือผ่านพาสเจอไรซ์ เพราะถ้าเด็กท้องเสีย พ่อแม่เด็กตีกบาล คนส่งนมแน่ ไม่ต้องตั้งคณะสอบสวนรอผล 7 วัน 10 วันหรอกครับ เราตรวจสอบกันเอง แล้วเงินก็ไม่รั่วไหลไปทางไหน ลูกหลานก็แข็งแรงได้” นี่คือคำบอกเล่า ที่ชี้ให้เห็นว่า องค์กรภาคประชาชนที่มีจิตสำนึกต่างหากที่จะเป็นทางรอดของทุกปัญหา
แทนที่จะไปตั้งองค์กรอสิระ องค์กรมหาชน หากรัฐจะส่งเสริมสนับสนุนหรือให้ความรู้กับภาคประชาชน ชุมชน หมู่บ้านตำบล ตั้งและสร้างองค์กรที่เข้มแข็งดูแล ตรวจสอบกันเอง น่าจะดีกว่าครับ เพราะถึงที่สุดแล้ว คงไม่มีใครรู้ปัญหา หรือเข้าใจความต้องการของชาวบ้านได้ดีกว่าชาวบ้านด้วยกันเอง
องค์ความรู้ในการสร้างระบบ Citizen Watch เชื่อว่า ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง หรือแม้แต่ชาวบ้านเองก็ต้องขวนขวายร่วมมือทำให้เป็นจริง หากเห็นตัวอย่างที่ดีและเข้าใจในข้อเท็จจริง สำหรับผมก็จะทำหน้าที่เป็น Watch Dog ต่อไป ถึงเสียงจะแหบแห้งคอเจ็บสักแค่ไหนก็ตามขอรับกระผม
ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์
Update 15-03-53
อัพเดทเนื้อหาโดย : อารยา สิงห์สวัสดิ์