สร้างองค์กรแห่งความสุข เพื่อชีวิตที่ดี

          ชีวิตการทำงาน ไม่ว่าองค์กรหรือหน่วยงานใด หากมีคุณภาพชีวิตการทำงานที่ดีคนทำงานมีความสุข ย่อมทำให้องค์กรนั้นเป็นสุขและก้าวหน้าได้


          ด้วยความปรารถนาที่จะเสริมสร้างสมดุลแห่งความสุขระหว่างชีวิตและการทำงานให้กับบุคลากรในองค์กร โดยไม่เว้นแม้แต่องค์กรภาครัฐสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จึงร่วมกับสถาบันวิจัยสังคมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจัดทำ 'แผนงานสร้างเสริมคุณภาพชีวิตการทำงานองค์กรภาครัฐ' โดยให้ความสำคัญต่อการพัฒนาองค์กรภาครัฐให้เป็นองค์กรเครือข่ายแห่งความสุข อีกทั้งแลกเปลี่ยนเรียนรู้การทำงานด้านสุขภาวะของแต่ละองค์กรร่วมกัน


/data/content/25643/cms/e_defnopqrsuw1.jpg


          สุจิตต์ ไตรพิทักษ์ กรรมการบริหารแผนคณะที่ 4 แผนสร้างเสริมสุขภาวะองค์กรสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า เป็นการส่งเสริมและสร้างคุณภาพชีวิตให้กับบุคลากรในองค์กรภาครัฐเหมือนเป็นการคืนความสุขให้กับคนทำงานโดยมีแนวคิดสำคัญว่าจะทำอย่างไร ให้บุคลากรของรัฐมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีความสุขเพิ่มขึ้นและส่งผลไปยังบริการภาคประชาชนได้ดีขึ้นด้วย


          สุจิตต์ กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า ปัจจุบันมีหน่วยงานภาครัฐเข้าร่วมเป็นเครือข่ายองค์กรแห่งความสุขนำร่อง18องค์กรอย่างเช่นกรมสุขภาพจิต กรมราชทัณฑ์ กรมชลประทานกรมประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาซึ่งหลังจากดำเนินงานมากว่า 1 ปี ทุกองค์กรมีความตื่นตัวต่อการพัฒนาบุคลากรของตนเองมากขึ้น ส่วนความคาดหวังในอนาคตคืออยากให้องค์กรหรือหน่วยงานภาครัฐทั่วประเทศเห็นความสำคัญของการสร้างสุขภาวะทางกายและจิตใจที่ดีของบุคลากรในองค์กรตนเองด้วย


 /data/content/25643/cms/e_achklptxy369.jpg         ด้านนายแพทย์ชาญวิทย์ วสันต์ธนารัตน์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะองค์กรสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)ให้คำแนะนำเกี่ยวกับการสร้างองค์กรแห่งความสุข ต้องเริ่มจากความสุขคนทำงานว่าคนทำงานร่วมกันเป็นหัวใจหลักต่อการสร้างความสุขในองค์กร แต่ปัญหาที่มักจะเกิดขึ้นในองค์กรคือ ช่องว่างระหว่างวัยของคนทำงานร่วมกัน ที่ทำให้มีทัศนคติการทำงานต่างกันโดยสิ้นเชิง


          "4 หลักการสร้างความสุข ในองค์กรภาครัฐหลักการแรกคือ พัฒนาองค์กรซึ่งต้องทำงานร่วมกันเป็นทีม ต่อมาคือ งานที่ทำต้องเกิดประโยชน์และสามารถต่อยอดผลงานได้ ควรทำงานให้มีขั้นตอนที่เข้าใจง่ายไม่ยุ่งยากซับซ้อน และหลักสำคัญที่สุดคือ ต้องลงมือทำงานด้วยตัวเอง" นายแพทย์ชาญวิทย์ แนะนำ ทิ้งท้าย


          ด้านนักทรัพยากรบุคคลปฏิบัติการกรมชลประทาน และเจ้าหน้าที่โครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตบุคลากร กรมชลประทานอย่าง อัจฉรา พุฒิมา หรือ มิ้นบอกว่าการพัฒนาคุณภาพชีวิตของบุคลากรเริ่มจากเจ้าหน้าที่โครงการฯ จะให้ความรู้กับผู้ปฏิบัติงานด้านคุณภาพชีวิตของคนในหน่วยงานย่อยทั้ง 36 หน่วยงานของกรมฯ หลังจากนั้นก็จะคิดรูปแบบกิจกรรมที่เหมาะสมกับคนในหน่วยงาน ซึ่งส่วนใหญ่มักประสบปัญหาด้านสุขภาพและการเงิน


          อัจฉราเล่าต่อว่า กิจกรรมด้านสุขภาพมีการสอนโยคะ การอบรมด้านสุขภาพ อย่างการอบรมกินอย่างไรห่างไกลโรค ส่วนด้านการเงินจะมีเจ้าหน้าที่ให้ความรู้เกี่ยวกับการวางแผนด้านการเงินส่วนบุคคลนอกจากนี้ยังมีกิจกรรมคลายเครียดอย่าง การสอนทำดอกไม้ประดิษฐ์การจัดตลาดนัดมือสอง ซึ่งหลังจากการดำเนินงานสิ่งที่เห็นได้ชัดเจนคือ คุณภาพชีวิตของบุคลากรมีแนวโน้มดีขึ้นต่อเนื่องและประสิทธิภาพการทำงานก็ดีขึ้น


 


 


          ที่มา : หนังสือพิมพ์บ้านเมือง

Shares:
QR Code :
QR Code