สร้างสุขภาวะสถานพยาบาล
ระยะหลังๆ มานี้เรามักจะได้ยินคำว่า “สุขภาวะ” บ่อยขึ้นอันเนื่องมาจากการรณรงค์สร้างสรรค์ของ สสส.ที่จะให้สังคมหันมามองถึงเรื่องสุขภาวะซึ่งมีความจำเป็นต่อคนทุกคนในสังคมได้ตระหนักถึงประโยชน์และคุณค่าของสุขภาวะอย่างแท้จริง
คนส่วนใหญ่มักจะมอง หรือ มีความคิดรวบยอดของคำว่า “สุขภาวะ” ไปในเรื่องที่เกี่ยวกับสุขภาพเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่สุขภาวะ ยังครอบคลุมไปถึงบริบทรอบๆ ด้านที่เกี่ยวกับ สิ่งแวดล้อม การเกิดประโยชน์ในการใช้งาน ซึ่งทุกสิ่งทุกอย่างจะเอื้อประโยชน์ต่อกันอย่างกลมกลืน
โรงพยาบาล จึงเป็นสถานที่ที่จะต้องคำนึงในเรื่องของ สุขภาวะเป็นสำคัญ เนื่องจากโรงพยาบาลเป็นสถานที่ ที่ให้
บริการโดยตรงเกี่ยวกับการรักษาพยาบาล และสร้างเสริมสุขภาพที่ดีให้กับประชาชน แต่กลับพบว่า โรงพยาบาลจำนวนมากมีลักษณะบางอย่างที่เป็นอุปสรรคต่อความสะดวกและความปลอดภัยของการบริการทางสุขภาพ นั่นหมายถึงว่า โรงพยาบาลยังขาดการออกแบบที่เป็น “สุขภาวะ” อันสมบูรณ์
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) ร่วมกับโครงการวิจัยสิ่งแวดล้อมสรรค์สร้างเพื่อสุขภาวะ ทำกรณีศึกษา สถานพยาบาล คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ด้วยการจัดเสวนา “การออกแบบอย่างมีส่วนร่วมเพื่อสร้างสุขภาวะในสถานพยาบาล” เพื่อเผยแพร่องค์ความรู้ด้านการออกแบบทางภูมิสถาปัตย์ให้เอื้อต่อการมีสุขภาวะในสถานพยาบาลให้ขยายออกไปอย่างมีประสิทธิภาพ
นพ.ชาญวิทย์ วสันต์ธนารัตน์ ผอ.สำนักพัฒนาระบบสุขภาพ สสส. กล่าวถึงเรื่องของ สุขภาวะ ว่าสุขภาวะในโรงพยาบาลไม่ได้หมายถึงเรื่องสุขภาพเพียงอย่างเดียวแต่หมายถึงสุขภาวะในเชิงมิติของสิ่งแวดล้อม รวมไปถึงการจัดพื้นที่ให้เหมาะสม เอื้อต่อความเป็นอยู่ดีขึ้น ทั้งคนทำงานและผู้ใช้บริการ ซึ่งการออกแบบอย่างมีส่วนร่วมต้องมีมิติของสุขภาวะที่ดี ซึ่งการจะเปลี่ยนแปลง หรือ สร้างสรรค์ให้เกิด สุขภาวะที่ดีในโรงพยาบาล ไม่จำเป็นต้องสร้างตึกใหม่ เพียงแค่ปรับเปลี่ยนสิ่งแวดล้อมต่างๆให้สอดคล้องกับบริบทของผู้ใช้ชีวิตในพื้นที่ได้เป็นอย่างดีเท่านั้น
ดร.สายทิวา รามสูต หัวหน้าภาควิชาสถาปัตยกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์หัวหน้าโครงการฯ ได้อธิบายถึงเรื่องนี้เช่นกัน ว่า การออกแบบอย่างมีส่วนร่วมคือแนวคิดการให้ผู้ใช้บริการสถานพยาบาลเข้ามามีส่วนร่วมในการออกแบบสิ่งแวดล้อมให้เอื้อต่อสุขภาวะ จนสามารถเยียวยาจิตใจของผู้ป่วยได้อีกทางหนึ่ง ซึ่งทางโครงการได้รับความร่วมมือจากโรงพยาบาลดำเนินสะดวก จังหวัดราชบุรี และโรงพยาบาลแหลมฉบัง จังหวัดชลบุรีเป็นพื้นที่นำร่อง
ดร.สายทิวา เล่าต่อว่า จากการที่ได้ร่วมทำกิจกรรมกับผู้ใช้พื้นที่โรงพยาบาลทั้งสองแห่งเราได้เห็นปัญหาสำคัญคือ การนำแบบโรงพยาบาลมาตรฐานจากส่วนกลางไปใช้ทั้งที่แบบของอาคารไม่อาจประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับทุกพื้นที่ได้ ทำให้การใช้งานจริงไม่มีประสิทธิภาพ ขณะเดียวกันความต้องการของบุคลากรมีความแตกต่างหลากหลายแม้จะอยู่ในโรงพยาบาลเดียวกัน อย่างไรก็ตามหลายปัญหาได้รับการแก้ไข หลังจากออกแบบการใช้งานใหม่ อย่างเช่น การปรับปรุง
เคาน์เตอร์ให้บริการกลาง เพื่อเป็นจุดประชาสัมพันธ์ จุดคัดกรองจัดผังที่นั่งให้สอดคล้องกับทิศทาง และลำดับการให้บริการ เพื่อสร้างความสะดวกให้ผู้ใช้บริการ รวมทั้งจัดทำป้ายสัญลักษณ์บอกทาง เพื่อลดปัญหาความแออัด เป็นต้นทำให้การดำเนินการรักษาพยาบาลสะดวกและรวดเร็วขึ้น
ด้าน นายขวัญชัย กาแก้ว อาจารย์ประจำสาขาวิชาภูมิสถาปัตยกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ หนึ่งในคณะทำงานเสริมว่าลักษณะสิ่งแวดล้อมของสถานพยาบาลที่ดีควรประกอบไปด้วย การวางผังที่
มีประสิทธิภาพ มีความยืดหยุ่น และเตรียมพร้อมสำหรับการขยายตัวในอนาคต มีสภาพแวดล้อมที่ช่วยส่งเสริมกระบวนการบำบัดรักษา มีการคำนึงถึงความยั่งยืนของสภาพแวดล้อม ให้ความสำคัญกับความสะอาดถูกสุขลักษณะปลอดภัย และได้จัดเส้นทางการสัญจรให้เอื้อต่อการใช้งานไม่ทับซ้อนและมีสุนทรียภาพสวยงาม
“อยากให้ทุกคนตระหนักถึงประเด็นสุขภาวะและสุนทรียภาพ ว่า ไม่ใช่แค่เรื่องความสวยงามอย่างเดียว แต่ต้องใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งการเปลี่ยนแปลงไม่จำเป็นต้องสร้างตึกใหม่ แต่ปรับเปลี่ยนการจัดวางสิ่งของให้เหมาะสมมากขึ้นโดยที่ทุกคนสามารถออกแบบร่วมกันได้”นายขวัญชัย สรุป
ดังนั้น การออกแบบ หรือสร้างสรรค์ให้ โรงพยาบาลเป็นสถานที่ที่มีสุขภาวะ ที่เหมาะสมจึงเป็นความสำคัญต่อคนทุกคนทั้งผู้ใช้บริการ และผู้ที่ทำงานอยู่ในโรงพยาบาล ดังนั้นการต่อยอดองค์ความรู้ทางภูมิสถาปัตย์เพื่อให้เกิดสุขภาวะที่ดี จึงเป็นความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องให้เกิดมีขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม
ที่มา : หนังสือพิมพ์แนวหน้า