สร้างสุขภาวะทางปัญญากับสังคมไทย
ที่มา : หนังสือพิมพ์แนวหน้า
ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ
การรู้เท่าทันสื่อ ถ้าจะพูดสั้นๆ แบบบ้านๆ น่าจะหมายถึงว่า การที่เราได้สัมผัส กับสื่อแล้ว เราสามารถแยกแยะความถูกต้อง ความผิดพลาด หรือ กลยุทธ์ของคนทำ สื่อว่ามีอะไรซ่อนไว้ข้างหลังบ้าง ทั้งนี้เพราะสื่อมีพลังในการสร้างความขับเคลื่อนได้สูงมาก หากเราไม่สามารถรู้เท่าทันสื่อ วันนั้นเราก็จะกลายเป็นทาสของสื่อไปอย่างไม่รู้ตัว
เมื่อไม่นานมานี้ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้จัดเวที Exclusive Interview เพื่อร่วมพูดคุย ส่งเสริม 4 ทักษะสร้างพลเมืองตื่นรู้ พร้อมต่อยอดส่งเสริม คนไทยฉลาดใช้สื่อเป็นเครื่องมือ นำไปสู่วิถีชีวิตสุขภาวะ โดยตั้งเป้าปั้นนักสื่อสารสุขภาวะ กว่า 3,600 คน ครอบคลุม 45 จังหวัดทั่วประเทศ ภายในปี'63
ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า การขับเคลื่อนการทำงานของ สสส. ครอบคลุมทั้ง 4 มิติ คือ กาย จิต สังคม ปัญญา โดยการทำงานต้องอาศัยการขับเคลื่อนสังคม ข้อมูลวิจัยการ นโยบาย และที่สำคัญ คือ การขับเคลื่อนสังคมผ่านการรณรงค์ผ่านสื่อมวลชน ซึ่ง ทั้ง 3 หลักต้องทำงานร่วมกัน โดยผ่านเครือข่ายภาครัฐ เอกชน ประชาสังคม ซึ่งในการขับเคลื่อนต้องมีการทำงานในรูปแบบที่แตกต่างกัน โดยมีทั้งเรื่องระเบียบ นโยบาย หรือลงสู่ ภาคประชาสังคม โดยดูแลทุกช่วงวัย ตั้งแต่ เริ่มตั้งครรภ์ จนถึงเสียชีวิต ชี้ให้เห็นว่า สสส. ต้องทำงานด้านสุขภาพทุกวินาที ทุกช่วงสุขภาพ ทั้งเรื่องเหล้าบุหรี่ การมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอ การเข้าถึงอาหารที่ถูกหลักอนามัย การขับเคลื่อนทำงานในกลุ่มเด็กเยาวชน ตลอดจนภาคพื้นที่ โดยมุ่งหวังให้คนไทยเปลี่ยนพฤติกรรม แต่การเปลี่ยน ต้องอาศัยด้านนโยบาย การจัดการสิ่งแวดล้อม และมีการสนับสนุนสื่อต่างๆ ด้วย
ด้วยเหตุนี้ เราจึงได้เห็นการทำสื่อที่ สสส.ปล่อยออกมาสู่สังคม ทั้งสื่อโฆษณา วิทยุ หรือสื่อสิ่งพิมพ์ต่างๆ จึงต้องอาศัย ความละเอียด เป็นรูปแบบของงานวิจัย มีการทดลองให้กลุ่มเป้าหมายเข้ามาศึกษาก่อน เพื่อใช้รณรงค์ให้คนเกิดการเปลี่ยนแปลง ด้านสุขภาพอย่างมีคุณภาพ ผ่านสื่อการรับรู้ การฟัง การตื่นรู้ และให้สอดคล้องกับ สื่อในยุคปัจจุบัน
ที่สำคัญพร้อมส่งเสริมศักยภาพ "ผู้ใช้สื่อ" สู่การเป็น "พลเมืองตื่นรู้และนักสื่อสารสุขภาวะ ที่สมบูรณ์" โดยใช้กลไก ที่มีทักษะ 4 ด้านสำคัญ คือ 1.การรู้เท่าทันสื่อ สารสนเทศ และดิจิทัล (MIDL – Media, Information and Digital Literacy) 2. การสื่อสารและการสร้างความร่วมมือ 3.การเป็นผู้นำเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลง 4.การตระหนักรู้เท่าทันและการสะท้อนความคิด
คุณเข็มพร วิรุณณราพันธ์ ผู้จัดการ สถาบันสื่อเด็กและเยาวชน (สสย.) กล่าวเสริมว่า อิทธิพลของสื่อ เมื่อวิเคราะห์ในระบบการใช้สื่อในชีวิตของเด็กแล้ว พบว่า นอกจากสื่อที่เป็นโซเชียลมีเดียแล้ว ยังมีสื่อรอบตัว เช่น พ่อแม่ เพื่อน คุณครู คนในชุมชน บุคคลที่ได้พบเจอ และสื่อสิ่งพิมพ์ สื่อศิลปะชุมชน สื่อทางเลือก สื่อพื้นบ้าน ซึ่งสิ่งที่เด็กเห็นอยู่ทุกวันนี้เป็น ส่วนหนึ่งของการเรียนรู้ มีอิทธิพลต่อการนึกคิด ในการหล่อหลอม เติบโตไปเป็นแบบอย่างที่ดีในสังคม เพราะฉะนั้นสื่อที่ สสส. จัดทำจึงต้องมีความละเอียดในการสร้างให้เด็กมีสุขภาวะที่ดี โดยเริ่มจากปัจจัยสิ่งแวดล้อมรอบตัวเด็ก มีสื่อ ที่หลากหลายรูปแบบเติบโตมากับเด็ก ส่งผล ให้การจัดการสื่อมีคุณภาพมากขึ้น ที่สำคัญเด็กสามารถเป็นผู้สร้างสรรค์ออกแบบสื่อเองได้ เป็นการสร้างสุขภาวะที่ดีให้กับเด็ก ที่ส่งต่อไปถึงคนในครอบครัว ชุมชน จึงทำให้เกิดพื้นที่สื่อหลากหลายรูปแบบ เกิดการมีส่วนรวมของเด็กและเยาวชน โดยมีแนวคิดที่ทำให้เด็กเป็นผู้รับสื่ออย่างเข้าใจ และมีบทบาทเป็นนักสื่อสารสุขภาวะด้วยตัวเด็กเองนี้ เราจะเน้นในกลไก 3 E คือ (Empower) พัฒนาศักยภาพของนักสื่อสารสุขภาวะ ผู้นำการเปลี่ยนแปลงด้านสื่อและวิถีสุขภาวะทางปัญญา (Engagement) พัฒนากลไกและปัจจัยแวดล้อมที่สร้างการมีส่วนร่วมทุกระดับ และ (Enable) จัดให้มีทรัพยากรและ ช่องทางสื่อสารแผนระบบสื่อและวิถีสุขภาวะทางปัญญา ซึ่งกลไก 3 E นี้จะช่วยให้เด็กเปลี่ยนวีธีคิด คือ เข้าใจตัวเองมากขึ้น มีพลังที่จะสร้างการสื่อสารที่ดีได้ โดย ปัจจุบัน สสส.มีการขับเคลื่อนโครงการมหัศจรรย์สื่อสร้างสรรค์ในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กในศูนย์ เด็กเล็กกว่า 500 ศูนย์ โดยให้คุณครูนำสื่อ ภูมิปัญญาที่มีอยู่ในชุมชน เข้ามามีส่วนร่วม ให้เด็กได้เรียนรู้ผ่านสื่อการอ่าน สื่อกิจกรรม ให้เด็กเกิดการพัฒนาด้วยตัวเอง เกิดการเรียนรู้ การมีกิจกรรมทางกาย มีการเล่น อย่างอิสระ และเกิดสุขภาวะ จนเกิดเป็น สื่อดี พื้นที่ดี ภูมิดี สร้างเด็กให้มีพลังเป็นฐานของการเติบโตเป็นเยาวชนที่มีคุณภาพชีวิตที่ดีเป็นนักสื่อสารที่ดีในอนาคตต่อไป
ดร.สรยุทธ รัตนพจนารถ ผู้อำนวยการ ร่วมโครงการธนาคารจิตอาสา ขยายความของคำว่า "การมีสุขภาวะทางปัญญา" ว่า เป็นสุขภาวะด้านบวก ที่มีตัวอย่างให้เห็นเมื่อเร็วๆ นี้คือ ทีมหมูป่าที่ติดในถ้ำหลวง บุคคลเหล่านี้แสดงให้เห็นว่า การอยู่ในนั้นอย่างมีสติได้ คือ การที่มีสุขภาวะทางปัญญาที่ดี ซึ่งเป็นทักษะพื้นฐานของพลเมืองตื่นรู้ เป็น นักสื่อสารสุขภาวะที่ดี ความสามารถในการรู้เท่าทันตนเอง ผ่านการภาวนา ทำให้เกิดจิตใจที่สงบ สามารถอยู่ในสภาวะเงื่อนไขที่กดดันได้ ทุกอย่างมันเป็นการแบ่งปันต่อกันเข้าใจในความจริง การดำเนินชีวิต จนเกิดสุขจากภายใน ที่ไม่ได้เกิดจากสิ่งของ หรือต้อง ร่ำรวย ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ ไม่ว่า จะมี สภาพร่างกายเจ็บป่วยหรือแข็งแรงดี ก็สามารถ มีสุขภาวะทางปัญญาที่ดีได้
หนึ่งในงานหลักที่ สสส. พยายาม ขับเคลื่อนกับภาคีเครือข่าย คือ งานธนาคาร จิตอาสา เพื่อสนับสนุนให้สังคมไทยดีขึ้น โดยให้ทุกคนลุกขึ้นมาเป็นผู้ช่วยกันสร้างสุขภาวะ และช่วยฟื้นฟูงานอาสาสมัคร จนเกิดแผนงานจิตอาสาเพื่อสุขภาพ ซึ่งเป็นแผนงานที่ส่งเสริมเรื่องสุขภาวะทางปัญญา โดยสร้างโครงสร้างเครือข่ายจิตอาสาขึ้นมา เพื่อไม่ให้สังคมจิตอาสาหายไป และเกิดเมล็ดพันธุ์แห่งปัญญา เป็นผู้ตื่นรู้ในการทำงานจิตอาสาได้เกิดประสบการณ์ตรงในการช่วยเหลือคนต่อไป