สร้างสังคมไทยไร้ควันบุหรี่

เรื่องโดย ปัญจวรา บุญสร้างสม Team Content www.thaihealth.or.th


ข้อมูลบางส่วนจาก งานประชุมวิชาการบุหรี่ หรือสุขภาพเอเชียแปซิฟิก ครั้งที่ 13 (13th APACT 2021 Bangkok) และมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่


ภาพโดย ชยวี ลิ้มถาวรรักษ์ Team Content www.thaihealth.or.th สสส. และแฟ้มภาพ


สร้างสังคมไทยไร้ควันบุหรี่  thaihealth


ปัญหาการสูบบุหรี่นับเป็นปัญหาที่คงอยู่ในสังคมไทยมาอย่างยาวนาน แม้ทุกคนจะทราบดีว่าผลกระทบจากการสูบบุหรี่นั้นมีมากมายเพียงใด แต่ถึงอย่างนั้นตัวเลขของผู้สูบบุหรี่ในประเทศไทยก็ยังถือว่าสูงอยู่มาก โดยพบว่า 17.4 % ของคนไทยยังสูบบุหรี่อยู่ หรือคิดเป็นจำนวนมากถึงเกือบ 10 ล้านคน ซึ่งถือเป็นสาเหตุของการเกิดปัญหาควันบุหรี่มือสองและมือสามตามมาด้วย


ควันบุหรี่นั้นมีสารเคมีกว่า 7,000 ชนิด เป็นสารพิษ 250 ชนิด และสารก่อมะเร็งกว่า 70 ชนิด ก่อให้เกิดผลกระทบต่อร่างกายทั้งระยะสั้นและระยะยาว ในระยะสั้น สารเคมีในบุหรี่เมื่อเจอกับความชื้นของร่างกายจะเปลี่ยนสภาพกลายเป็นกรด ทำให้ระคายเคืองตาถ้าควันเข้าตา และทำให้เนื้อปอดอักเสบ ส่วนผลกระทบระยะยาวนั้น คือ เป็นต้นเหตุของโรคร้ายต่าง ๆ ที่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพ เช่น โรคปอด โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคมะเร็ง รวมทั้งเพิ่มความเสี่ยงการติดเชื้อโควิด-19 ที่กำลังแพร่ระบาดอยู่ในขณะนี้ด้วย


ในปัจจุบันด้วยกลยุทธทางการตลาดของธุรกิจอุตสาหรรมยาสูบได้สร้างความเข้าใจและค่านิยมใหม่ว่า ผู้ที่อยากเลิกบุหรี่สามารถเลิกได้โดยการหันมาสูบบุหรี่ไฟฟ้าแทน ซึ่งมีความปลอดภัยมากกว่า ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว พฤติกรรมการเสพติดนิโคตินทุกชนิดต่างก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพทั้งนั้น


ด้วยความตระหนักถึงพิษภัยอันตรายที่เกิดขึ้นของหลายภาคส่วนทั่วโลก จึงเป็นที่มาของงานประชุมวิชาการบุหรี่ หรือสุขภาพเอเชียแปซิฟิก ครั้งที่ 13 (13th APACT 2021 Bangkok) ซึ่งจัดขึ้นมาอย่างต่อเนื่องและยาวนาน  โดยในครั้งนี้ได้รับความร่วมมือและการสนับสนุนจากภาคีต้านบุหรี่ 4 พันคนทั่วโลกเข้าประชุม เพื่อร่วมกำหนดอนาคตสังคมไร้ยาสูบ (Smoke free Society) อัพเดตบุหรี่เชื่อมโยงโควิด-19 ร่วมประกาศปฏิญญาเรียกร้อง 17 ข้อ พร้อมทั้งนำงานวิจัยมาปรับแผนการควบคุมยาสูบในไทย เพิ่มความเข้มแข็งของเครือข่ายโดยเฉพาะเยาวชนที่จะเข้ามารับไม้ต่อ เพื่อสร้างอนาคตสังคมไร้ยาสูบ


สร้างสังคมไทยไร้ควันบุหรี่  thaihealth


ศ.นพ.รณชัย คงสกนธ์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ในฐานะประธานจัดงานประชุม 13th APACT 2021 Bangkok กล่าวว่า งานประชุม 13th APACT 2021 ครอบคลุมทั้งเรื่องการแลกเปลี่ยนเรียนรู้บทเรียนการทำงานด้านควบคุมยาสูบของประเทศต่างๆ การจัดการภาษี การรณรงค์ การทำความเข้าใจกับนวัตกรรมยาสูบแบบใหม่ทั้งบุหรี่ไฟฟ้าและอื่น ๆ การรวมเครือข่ายนานาชาติ ทั้งเครือข่ายมหาวิทยาลัยแพทย์ในภูมิภาคอาเซียน และเครือข่ายเยาวชน โดยมีเอกสารคัดย่อทางวิชาการ งานวิจัยมากกว่า 300 ชิ้น ซึ่งการประชุมนี้ จะได้ข้อสรุปที่ใช้เป็นแนวทางในการขับเคลื่อนงานควบคุมบริโภคยาสูบระดับนานาชาติและของประเทศไทย เพื่อเป็นแนวทางการขับเคลื่อนงานร่วมกันในภูมิภาคและประเทศต่อไป


สร้างสังคมไทยไร้ควันบุหรี่  thaihealth


ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ กล่าวว่า สสส. มีความมุ่งมั่นที่ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการควบคุมยาสูบสู่ Smoke Free Thailand เพื่อนำไปสู่ฉากทัศน์ของอนาคต Tobacco Endgame และ Smoke Free Generation เพื่อลดปริมาณการบริโภคยาสูบให้เป็นศูนย์ สถานการณ์การสูบบุหรี่ของคนไทยมีแนวโน้มดีขึ้น โดยมีคนสูบบุหรี่ลดลงมาตลอด ผลสำรวจเบื้องต้นจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี 2564 พบอัตราการสูบบุหรี่ของประชากรอายุ 15 ปีขึ้นไปลดเหลือ ร้อยละ 17.4 ลดลงจาก ร้อยละ 19.1 ในปี 2560 ขณะที่ผลการดำเนินงานควบคุมยาสูบของไทยตั้งแต่ปี 2554-2560 ทำให้มีคนสูบบุหรี่ลดลงเฉลี่ย 72,319 คนต่อปี


ปัจจัยสำคัญที่ทำให้คนไทยสูบบุหรี่ลดลง คือ การมีนโยบายควบคุมยาสูบที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งเป็นผลมาจากการพัฒนาองค์ความรู้ งานวิจัยที่ทันสมัย ทันสถานการณ์  ทั้งนี้ สสส. ขับเคลื่อนมาตรการสังคมไทยปลอดควันบุหรี่มาตลอดเกือบ 20 ปี มุ่งให้ความสำคัญการพัฒนางานวิจัยสามารถนำไปใช้ได้ทั้งการพัฒนานโยบาย การวางแผนขับเคลื่อนงานร่วมกับกลุ่มต่างๆ ในสังคม ทำให้แก้ปัญหาได้ตรงจุด และการสื่อสารรณรงค์สังคม ที่ให้ความสำคัญการป้องกันนักสูบหน้าใหม่ โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กและเยาวชน


สร้างสังคมไทยไร้ควันบุหรี่  thaihealth


รศ.นพ.สุทัศน์ รุ่งเรืองหิรัญญา หัวหน้าภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ในฐานะรองประธานเครือข่ายวิชาชีพแพทย์ในการควบคุมการบริโภคยาสูบ แพทยสมาคมแห่งประเทศไทยฯ กล่าวว่า ถือเป็นโอกาสอันดีของประเทศไทยที่มีโอกาสได้เป็นเจ้าภาพจัดงานประชุมวิชาการบุหรี่ หรือสุขภาพเอเชียแปซิฟิก APACT 2021 ซึ่งในการประชุมครั้งนี้ได้ร่วมกันประกาศปฏิญญาเพื่อการควบคุมยาสูบ โดยมุ่งเป้าไปที่การหยุดยาสูบเพื่อหยุดการระบาดใหญ่ของโควิด-19 โดยเรียกร้องให้รัฐบาลไทยดำเนินตาม 17 มาตรการ เพื่อเร่งกระบวนการ Tobacco Endgame พร้อมข้อแนะนำการลดอุปสงค์อุปทานยาสูบ ได้แก่


1. การระดมการรณรงค์สื่อสารมวลชนทั่วประเทศ เพื่อช่วยเน้นย้ำเรื่องความเสี่ยงโควิด-19 ที่เพิ่มขึ้นกับการสูบบุหรี่และผลิตภัณฑ์ยาสูบทุกประเภท


2. ควรจัดประเภทผลิตภัณฑ์ยาสูบทั้งหมดรวมทั้งบุหรี่ไฟฟ้า และอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องให้เป็นผลิตภัณฑ์ที่ไม่จำเป็นและเป็นอันตรายในช่วงการระบาดใหญ่


3. ควรจัดให้มีบริการเลิกบุหรี่ทางโทรศัพท์ให้แก่ผู้สูบบุหรี่ที่ติดเชื้อโควิด-19 ให้สามารถเข้าถึงบริการได้ทั้งกลุ่มที่กักตัวที่บ้าน หรือรักษาตัวที่โรงพยาบาล


4. จัดตั้งเครือข่ายวิชาชีพด้านสุขภาพในระดับภูมิภาค เพื่อเสริมสร้างการควบคุมยาสูบในภูมิภาคให้เข้มแข็ง


5. ขอเรียกร้องต่อรัฐบาล หน่วยงานองค์กร และภาคส่วนต่าง ๆ เพื่อสร้างสังคมปลอดควันบุหรี่ (Smoke free Society) โดยพุ่งเป้าไปที่การกำหนดให้ Tobacco Endgame ถูกบรรจุในแผนยุทธศาสตร์ชาติ และเป็นวาระแห่งชาติ เพื่อให้ทุกภาคส่วนของสังคมร่วมกันสร้างสังคมปลอดบุหรี่ และเรียกร้องให้ทุกภาคส่วนในสังคมร่วมสร้างสังคมปลอดบุหรี่อย่างจริงจัง


สร้างสังคมไทยไร้ควันบุหรี่  thaihealth


นายสุวินัย จิระบุญศรี นักศึกษาแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตัวแทนเยาวชนไทยเข้าร่วมประชุม Youth Program of APACT 2021 กล่าวว่า กลุ่มเครือข่ายเยาวชนไทยและเยาวชนนานาชาติ ขอประกาศปฏิญญาขอเรียกร้องให้มีการดำเนินการ เพื่อนำไปสู่เป้าหมายสร้างสังคมปลอดบุหรี่อย่างยั่งยืน 5 ประการคือ สร้างพื้นที่ปลอดภัย สร้างค่านิยมและให้ความรู้แก่เยาวชนอย่างถูกต้อง ในเรื่องพิษภัยของบุหรี่เพื่อรู้เท่าทันอุตสาหกรรมยาสูบ


ขอเรียกร้องให้ผู้มีอำนาจในการกำหนดนโยบาย ดำเนินการระงับการขายบุหรี่ไฟฟ้าออนไลน์ การโฆษณาออนไลน์อย่างโปร่งใส ตรงไปตรงมา ปรับปรุงกฎหมายกำกับและระงับการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ยาสูบผ่านสื่อ Social media ทุกช่องทาง และสนับสนุนให้เยาวชนมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบาย เป็นหนึ่งในกรรมการของกิจกรรมการควบคุมการบริโภค ยาสูบ และในฐานะที่เยาวชนคือ “เหยื่อ” คนสำคัญของอุตสาหกรรมยาสูบ


สร้างสังคมไทยไร้ควันบุหรี่  thaihealth


แม้ว่าความหวังในการที่จะเห็นสังคมไทยกลายเป็นสังคมปลอดควันบุหรี่นั้นอาจจะดูเป็นไปได้ยาก แต่ถ้าหากทุกภาคส่วนร่วมแรงร่วมใจกันสร้างค่านิยมที่ถูกต้องให้เกิดขึ้นในสังคม ทำให้คนไทยได้ตระหนักรู้ถึงโทษภัยที่เกิดขึ้นจากการสูบบุหรี่ ว่าไม่เพียงแต่ทำลายสุขภาพของตนเอง แต่อาจทำร้ายคนรอบข้าง รวมทั้งคนที่เรารัก โดยที่เราอาจไม่ได้ตั้งใจ หรือไม่คิดว่าจะเกิดอันตรายขึ้นได้


ในอนาคตอาจมีตัวช่วยมากมายที่จะช่วยให้การเลิกบุหรี่ง่ายขึ้น ทั้งในส่วนของการเข้าถึงข้อมูล ช่องทางรับคำปรึกษาหรือแม้กระทั่งยาที่จะช่วยในการเลิกบุหรี่ สามารถหาซื้อได้สะดวกตามร้านขายยาใกล้บ้าน โดยมีผู้เชี่ยวชาญคอยให้คำแนะนำในการใช้อย่างถูกต้องและปลอดภัย


สสส.ขอเป็นหนึ่งในพลังใจเล็ก ๆ ที่จะช่วยให้คนที่อยากเลิกบุหรี่ สามารถเลิกบุหรี่ได้อย่างถาวร ฟื้นฟูระบบอวัยวะภายในร่างกาย มีสุขภาพแข็งแรง ห่างไกลจากโรคภัยต่าง ๆ มีภูมิคุ้มกันในการต่อสู้กับเชื้อโควิด-19 รวมทั้งจะทำหน้าที่สื่อสารข้อมูล และองค์ความรู้ที่เป็นประโยชน์ต่อไป เพื่อปกป้องเยาวชนไทยให้พ้นจากพิษภัยบุหรี่ ลดการเพิ่มจำนวนนักสูบหน้าใหม่ ก้าวสู่อนาคตแห่งสังคมปลอดบุหรี่อย่างยั่งยืน


ผู้ที่สนใจขอรับคำปรึกษาในการเลิกบุหรี่สามารถติดต่อได้ที่สายด่วนเลิกบุหรี่ 1600 หรือทางไลน์ไอดี quitline1600 โดยไม่มีค่าใช้จ่าย

Shares:
QR Code :
QR Code

ใส่ความเห็น

ระบุข้อความ