สร้างสถานศึกษาปลอดเหล้า-หวั่นเด็กไทยดื่มเพิ่ม

ที่มา : เดลินิวส์


ภาพประกอบจากเว็บไซต์สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ


สร้างสถานศึกษาปลอดเหล้า-หวั่นเด็กไทยดื่มเพิ่ม thaihealth


ศธ.ห่วงเด็กไทยดื่มเหล้าเพิ่มขึ้น ผนึกกำลัง'สสส.'ทำสถานศึกษาปลอดแอลกอฮอล์


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ที่ห้องประชุมพิกุลทอง โรงแรมพรหมพิมาน อ.เมือง จ.ศรีสะเกษ ดร.บัณฑิตย์ ศรีพุทธางกูร หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ เดินทางมาเป็นประธานเปิดการประชุมวิเคราะห์นโยบายและกฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ สู่การปฏิบัติในสถานศึกษา โดยมี เภสัชกร สงกรานต์ ภาคโชคดี ผู้อำนวยการสำนักงานเครือข่ายองค์กรเหล้า สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) นางสาวดุริยา อมตวิวัฒน์ ศึกษาธิการภาค 13 ดร.ชอุ่ม กรไกร รองศึกษาธิการภาค 13 นายบำรุง เป็นสุข ผู้ประสานงาน สคล.อีสานล่าง นายจันทร์ โต๊ะสิงห์ ผู้ประสานงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้าศรีสะเกษ นายสุพิชญ์ ลาลุน ผู้อำนวยการกลุ่มส่งเสริมการจัดการศึกษา สพม.28 หัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง และภาคีเครือข่ายภาคอีสาน ให้การต้อนรับ และร่วมประชุม


เภสัชกรสงกรานต์ กล่าวว่า สถานการณ์ การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นับวันยิ่งจะทวีความรุนแรงและก่อให้เกิดผลกระทบในวงกว้าง ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสุขภาพ ข้อมูลจากศูนย์วิจัยปัญหาสุรา เผยว่า ประเทศไทยมีประชากรที่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ประมาณ 17 ล้านคน ติดอันดับประเทศที่มีนักดื่มอยู่ลำดับที่ 78 ของโลก และมีแนวโน้มการเพิ่มของจำนวนนักดื่มมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะกลุ่มประชากรที่เป็นผู้หญิงและกลุ่มนักดื่มที่เป็นเด็ก-เยาวชนที่ก้าวเข้าสู่เส้นทางของการเป็นนักดื่มหน้าใหม่ และกลายเป็นเหยื่อของธุรกิจน้ำเมา สอดคล้องกับข้อมูลจากกรมควบคุมโรค ได้เปิดเผยผลสำรวจการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของเยาวชน กลุ่มอายุ 15-19 ปี พบว่า ภาพรวมของนักดื่มอายุ 15 ปีขึ้นไป ค่อนข้างคงที่ โดยมีทิศทางลดลงเล็กน้อย โดยในปี พ.ศ.2557 มีความชุกอยู่ที่ร้อยละ 32.3 ซึ่งลดลงร้อยละ 1.22 หรือลดลงเฉลี่ยร้อยละ 0.09 ต่อปี อย่างไรก็ตาม การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของเยาวชนกลุ่มอายุ 15-19 ปี ในช่วงเวลา 13 ปีที่ผ่านมา เพิ่มขึ้นร้อยละ 64.5 หรือเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 4.96 ต่อปี และในขณะเดียวกันภาคอีสานยังคงเป็นภาคที่มีอัตราความชุกในการดื่มสูงเป็นอันดับสองรองจากภาคเหนือตอนบน


ผู้อำนวยการสำนักงานเครือข่ายองค์กรเหล้า กล่าวอีกว่า สถานการณ์การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และผลกระทบที่เกิดขึ้น ยังคงมีความน่าเป็นห่วงอย่างมาก ซึ่งข้อมูลจากการสัมภาษณ์ผู้อำนวยการสถานพินิจจังหวัดสุรินทร์ พบว่า กลุ่มเยาวชนที่กระทำความผิดและถูกดำเนินการตามกระบวนการทางกฎหมาย มีมากถึง 80% มีการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ก่อนการกระทำผิด และนับวันกลุ่มเด็กและเยาวชนที่กระทำความผิดก็มีอายุน้อยลงเรื่อยๆ แต่การกระทำความผิดกลับมีความรุนแรงมากขึ้น เช่น ข่าวลูกฆ่าแม่แท้ๆ เพราะโมโหที่ขอเงินไปซื้อเหล้าไม่ได้ เมื่อช่วงเดือนมิถุนายน ปี พ.ศ.2560 ที่ลูกชายวัย 23 ปี ขอเงินแม่ไปซื้อเหล้าไม่ได้ จึงบันดาลโทสะฆ่าแม่และอำพรางคดีด้วยการจุดไฟเผาบ้านตัวเอง รวมถึงข่าวการยกพวกทะเลาะวิวาททำร้ายร่างกายของกลุ่มวัยรุ่นที่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จนเป็นเหตุให้เกิดความสูญเสียต่อชีวิตและทรัพย์สิน สร้างความสะเทือนใจต่อผู้คนในสังคมอยู่บ่อยครั้ง


เภสัชกรสงกรานต์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ส่วนประเด็นปัญหาผลกระทบจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในกลุ่มเด็ก-เยาวชนที่จะเติบโตขึ้นเป็นอนาคตในการพัฒนาสังคมและประเทศชาติยังคงเป็นประเด็นที่หลายฝ่ายให้ความสำคัญ และพยายามพัฒนานโยบายและแนวทางปฏิบัติ เพื่อให้กระบวนการในการจัดการปัญหาดังกล่าวเกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผล โดยหวังให้เยาวชนที่เป็นบุตรหลานได้รับการดูแล รวมทั้งมีภูมิคุ้มกันจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ รวมถึงปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ อีกด้วย


ในการนี้เครือข่ายองค์กรงดเหล้า ภาคีเครือข่ายด้านการศึกษาหน่วยงานด้านสุขภาพและกลุ่มองค์กรที่เกี่ยวข้อง จึงได้ร่วมกันจัดเวทีประชุมวิเคราะห์นโยบายและกฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์สู่การปฏิบัติในสถานศึกษาขึ้น เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้แลกเปลี่ยนบทเรียนการทำงาน รวมถึงผนึกพลังประชารัฐเพื่อร่วมกันขับเคลื่อนนโยบาย "สถานศึกษาปลอดเหล้า-บุหรี่ 100%" เพื่อให้เด็ก-เยาวชนที่เป็นอนาคตสำคัญในการพัฒนาประเทศได้รับการปกป้องและได้รับการส่งเสริมในทางที่เหมาะสมถูกต้องต่อไป

Shares:
QR Code :
QR Code