สร้างวัฒนธรรม เสริมกิจกรรมรณรงค์ให้เด็กรักการอ่าน

คุณทราบกันหรือไม่ว่าประเทศไทยมีโครงการ “มหานครแห่งการอ่านและการเรียนรู้” ที่จะผลักดันให้ กทม.คว้ารางวัลเมืองหนังสือโลกในปี 2556 หรือ world book capital 2013 จากยูเนสโก และยังมีการตั้งงบประมาณ ปี 2554-2556 ถึง 280 ล้านบาท ในการส่งเสริมและสนับสนุนให้ประชาชนมีนิสัยรักการอ่าน

สร้างวัฒนธรรม เสริมกิจกรรมรณรงค์ให้เด็กรักการอ่าน

ตลอดจนเสริมสร้างวัฒนธรรมรักการอ่านให้เกิดขึ้นในสังคม แต่ที่ผ่านมามีการรายงานผลการวิจัยว่า คนไทยอ่านหนังสือวันละ 7 บรรทัดเท่านั้น คนไทยอ่านหนังสือน้อยลงๆ แล้วทำไมจึงอ่านกันน้อยเช่นนั้น ซึ่งตามหลักทางวิชาการแล้วคนที่จะรักการอ่านส่วนใหญ่มักจะได้รับการปลูกฝังกันตั้งแต่ตอนเด็ก

สุดใจ พรหมเกิดเรื่องนี้ นางสุดใจ พรหมเกิด ผู้จัดการแผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน ที่ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เล่าว่า หัวใจสำคัญของการปลูกฝังเรื่องการอ่านจะมี 2 วัย คือ 1.ช่วงปฐมวัยและ 2.เด็กวัยเรียน หากเด็กทั้งสองวัยนี้ไม่ได้รับการพัฒนาที่เหมาะสมจะไม่สามารถสร้างเสริมการรับรู้ในภายหลังได้

ดังนั้นจึงจำเป็นที่จะต้องให้ความสนใจโดยเริ่มจาก ช่วงปฐมวัย(0-6ปี)จะเป็นระยะพัฒนาการทางสมองที่สำคัญเป็นพื้นฐานของการสัมผัสรับรู้และเรียนรู้ในด้านต่างๆ ที่ส่งผลต่อเด็กแต่ละคน ซึ่งการอ่านหนังสือให้เด็กฟังหรือเด็กอ่านเอง เมื่อโตพอเป็นการขยายกิ่งก้านสาขาการเรียนรู้กระตุ้นเซลล์สมองของเด็กๆ ให้สามารถพัฒนาสติปัญญาด้านต่างๆ อย่างมีคุณภาพ

จากการสำรวจเพื่อประเมินความเป็นอยู่ของเด็กตามข้อตกลง “โลกที่เหมาะสมสำหรับเด็ก” (a world fit for children) ได้กำหนดตัวชี้วัดในการพัฒนาเด็กว่า “แต่ละบ้านควรมีหนังสือสำหรับเด็กอย่างน้อย 3 เล่ม”

“แต่จากการสำรวจเด็กและเยาวชนในปี 2551 พบว่า เด็กอายุ 0-5 ปี อยู่ในบ้านที่มีหนังสือเด็กตามเงื่อนไขนั้นเพียง40.7% และส่วนใหญ่เป็นครัวเรือนที่กระจุกตัวอยู่ในกรุงเทพมหานคร ทางแผนงานจึงมีแนวคิดในการขับเคลื่อนให้สังคมรับรู้และเห็นความสำคัญของการใช้หนังสือ เพื่อพัฒนาเด็ก อาทิ การผลักดันให้เกิดมุมหนังสือห้องสมุดเด็กเล็กในพื้นที่ต่างๆ อย่างสถานประกอบการ ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก รวมถึง ผลักดันนโยบายด้านสวัสดิการหนังสือเด็กกับพรรคการเมืองรัฐบาล องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อสนับสนุน “นโยบายและยุทธศาสตร์การสร้างวัฒนธรรมการอ่านด้วยเรื่องหนังสือเด็กปฐมวัย”

นางสุดใจ เล่าต่อว่า ตามที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบให้ปี 2552-2561 เป็นทศวรรษแห่งการอ่านของประเทศ นั้นเพื่อให้สังคมไทยได้ตระหนักและเห็นถึงความสำคัญของการใช้หนังสือ เป็นเครื่องมือในการพัฒนาเด็กปฐมวัย(0-6ปี) ซึ่งเป็นช่วงวัยที่มีการพัฒนาและการเติบโต ทั้ง สมอง ร่างกาย จิตใจ และจิตวิญญาณ ที่เร็วและสมบูรณ์ที่สุด(80%) ของชีวิตมนุษย์ หนังสือช่วยสร้างความสุข ความเพลิดเพลิน สร้างจินตนาการ ความคิดสร้างสรรค์

สร้างวัฒนธรรม เสริมกิจกรรมรณรงค์ให้เด็กรักการอ่าน

ขณะเดียวกันยังเป็นการวางรากฐานสำคัญด้านการสร้างภูมิปัญญาของสังคมไทยในอนาคตทาง “เครือข่ายสร้างสรรค์หนังสือเด็กปฐมวัย” และ “เครือข่ายชุมชนรักการอ่าน” จึงได้ยื่นข้อเสนอเชิงยุทธศาสตร์และนโยบายเพื่อจะได้พิจารณากำหนดนโยบายที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนและสังคมไทยคือ

1.ยุทธศาสตร์ส่งเสริมให้หนังสือเด็กปฐมวัย มีคุณภาพเพื่อสร้างฐานภูมิปัญญาของสังคมไทย ที่จะกำหนดนโยบายส่งเสริมสนับสนุนให้มีสถาบันทางวิชาการผลิตผู้สร้างสรรค์เรื่องและผู้สร้างสรรค์ภาพหนังสือสำหรับเด็กปฐมวัยให้มากขึ้น ส่งเสริมการศึกษาวิจัยและการจัดการความรู้ที่เป็นประโยชน์ในการกำหนดแนวทางอนาคตภาพของการผลิตหนังสือและการส่งเสริมการอ่านในเด็กปฐมวัย กำหนดนโยบายสนับสนุนส่งเสริมองค์กรภาคธุรกิจภาคประชาสังคมให้มีศักยภาพในการผลิตหนังสือเด็กปฐมวัย (0-6ปี) เพื่อตอบสนองวัยพัฒนาการทางสมองและสอดคล้องต่อวิถีชีวิตของชุมชน ท้องถิ่น สังคม และประเทศชาติ

2.ยุทธศาสตร์การเพิ่มช่องทางและการนำหนังสือให้เข้าถึงเด็ก กำหนดนโยบายให้ทุกครอบครัวที่มีเด็กปฐมวัยได้มีโอกาสเป็นเจ้าของหนังสือเด็กปฐมวัยอย่างน้อยคนละ 3 เล่ม (ตามข้อตกลงจากแผนปฏิบัติโลกที่เหมาะสมสำหรับเด็กa world fit for children ขององค์การกองทุนเด็กแห่งสหประชาชาติ)โดยเฉพาะกลุ่มผู้ด้อยโอกาสกลุ่มเปราะบางทางสังคมในพื้นที่ต่างๆ และกลุ่มเด็กที่มีความต้องการพิเศษจัดสรรงบประมาณอย่างเพียงพอให้โรงเรียน ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ฯลฯ สามารถจัดซื้อหนังสือสำหรับเด็กปฐมวัยและสร้างปัจจัยที่เอื้อต่อการเข้าถึงการอ่าน กำหนดนโยบายส่งเสริม พัฒนาให้เกิดกลไกส่งเสริมการอ่านเพิ่มห้องสมุดมุมหนังสือในพื้นที่บริการพื้นที่สาธารณะอย่างหลากหลาย อาทิ  โรงพยาบาล สวนสาธารณะ ฯลฯและมีบรรยากาศและสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการอ่าน สอดคล้องกับวัยเด็กและความต้องการของครอบครัวและชุมชน

3.ยุทธศาสตร์รณรงค์ให้เกิดวัฒนธรรมการอ่าน สนับสนุนให้เกิดสื่อมวลชนและสื่อทางเลือกต่างๆ ที่ส่งเสริมพฤติกรรมการอ่าน ทั้งรายการวิทยุ โทรทัศน์ อินเตอร์เน็ต สื่อพื้นบ้าน กิจกรรมรณรงค์ ฯลฯ รณรงค์ส่งเสริมให้พ่อแม่ครอบครัวผู้ดูแลเด็กเห็นถึงความสำคัญในการอ่านหนังสือให้เด็กฟัง ตั้งแต่อยู่ในครรภ์-6 ปี และเข้าใจถึงการเลือกสรรหนังสือเด็กที่เหมาะสม และสอดคล้องตามวัย ส่งเสริมกำหนดนโยบายพัฒนาบุคลากรในหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับเด็กปฐมวัย เพื่อเพิ่มความสามารถในการสร้างกิจกรรมส่งเสริมการอ่าน (ครูบรรณารักษ์พี่เลี้ยงเด็กศูนย์พัฒนาเด็กเล็กครูอนุบาล-เนิร์สเซอรีนักพัฒนาชุมชนอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ฯลฯ

ซึ่งในแต่ละยุทธศาสตร์นั้น ได้มีการระดมความเห็นจากองค์กรที่เกี่ยวข้องมานำเสนอแนวคิดว่า จะดำเนินการอย่างไรไม่ว่าจะเป็นการสื่อสารกับสื่อมากขึ้นการทำกิจกรรมรักการอ่านให้ต่อเนื่องการรณรงค์พ่อแม่ให้เข้าใจและเกิดโครงการรักการอ่านมากขึ้นการทำศูนย์กลางผู้ที่เชี่ยวชาญด้านหนังสือดี เป็นต้น

สร้างวัฒนธรรม เสริมกิจกรรมรณรงค์ให้เด็กรักการอ่าน

โดยมี “เครือข่ายสร้างสรรค์หนังสือเด็กปฐมวัย” และ “เครือข่ายชุมชนรักการอ่าน” ให้ความร่วมมือสนับสนุนยุทธศาสตร์และเป็นผู้ที่ช่วยขับเคลื่อนโดยมุ่งเน้นเพื่อเด็กปฐมวัย (0-6ปี) จะได้รับการบ่มเพาะนิสัยรักการอ่านซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญต่อผลสัมฤทธิ์ด้านการใฝ่รู้ตลอดชีวิตและสร้างเสริมสังคมแห่งภูมิปัญญาอย่างยั่งยืน และที่สำคัญโครงการจะประสบความสำเร็จได้ก็คือหน่วยงานของรัฐ ที่จะต้องให้การสนับสนุนโดยเฉพาะเรื่องงบประมาณ…

ที่มา: หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ

Shares:
QR Code :
QR Code