สร้างมโนทัศน์ใหม่ของนิยามผู้สูงอายุ

ที่มา : มโนทัศน์ใหม่นิยามผู้สูงอายุและอายุการทำงานที่เหมาะสม โดยมูลนิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย (มส.ผส.) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)


ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต


สร้างมโนทัศน์ใหม่ของนิยามผู้สูงอายุ thaihealth


นิยามผู้สูงอายุในวัย 60 ปี ของประเทศไทยนั้นเกิดขึ้นทั้งในเชิงสังคม เศรษฐกิจและสุขภาพ ในเชิงเศรษฐกิจและสุขภาพที่ใช้อายุเป็นตัวกำหนดนั้นมักมีมโนทัศน์ในเชิงลบ ดังนั้นจึงต้องช่วยกันสร้างมโนทัศน์ใหม่ให้กับนิยามผู้สูงอายุ ให้ความเชื่อเดิมๆ ถูกลบเลือนไปเพราะเหล่านี้เป็นเพียง ‘อคติแห่งวัย’ เท่านั้น


ลบภาพเก่าด้วยภาพใหม่


นอกเหนือจากการผลักดันนโยบายการขยายอายุเกษียณแล้ว สิ่งที่ต้องดำเนินการควบคู่กันก็คือ ‘การสร้างมโนทัศน์ใหม่ของนิยามผู้สูงอายุ’ เพราะเหตุผลหนึ่งที่ทำให้นโยบายการขยายอายุเกษียณไม่สามารถดำเนินการไปได้อย่างรวดเร็วนั้น ประเด็นใหญ่อยู่ที่ความรู้สึกของคนทั่วไปในแง่ที่ว่าผู้สูงอายุไม่สามารถทำงานได้เต็มประสิทธิภาพ และกลายเป็นเหตุผลหลักที่นายจ้างมักไม่เปิดใจรับลูกจ้างสูงอายุกลับเข้าทำงานต่อ


การกำหนดนิยามผู้สูงอายุในวัย 60 ปี ของประเทศไทยนั้นเกิดขึ้นทั้งในเชิงสังคม เศรษฐกิจและสุขภาพ ในเชิงเศรษฐกิจและสุขภาพที่ใช้อายุเป็นตัวกำหนดนั้นมักมีมโนทัศน์ในเชิงลบ กล่าวคือเชื่อว่าผู้สูงอายุในวัยเกษียณ 60 ปี คือผู้ที่ไร้ประสิทธิภาพเต็มในการปฏิบัติงาน มีความเสื่อมทางกาย มีสุขภาพไม่ดี ทำให้ไม่สามารถปฏิบัติงานได้ตามปกติ


นี่คือเหตุผลที่เราต้องช่วยกันสร้างมโนทัศน์ใหม่ให้กับนิยามผู้สูงอายุ ให้ความเชื่อเดิมๆ ถูกลบเลือนไปเพราะเหล่านี้เป็นเพียง ‘อคติแห่งวัย’ เท่านั้น โดยเฉพาะในภาคเอกชนแรงงานสูงอายุมักไม่เป็นที่ต้องการทั้งที่แรงงานเหล่านี้ยังมีความพร้อมที่จะทำงานได้ต่อไป เพราะแน่นอนว่าในมุมมองของนายจ้างนี่คือความไม่คุ้มค่าหากยังจ้างผู้สูงอายุทำงานต่อหลังวัยเกษียณ


สร้างมโนทัศน์ใหม่ของนิยามผู้สูงอายุ thaihealth


มโนทัศน์ใหม่เพื่อภาพที่ชัดเจนขึ้น


ในอีกมุมหนึ่ง หากเป็นการกำหนดนิยามผู้สูงอายุในเชิงสังคม ภาพที่สะท้อนออกมาก็จะเป็นไปในเชิงบวก กล่าวคือเมื่อเป็นผู้สูงอายุก็จะถูกมองว่าเป็นผู้มีประสบการณ์ มีความแก่กล้าในวิชาชีพ ชัดเจนในความเป็นราษฎรหรือพลเมืองอาวุโสที่สังคมให้การยอมรับนับถือโดยไม่จำเป็นต้องมีอายุหรือสภาพร่างกายเป็นตัวกำหนดชี้วัด


การสร้างมโนทัศน์ใหม่ของนิยามผู้สูงอายุจึงต้องทำให้ศักยภาพของผู้สูงอายุโดดเด่นชัดเจนขึ้นในสายตาของคนในสังคม ยุคปัจจุบันบุคคลผู้มีอายุย่างสู่วัย 60-64 ปีนั้นในความเป็นจริงไม่ได้ถือว่าเข้าขั้นสูงวัย และยังไม่ได้อยู่ในสถานะชราภาพดังที่เคยเชื่อกันมาตลอดแต่ยังเป็นผู้ที่มีสุขภาพสมบูรณ์แข็งแรง มีทั้งความรู้ ความสามารถและประสบการณ์ที่ยังคงหารายได้ให้แก่ตนเองโดยไม่ต้องรอการเกื้อหนุนจากบุตรหลาน


ดังนั้นการกำหนดนิยามใหม่ของผู้สูงอายุจึงควรแยกนิยามความหมายของผู้สูงอายุในเชิงเศรษฐกิจและเชิงสังคมออกจากกัน เพื่อให้เห็นถึงศักยภาพที่แท้จริงซึ่งยังคงมีอยู่ในกลุ่มผู้สูงอายุส่วนใหญ่ ให้คนกลุ่มนี้ได้มีโอกาสทำงาน เพราะนอกเหนือจากช่วยลดปัญหาด้านการขาดแคลนแรงงานแล้ว ความภาคภูมิใจที่ยังสามารถสร้างรายได้ให้ตนเองจากความรู้ความสามารถที่มีนั้นจะเกิดขึ้นกับผู้สูงอายุแน่นอน


สร้างมโนทัศน์ใหม่ของนิยามผู้สูงอายุ thaihealth


ดูแลสุขภาพสำคัญที่สุด


แม้ผู้สูงอายุส่วนใหญ่ในยุคปัจจุบันจะมีสุขภาพดีและยังแข็งแรงมากกว่าอายุจริง แต่อย่างไรก็ตามสิ่งที่ผู้สูงอายุควรปฏิบัติให้เป็นนิสัยอยู่เสมอก็คือการดูแลสุขภาพของตนเองให้คงความแข็งแรงได้ตลอดเพื่อให้สามารถใช้ชีวิตอยู่ได้อย่างมีความสุขโดยไม่ต้องพึ่งพาใคร ไม่ปล่อยให้ร่างกายของตนเองต้องเสื่อมสภาพไปตามกาลเวลารวดเร็วเกินไปไม่ว่าจะมีอายุเท่าไรก็ตาม


โดยพื้นฐานแล้วสิ่งที่ผู้สูงอายุควรปฏิบัติ ได้แก่


1.รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ เช่น เนื้อปลา ผักผลไม้ งดอาหารไขมันสูงและมีรสหวานจัด


2.งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่


3.ออกกำลังกายกลางแจ้งเป็นประจำในสถานที่ที่มีแดดอ่อนๆ โดยไม่ควรเป็นการออกกำลังกายหนักหรือผาดโผน


4.เข้านอนแต่หัวค่ำ พักผ่อนให้เพียงพอ


5.ตรวจสุขภาพเป็นประจำอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง และหมั่นสังเกตความผิดปกติของร่างกายอยู่เสมอ หากพบความผิดปกติใดๆ ให้รีบพบแพทย์ทันที


และที่ต้องดูแลควบคู่กันไปก็คือการเสริมสร้างร่างกายให้มีคุณภาพด้วยการชะลอความเสื่อมของเซลล์สมอง นักวิจัยสถาบันวิจัยโรคสมองเสื่อมประเทศอังกฤษรายงานผลการศึกษาในกลุ่มผู้สูงอายุวัย 60-70 ปีกว่า 600 รายในช่วงเวลา 3 ปี พบว่า ผู้ที่ออกกำลังกายด้วยการเดินเป็นประจำทุกสัปดาห์จะทำให้สมองเสื่อมช้าลง ช่วยให้เลือดไหลเวียนนำออกซิเจนและสารอาหารไปเลี้ยงเซลล์สมองมากขึ้น ซึ่งถือเป็นการออกกำลังกายเสริมสุขภาพด้วยวิธีง่ายๆ ที่ผู้สูงอายุควรปฏิบัติ


นอกจากนี้ การที่ผู้สูงอายุหมั่นใช้สมองเป็นประจำในการคิดเลขเร็วบ้าง การเล่นเกมที่ต้องใช้ไหวพริบบ้าง หัดทำสิ่งต่างๆ ที่ไม่เคยทำมาก่อนบ้าง และหยุดความคิดในเรื่องที่จะทำให้เกิดความเครียดสะสม เหล่านี้จะช่วยกระตุ้นให้สมองได้ใช้งานอย่างสม่ำเสมอและช่วยลดสภาวะสมองเสื่อมได้อย่างดี


                                                                                                                                                                                                 

Shares:
QR Code :
QR Code