สร้างภูมิคุ้มใจด้วยนิทาน รับมือความสูญเสียโควิด

ที่มา : เว็บไซต์ไทยโพสต์


สร้างภูมิคุ้มใจด้วยนิทาน รับมือความสูญเสียโควิด thaihealth


แฟ้มภาพ


การระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบให้ประเทศไทยมีแนวโน้มเด็กกำพร้าเพิ่มขึ้น เมื่อพ่อแม่หรือผู้ปกครองติดเชื้อและเสียชีวิตลง อาจส่งผลกระทบต่อเนื่องกลายเป็นแผลในใจไปตลอด อย่างไรก็ตามนิทานเป็นสิ่งที่ช่วยคลายความเศร้าของเด็กๆ ได้


อย่างไรก็ตามโควิดยังไม่จบ ยังมีเด็กอีกจำนวนมากที่ต้องเผชิญกับการสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รัก เพื่อเตรียมความพร้อมสุขภาวะด้านจิตใจของกลุ่มเด็กเล็ก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ สถาบันราชานุกูล กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข กรมกิจการเด็กและเยาวชน กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย (PUBAT) สมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย ธนาคารจิตอาสา มูลนิธิเครือข่ายมะเร็ง และภาคีเครือข่ายสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน จัดงาน "อ่านยาใจ : ภูมิคุ้มใจเพื่อเด็กปฐมวัย" บทสนทนาและนิทาน สื่อเรียนรู้ความสูญเสียและปลุกพลังบวกเพื่อเด็ก พร้อมแนะนำหนังสือนิทานภาพชุด "ภูมิคุ้มใจเพื่อเด็กปฐมวัย" นอกจากหนังสือเล่ม ยังสามารถดาวน์โหลดนิทานเพื่อเด็กปฐมวัยฟรีได้ที่เว็บไซต์ www.happyreading.in.th


ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ประเทศไทยมีผู้เสียชีวิตกว่า 20,000 คน ที่สำคัญคือ สมาชิกในครอบครัว โดยเฉพาะเด็กปฐมวัย ที่ต้องสูญเสียปู่ ย่า ตา ยาย หรือพ่อแม่ ยังไม่สามารถรับมือกับสถานการณ์ที่ต้องสูญเสียได้อย่างเหมาะสม ส่งผลให้เด็กเกิดความกังวล ความเศร้า ความหวาดกลัว นำไปสู่ความเครียด เสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพด้านจิตใจในระยะยาว สสส. เห็นความสำคัญของปัญหาที่เกิดขึ้น ร่วมกับภาคีเครือข่ายสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน พัฒนาองค์ความรู้ในรูปแบบหนังสือนิทานภาพชุด และกิจกรรมส่งเสริมการอ่าน โดยมีนักจิตวิทยาและผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิตร่วมบริการให้คำปรึกษา ผ่านเฟซบุ๊กแฟนเพจ "อ่านยกกำลังสุข" เพื่อให้ผู้ดูแลเด็กเล็กนำไปใช้เป็นเครื่องมือและกระบวนการเสริมสร้างศักยภาพและสุขภาวะเด็กปฐมวัย ในการสื่อสารถึงความสูญเสียให้กับเด็กเล็กในครอบครัว


"การพูดคุย อธิบาย หรือตอบคำถามให้เด็กเล็กเข้าใจ ถือเป็นการเตรียมความพร้อมสุขภาวะด้านจิตใจให้แก่เด็กปฐมวัย บรรเทาความเครียด วิตกกังวลที่เกิดขึ้นกับคนในครอบครัว และช่วยลดปัญหาความรุนแรงที่จะเกิดขึ้นกับเด็กในระยะยาว" ผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าว


นิทานกลายเป็นเครื่องมือเล่าเรื่องราวการพลัดพราก คลายความเศร้าของเด็กๆ พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า การสูญเสียบุคคลในครอบครัวโดยไม่ได้กล่าวอำลา เพราะด้วยกระบวนการไว้อาลัยที่ต้องปฏิบัติตามมาตรการลดการแพร่ระบาดของโควิด-19 อย่างเคร่งครัด ทำให้วิธีการดูแลสุขภาพจิตของคนในครอบครัว โดยเฉพาะเด็กปฐมวัยเป็นเรื่องสำคัญที่ผู้ดูแลเด็กต้องใส่ใจ เนื่องจากเด็กปฐมวัยยังไม่เข้าใจว่า การเสียชีวิตเป็นจุดสิ้นสุดของชีวิต การใช้สื่อนิทานเล่าเรื่องราวการสูญเสียกับเด็กปฐมวัยจึงเป็นสิ่งที่เหมาะสมทางจิตวิทยา ก่อนที่จะบอกถึงการสูญเสียบุคคลใกล้ชิดอย่างตรงไปตรงมา


สำหรับเด็กที่ต้องเผชิญเหตุการณ์สูญเสียพ่อแม่ผู้ปกครอง อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า ระยะสั้น อาจจะทำให้เด็กปฐมวัยมีพฤติกรรมในการปลอบตัวเอง อาทิ ดูดนิ้ว โยกตัว มีความต้องการอยู่ใกล้ผู้ใหญ่ที่ดูแลมากขึ้น แต่หากพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงเหล่านี้ยังคงอยู่นาน เด็กกลุ่มนี้ควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญในสถานพยาบาลใกล้บ้าน หรือโทรศัพท์ผ่านสายด่วนสุขภาพจิต 1323 โทรฟรีตลอด 24 ชั่วโมง


อย่างไรก็ตาม การดูแล พัฒนา ปกป้อง คุ้มครองเด็ก นางจตุพร โรจนพานิช อธิบดีกรมกิจการเด็กและเยาวชน กล่าวว่า เป็นไปตามอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กที่ว่า "เพื่อประโยชน์สูงสุดของเด็ก โดยไม่เลือกปฏิบัติ" ช่วงปฐมวัยเป็นรากฐานแห่งความมั่นคงของชีวิตมนุษย์ โดยเฉพาะช่วงเวลาวิกฤตของสถานการณ์ที่ ไม่ปกตินี้ จะช่วยบรรเทาความเครียดที่เกิดขึ้นกับคนในครอบครัว และช่วยลดปัญหาความรุนแรงที่จะเกิดขึ้นกับเด็กในระยะยาวได้


เพื่อปลุกพลังบวกของเด็กๆ ที่กระทบหนัก ทั้งเรื่องการศึกษาต้องเปลี่ยนมาเรียนออนไลน์ การใช้ชีวิตปกติวิถีใหม่จากมาตรการควบคุมโรค และครอบครัว เมื่อพ่อแม่ผู้ปกครองติดเชื้อและต้องไปรักษาตัว ทำให้เด็กหลายคนถูกละเลย หรือบางครอบครัวเกิดเหตุสลดโดยไม่รู้ตัว เพื่อไม่ให้เด็กรู้สึกอ้างว้างโดดเดี่ยว สสส.จึงระดมพลังภาคีเครือข่ายสร้างวัฒนธรรมการอ่าน เตรียมจัดกิจกรรมตลอดปีเสือ


นางสุดใจ พรหมเกิด ผู้จัดการแผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน สสส. กล่าวว่า การจัดงาน "อ่านยาใจ : ภูมิคุ้มใจเพื่อเด็กปฐมวัย" บทสนทนาและนิทาน สื่อเรียนรู้ความสูญเสียและปลุกพลังบวกเพื่อเด็กครั้งนี้ ได้สร้างสรรค์สื่อที่มีคุณภาพ ทั้งหนังสือนิทานภาพชุด "ภูมิคุ้มใจเพื่อเด็กปฐมวัย" และกิจกรรมสร้างสรรค์ อาทิ กิจกรรม "ภูมิคุ้มใจและจิตวิทยาการดูแลเด็กที่ได้รับผลกระทบในสถานการณ์เปราะบาง" กิจกรรม "สานพลังการอ่านสร้างทักษะ Resilience kid" ที่จะทำให้พ่อ แม่ ครูผู้ดูแลและพัฒนาเด็ก รวมถึงบุคคลใกล้ชิด ได้นำไปปรับใช้สร้างกระบวนการเรียนรู้ รวมถึงปลุกพลังบวกของเด็ก ซึ่งจะจัดขึ้นตลอดปี 2565 ผู้สนใจติดตามที่เพจ "อ่านยกกำลังสุข" โทร.02-424-4616, 080-259-0909

Shares:
QR Code :
QR Code