สร้างนักสื่อสารรุ่นใหม่มีสำนึกพลเมือง
สสส. มูลนิธิสยามกัมมาจล มสช. สภาคณบดีทางศิลปะฯและ 5 มหาวิทยาลัยชื่อดัง ลงนามความร่วมมือ หนุนเครือข่ายมหาวิทยาลัยสร้างสรรค์สังคม เปิดโอกาส นศ.นิเทศศาสตร์-นิเทศศิลป์ เรียนรู้-สร้างสรรค์สื่อ จาก “โจทย์จริง” หวังสร้างนักสื่อสารรุ่นใหม่มีสำนึกพลเมือง ไม่ดูดายทำประโยชน์ให้สังคม
เมื่อวันที่ 16 ก.ย. ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช ประธานคณะกรรมการมูลนิธิสยามกัมมาจล เป็นประธานในพิธีลงนามความร่วมมือ ระหว่างจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร มหาวิทยาลัยกรุงเทพ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ มหาวิทยาลัยรังสิต มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.) มูลนิธิสยามกัมมาจล สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.)ว่า การลงนามความร่วมมือครั้งนี้ เป็นการสนับสนุนการขับเคลื่อนเครือข่ายมหาวิทยาลัยสร้างสรรค์สังคม (University Network for Change: UNC) ภายใต้โครงการเสริมสร้างพลังเยาวชนสร้างสรรค์สื่อเพื่อสังคมไทยที่น่าอยู่ เพื่อสนับสนุนให้สถาบันการศึกษาที่มีหลักสูตรด้านนิเทศศาสตร์-นิเทศศิลป์ ร่วมกับภาคประชาสังคม เปิดโอกาสให้นักศึกษาได้เรียนรู้และสร้างสรรค์ผลงานจากพื้นที่จริง เพื่อสร้างบุคคลากรรุ่นใหม่ด้านการสื่อสารให้มีสำนึกความเป็นพลเมือง ไม่นิ่งดูดาย ใช้ศักยภาพของตัวเองทำประโยชน์ให้กับสังคม เพื่อร่วมกันปลี่ยนแปลงหรือปฏิรูปสังคมไทยให้ดีขึ้น
นางปิยาภรณ์ มัณฑะจิตร ผู้จัดการมูลนิธิสยามกัมมาจล กล่าวว่า มูลนิธิสยามกัมมาจลได้หารือร่วมกันกับ สสส.และมสช. ในการเชื่อมโยงและเปิดพื้นที่การเรียนรู้ ให้กับคนทำงานในภาคประชาสังคมที่กำลังขับเคลื่อนปัญหาต่างๆในสังคม กับสถาบันการศึกษา ซึ่งขาดแคลนโจทย์ในชีวิตจริง มาเชื่อมประสานให้นำเรื่องการปฏิรูปไปสื่อสาร ซึ่งไม่ใช่แค่การสื่อสารเนื้อหาสาระเท่านั้น แต่เป็นการสร้างแรงบันดาลใจ และเรียนรู้โดยการปฏิบัติจริง มีการจัดเวิคร์ชอปต่างๆ ที่จะเรียนรู้ร่วมกัน พร้อมเปิดโอกาสให้นักศึกษาลงพื้นที่และได้ลองทำงานจริง
ด้าน รศ.ดร.วิลาสินี อดุลยานนท์ ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สสส.กล่าวว่า เวลานี้เยาวชนมีความตื่นตัวขึ้นมาก และมีจำนวนไม่น้อยที่อยากมีส่วนร่วมในกระบวนการเปลี่ยนแปลงประเทศ ซึ่งนอกจากจะผ่านกลไกสภาปฏิรูปแล้ว ยังมีโอกาสอื่นๆ ที่เยาวชนจะได้ร่วมแสดงออกอย่างสร้างสรรค์ ซึ่งสสส. ยินดีที่จะร่วมหนุนโอกาสเหล่านี้ ดังเช่นโครงการนี้ ถือเป็นการให้เยาวชนได้เรียนรู้ผ่านการสร้างสื่อและทำงานแบบเป็นเครือข่ายกับสถาบันอื่นๆ ซึ่งจะช่วยเสริมให้เยาวชนเป็นพลเมืองที่ตื่นรู้ และพร้อมจะร่วมนำทางให้สังคมได้
นางปรีดา คงแป้น ผู้จัดการมูลนิธิชุมชนไท ผู้แทนภาคประชาสังคม กล่าวว่า ปัญหาของชาวบ้าน หรือปัญหาสังคม รวมทั้งประเด็นข้อเสนอเพื่อการปฏิรูปนั้นมีข้อมูลจำนวนมาก เบื้องต้นได้นำโจทย์ปัญหาในเมืองไทย 4 ประเด็น ได้แก่ 1.พลังงาน 2.ที่ดิน 3.เกษตร และ 4.คอรัปชั่น มาใช้เป็นโจทย์ในการทำงาน โดยเน้นกระบวนการ “เปิดพื้นที่การเรียนรู้” ระหว่างสถาบันการศึกษา กับภาคประชาสังคม โดยร่วมรับฟังสภาพปัญหาจริง และลงพื้นที่จริง ซึ่งนักศึกษาสามารถเลือกประเด็นที่สนใจ เพื่อกลับไปหาข้อมูลและวิเคราะห์วางแผนสร้างสรรค์สื่อ ซึ่งผลลัพธ์ไม่ได้ขึ้นอยู่กับคุณภาพผลงาน แต่ขึ้นอยู่กับการเรียนรู้จากประสบการณ์จริง ทั้งด้านทักษะการทำงาน และการเชื่อมโยงตนเองเข้ากับสังคม อันก่อให้เกิดสำนึกความเป็นพลเมืองขึ้นในที่สุด
ด้าน รศ.ดร. ศุภกร ดิษฐพันธ์ คณบดีคณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และประธานสภาคณบดีทางศิลปะแห่งประเทศไทย กล่าวว่า สำหรับสถาบันการศึกษาประกอบด้วย 5 มหาวิทยาลัย 7 คณะ ได้แก่ มหาวิทยาลัยศิลปากร 2 ประเด็น 1 เกษตรกรรม ได้แก่ คณะมัณฑนศิลป์ ผลงานชื่อผักดีมีอยู่จริงหรือ คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร(ICT) ผลงานชื่อตื่นตรา ปลุกผัก 2 ประเด็นที่ดิน ได้แก่ คณะจิตรกรรม ประติมากรรม และภาพพิมพ์ หัวข้อปัญหาที่ดิน มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ประเด็นเกษตรกรรม คณะนิเทศศาสตร์ ภาควิชาการออกแบบนิเทศศิลป์ ผลงานชื่อข้าวคร่าว จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ประเด็นคอรัปชั่น คณะศิลปกรรม ผลงานชื่อลับรู้ มหาวิทยาลัยรังสิต ประเด็นที่ดิน คณะศิลปะและการออกแบบ ผลงานชื่อปัญหาที่ดิน และมหาวิทยาลัยกรุงเทพ ประเด็นพลังงาน คณะศิลปกรรม ผลงานชื่อพลังงาน
นายสินา วิทยวิโรจน์ นักศึกษาคณะจิตรกรรม ประติมากรรม และภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร กล่าวว่า ปัญหาที่ดินมีมานานในสังคมไทย โดยที่ไม่ได้เกิดขึ้นจากนักการเมืองหรือนายทุนอย่างเดียวเท่านั้น แต่เป็นปัญหาเชิงโครงสร้างในระบบการจัดการ และกระจายทรัพยากรที่ไม่เป็นธรรม ดังนั้น การบังคับใช้กฏหมายจึงอาจจะไม่ใช่ทางออกสุดท้ายของปัญหานี้ โดยทีมได้นำเสนอ 2 รูปแบบ คือ 1. บอร์ดเกม “เกมสิทธิ/เกมชุมชน” 2. วีดีโอสารคดี โดย “เกมสิทธิ์/เกมชุมชน” สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาที่ดิน ผ่านการใช้ “เกมกระดาน” เป็นสื่อกลางถ่ายทอด และให้ผู้ชมเข้ามามีส่วนร่วมรับรู้ต่อปัญหาดังกล่าวมากขึ้น อีกทั้งยกระดับความรู้ให้ตระหนักถึงแนวทางการป้องกันชุมชนและทรัพยากรของตน ผ่านการเรียนรู้สิทธิชุมชน ซึ่งเป็นสิทธิที่ประชาชนคนไทยทุกคนพึงมี
สำหรับผลงานของนักศึกษา ทั้ง 7 คณะ ได้จัดแสดงนิทรรศการตั้งแต่วันที่ 16 – 21 กันยายน 2557 ณ ห้อง Creative Society ชั้น 1 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานครมีดังนี้ สนใจดูรายละเอียดได้ที่ www.scbfoundation.com
ที่มา : สำนักข่าวสร้างสุข