สร้างทางม้าลายที่ปลอดภัย หยุดอันตรายหน้าโรงเรียน

เรื่องโดย ฉัตร์ชัย นกดี Team Content www.thaihealth.or.th


ข้อมูลประกอบจาก มูลนิธิไทยโรดส์


ภาพโดย ชยวี ลิ้มถาวรรักษ์ Team Content www.thaihealth.or.th


สร้างทางม้าลายที่ปลอดภัย หยุดอันตรายหน้าโรงเรียน thaihealth


“เด็กนักเรียนข้ามถนนตรงทางม้าลายหน้าโรงเรียนถูกรถจักรยานยนต์ขี่มาด้วยความเร็วชนจนสลบ” “รถจักรยานยนต์พุ่งชนกลุ่มนักเรียนหญิงขณะข้ามทางม้าลายหน้าโรงเรียน บาดเจ็บต้องใส่เฝือกข้อเท้า” ข่าวต่าง ๆ เหล่านี้ ไม่ควรเกิดขึ้นเลยในสังคม เพราะปกติแล้ว ถ้าเราขับขี่ผ่านหน้าโรงเรียน ก็ต้องชะลอความเร็ว และแน่นอนว่าหน้าโรงเรียนก็จะมีทางม้าลาย เพื่อให้เด็ก ๆ ข้ามถนนได้อย่างปลอดภัย


ดังนั้น เพื่อเป็นการรณรงค์สร้างทางม้าลายที่ปลอดภัย หยุดอันตรายหน้าโรงเรียน พร้อมปลูกฝังให้นักเรียน เพิ่มความระมัดระวังขณะข้ามถนน ทางคณะกรรมการบูรณาการกู้ชีพฉุกเฉินและความปลอดภัยทางถนน วุฒิสภา จึงร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สภากาชาดไทย สำนักงานเขตเขตพระนคร สถานีตำรวจนครบาลสำราญราษฎร และภาคีเครือข่ายด้านความปลอดภัยทางถนน จัดกิจกรรม “หยุดสูญเสีย หยุดรถ ให้คนข้ามทางม้าลาย #ความดีที่คุณทำได้” ครั้งที่ 5 รณรงค์สร้างจิตสำนึกให้ผู้ขับขี่หยุดรถตรงทางม้าลาย ลดความเร็วในเขตชุมชนและชะลอก่อนถึงทางแยกทางข้าม


สร้างทางม้าลายที่ปลอดภัย หยุดอันตรายหน้าโรงเรียน thaihealth


“จากการสำรวจพฤติกรรมผู้ขับขี่ พบว่า มีถึง 79 เปอร์เซ็นต์ ที่ใช้ความเร็วเกิน 30 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ก่อนถึงทางม้าลาย โดยเป็นผู้ที่ขับขี่รถจักรยานยนต์ถึง 90 เปอร์เซ็นต์ มี 38 เปอร์เซ็นต์ ฝ่าสัญญาณไฟแดง และ 11 เปอร์เซ็นต์    เป็นกลุ่มไรเดอร์ที่ประมาท ใช้โทรศัพท์มือถือหรือใช้มืออีกข้างถือสิ่งของขณะขับขี่ แต่ยังมีเรื่องดีที่ 1 ใน 3 ของผู้ใช้จักรยานยนต์ที่หยุดรถให้คนข้ามทางม้าลาย” เป็นข้อมูลจาก นางสาวรุ่งอรุณ ลิ้มฬหะภัณ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสังคม สสส.


สร้างทางม้าลายที่ปลอดภัย หยุดอันตรายหน้าโรงเรียน thaihealth


นางสาวรุ่งอรุณ กล่าวว่า การใช้ความเร็วรถที่ 30 กิโลเมตรต่อชั่วโมง หากเกิดการชนจะช่วยลดโอกาสการเสียชีวิตได้ถึง 90% อย่างไรก็ตาม ยังคงพบอุบัติเหตุเกิดขึ้นเป็นระยะๆ โดยเฉพาะในเด็กและเยาวชน  ทาง สสส. และมูลนิธิไทยโรดส์ สำรวจพฤติกรรมการหยุดรถบริเวณทางม้าลาย 12 จุดทั่วกรุงเทพฯ  ทำให้พบว่ายังมีผู้ขับขี่ใช้ความเร็วเกิน 30 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เมื่อใกล้ถึงทางม้าลาย โดยเฉพาะบริเวณหน้าโรงเรียน และเขตชุมชน ดังนั้น การจัดกิจกรรมในครั้งนี้เพื่อเป็นการกระตุ้นเตือน ครบ 5 เดือน การจากไปของ แพทย์หญิงวราลัคน์ สุภวัตรจริยากุล หรือ หมอกระต่าย ที่ได้สร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับสังคมไทยได้กลับมาใส่ใจในการหยุดรถเพื่อให้คนข้ามทางม้าลาย  อย่างไรก็ตาม การจัดกิจกรรมในครั้งที่ 5 ได้ขยายความร่วมมือกับกลุ่มโรงเรียน และศูนย์พัฒนาเด็กเล็กในสังกัด กทม. เพื่อปลูกฝังวัฒนธรรมความปลอดภัย ในการใช้รถใช้ถนนแก่เด็กเยาวชน เช่น สวมหมวกนิรภัย ไม่ขับรถเร็ว การปฏิบัติตามป้ายจราจร และเคารพกฎจราจร เป็นต้น


สร้างทางม้าลายที่ปลอดภัย หยุดอันตรายหน้าโรงเรียน thaihealth


ขณะที่ นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย สมาชิกวุฒิสภา และประธานคณะกรรมการบูรณาการกู้ชีพฉุกเฉินและความปลอดภัยทางถนน วุฒิสภา กล่าวว่า ในกรุงเทพฯ พบว่ามีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนเฉลี่ยสูงถึงปีละ 800-900 ราย  ข้อมูลโดยบริษัทกลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ จำกัด พบว่าในช่วง 4 เดือนระหว่าง มกราคม-เมษายน 2565 มีคนเดินถนนในกรุงเทพฯ เสียชีวิต 28 ราย คิดเป็น 9% ของผู้เสียชีวิตจากการข้ามถนนทั้งหมด


สร้างทางม้าลายที่ปลอดภัย หยุดอันตรายหน้าโรงเรียน thaihealth


“ดังนั้น เพื่อไปสู่เป้าหมายให้กรุงเทพฯ เป็น “Smart City” เมืองปลอดภัย คนปลอดภัย และลดการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนลงครึ่งหนึ่ง ให้เหลือ 12 คนต่อประชากรแสนคน ในปี 2570 จึงมีข้อเสนอแนะ 3 ด้าน คือ 1. ด้านการบริหารจัดการ : โครงสร้าง กฎหมาย งบประมาณ และ KPI กำกับติดตาม 2. ด้านมาตรการด้านถนนและ “ทางม้าลายมาตรฐานและปลอดภัย” 3. ด้านการสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยและความรับผิดชอบร่วมกัน” นายสุรชัย กล่าว


สร้างทางม้าลายที่ปลอดภัย หยุดอันตรายหน้าโรงเรียน thaihealth


ด้าน รศ. ดร.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ปัญหาเรื่องอุบัติเหตุบนท้องถนนเป็นสิ่งที่ประชาชนพูดถึงเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะกลุ่มเด็กนักเรียน เพราะต้องใช้ทางเท้าริมถนน รวมไปถึงทางม้าลายอยู่เป็นประจำ ซึ่ง กทม. มีความจริงจังในการดูแล ทั้งทางเท้า ไฟส่องสว่าง ท้องถนน  ทั้งนี้ ได้หารือกับกองบัญชาการตำรวจนครบาล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในเรื่องการกำหนดความเร็วก่อนถึงทางม้าลาย เช่น ใช้ความเร็วไม่เกิน 30 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และการติดตั้งอุปกรณ์ตรวจจับความเร็ว เป็นต้น


สร้างทางม้าลายที่ปลอดภัย หยุดอันตรายหน้าโรงเรียน thaihealth


“นอกจากนี้ ยังคงต้องอาศัยซอฟต์พาวเวอร์ หรือการรณรงค์ต่าง ๆ ซึ่งยังเป็นสิ่งที่สังคมไทยขาด เบื้องต้นได้เร่งทาสีตีเส้น พร้อมฉีดน้ำยาสะท้อนแสงบนทางม้าลาย เพื่อให้นักเรียนและผู้ขับขี่สามารถมองเห็นได้อย่างชัดเจน ส่วนมาตรการอื่น ๆ ก็จะนำแผนที่เสี่ยงภัยมาตรวจสอบเพื่อดำเนินการแก้ไขต่อไป” รศ. ดร.ชัชชาติ กล่าว


สำหรับสิ่งที่เด็ก ๆ ต้องรู้เพื่อการข้ามถนนอย่างปลอดภัย มีดังนี้


1. ดูสัญญาณไฟก่อนข้าม ไฟแดงหยุด ไฟเขียวไป


2. มองขวา มองซ้าย และมองขวาอีกรอบ


3. ยกมือขึ้นค้างไว้ขณะข้ามถนนด้วย


4. ไม่เล่นหรือพูดคุยขณะข้ามถนน


5. หากมีทางเท้าให้เดินบนทางเท้าเสมอ


6. ไม่หยุดหรือยืนริมถนน เพราะอาจถูกรถเฉี่ยวชนได้


7. ควรเดินข้างในเส้นสีขาว


8. หากเดินริมถนนให้เดินชิดด้านในถนนเสมอ


9. ไม่ยืน เดิน ข้ามด้านหน้าและหลังรถในระยะประชิด


10. จับมือผู้ใหญ่เสมอเมื่อข้ามถนน


ความสูญเสียขณะกำลังข้ามทางม้าลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณหน้าโรงเรียน ไม่ควรเกิดขึ้นซ้ำรอยอีกในสังคมไทย  สสส. และภาคีเครือข่าย ขอร่วมรณรงค์สร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยทางถนน หยุดสูญเสีย หยุดรถ ให้คนข้ามทางม้าลาย #ความดีที่คุณทำได้

Shares:
QR Code :
QR Code