สร้างต้นแบบโรงพยาบาลรณรงค์บ้านปลอดบุหรี่
พร้อมรณรงค์ให้สังคมเห็นโทษควันบุหรี่มือสอง
สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี นำร่องสร้างต้นแบบโรงพยาบาลเด็กในการรณรงค์ทำให้บ้านปลอดบุหรี่ โดยเชิญชวนรณรงค์ แนะนำการดูแลสุขภาพเด็ก ๆ ผ่านพ่อแม่ และญาติพี่น้องที่พามารักษา
แพทย์หญิงศิราภรณ์ สวัสดิวร ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กล่าวว่า วันนี้ (3 ธันวาคม 2551) สถาบันฯ ได้เปิดการแถลงข่าวเปิดตัวโครงการต้นแบบในการรณรงค์ให้บ้านปลอดบุหรี่ ณ ห้องประชุมสานฝัน ชั้น 2 ตึกมหิตลาธิเบศร สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี ซึ่งจากการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติในปี พ.ศ.2549 พบว่า มีครัวเรือน 7.3 ล้านครัวเรือน ที่มีสมาชิกอย่างน้อยหนึ่งคนสูบบุหรี่ และมีประชากรอายุต่ำกว่า 5 ปี 2.28 ล้านคน ที่ได้รับควันบุหรี่มือสองในบ้าน และการสำรวจในปี พ.ศ.2550 พบว่า ในจำนวนผู้สูบบุหรี่ 10.8 ล้านคน ร้อยละ 58.9 หรือ 6.3 ล้านคนที่สูบบุหรี่ขณะอยู่ในบ้าน
จากข้อมูลดังกล่าว สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี ซึ่งเป็นสถานบริการสุขภาพที่มีหน้าที่ดูแลรักษาและให้ความรู้กับประชาชนด้านสุขภาพต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการดูแลสุขภาพเด็ก ที่พ่อแม่ และญาติพี่น้อง พามารักษาในแต่ละวันเป็นจำนวนมาก สถาบันฯ จึงจัดทำโครงการต้นแบบในการรณรงค์ให้บ้านปลอดบุหรี่ ร่วมกับ มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ (มสบ.) ที่มุ่งเน้นในการรณรงค์ให้สังคมตระหนักถึงอันตรายจากการได้รับควันบุหรี่มือสองในบ้าน โดยโครงการนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมให้สถาบันฯ เป็นศูนย์กลางในการรณรงค์ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของคนไทย โดยไม่สูบบุหรี่ในบ้าน และพัฒนาระบบการบริการสำหรับให้ความรู้และส่งเสริมการเลิกสูบบุหรี่ ให้กับบุคลากร ผู้ปกครอง และผู้ใช้บริการ ตลอดจนจัดสภาพแวดล้อมให้สถาบันฯ เป็นเขตปลอดบุหรี่ตามที่กฎหมายกำหนด
กิจกรรมที่ดำเนินการในโครงการ อาทิเช่น การประกาศนโยบาย, การสำรวจจำนวนบุคลากรที่สูบบุหรี่ ให้การช่วยเหลือบุคลากรที่ต้องการเลิกบุหรี่, การจัดระบบบริการ เพื่อส่งเสริมการเลิกสูบบุหรี่ให้กับผู้ใช้บริการ, การฝึกอบรมพยาบาลที่แผนกผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยใน เกี่ยวกับการประเมินและให้คำปรึกษาเพื่อการเลิกสูบบุหรี่, มีสื่อที่เกี่ยวข้องแจกแก่ครอบครัวเด็กที่มีผู้สูบบุหรี่ มีระบบแนะนำให้ผู้สูบบุหรี่ไปรักษายังคลินิกอดบุหรี่, มีระบบติดตามประเมินผลที่เกิดขึ้น และพร้อมเป็นโรงพยาบาลต้นแบบในการเป็นศูนย์กลางรณรงค์สร้างค่านิยมบ้านปลอดบุหรี่ให้แก่โรงพยาบาลอื่น ๆ ทั่วประเทศต่อไป
รศ.คลินิก (พิเศษ) แพทย์หญิงมุกดา หวังวีรวงศ์ หัวหน้าโครงการ สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี : ต้นแบบในการรณรงค์ให้บ้านปลอดบุหรี่ กล่าวว่า จากการสำรวจความคิดเห็นเรื่อง การสูบบุหรี่ และการรณรงค์ “บ้านปลอดบุหรี่” ของพ่อแม่ ผู้ปกครอง ที่พาบุตรหลานมารับบริการตรวจรักษา และบุคลากรของสถาบันฯ โดย สำนักวิจัยเอแบคโพลล์ ระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ – พฤษภาคม 2551 ที่ผ่านมา พบว่า ร้อยละ 82 ของพ่อแม่ ผู้ปกครองที่สูบบุหรี่ มีการสูบบุหรี่ในบ้าน แม้ร้อยละ 86 เชื่อว่าผู้ที่รับควันบุหรี่มือสองมีความเสี่ยงที่จะเกิดโรคต่าง ๆ ได้เช่นเดียวกับคนที่สูบบุหรี่ แต่มีผู้ปกครองไม่ถึงครึ่งหนึ่งที่รู้ว่าโรคต่าง ๆ ในเด็กเกี่ยวข้องกับการได้รับควันบุหรี่มือสอง เช่น ผู้ปกครองทราบว่าควันบุหรี่มือสองทำให้เด็กเป็นหวัดบ่อยขึ้นเพียง 37% การติดเชื้อทางเดินหายใจ 51.8% หลอดลมอักเสบ 48.8% หืดจับบ่อยขึ้น 53.8% หูน้ำหนวก 17.4% และไหลตายในเด็กเพียง 17.0% จึงมีความจำเป็นที่สถานบริการทุกแห่งจะต้องร่วมกันให้ความรู้แก่ผู้ปกครองถึงโรคต่าง ๆ ที่เกิดจากการได้รับควันบุหรี่มือสองในเด็ก ๆ ซึ่งร้อยละ 84 ของผู้ปกครองเห็นด้วยต่อการรณรงค์ให้บ้านเป็นเขตปลอดบุหรี่
ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ กล่าวว่า จากรายงานการวิจัยของเฮเลน บินส์ และคณะ จากโรงพยาบาลเด็กชิคาโก เผยแพร่ข้อมูลในกลุ่มงานวิจัยเด็ก ที่ศึกษาผู้ปกครองใน 463 ครัวเรือน ถึงปัจจัยที่มีผลต่อการห้ามสูบบุหรี่ในบ้านและในรถยนต์ ผลพบว่ามีผู้ปกครองร้อยละ 42 เป็นผู้ที่สูบบุหรี่ ร้อยละ 50 ของครัวเรือนห้ามสูบบุหรี่ในบ้านและร้อยละ 58 ห้ามสูบบุหรี่ในรถยนต์ ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการกำหนดให้บ้านปลอดบุหรี่คือ การที่มีผู้ไม่สูบบุหรี่อาศัยอยู่ในบ้านเดียวกัน ผู้ปกครองที่เห็นด้วยอย่างยิ่งกับอันตรายของควันบุหรี่มือสองต่อคนไม่สูบ และบ้านที่มีเด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบ ผู้วิจัยแนะนำให้บุคลากรสาธารณสุขให้ความรู้แก่ผู้สูบบุหรี่ให้มากที่สุดถึงอันตรายของควันบุหรี่มือสอง เพื่อเพิ่มอัตราส่วนบ้านและรถยนต์ที่ปลอดบุหรี่
ศ.นพ.ประกิต กล่าวเพิ่มเติมว่า ควันบุหรี่เป็นมลพิษทางอากาศภายในบ้านที่ร้ายแรงที่สุด โดยมีสารก่อมะเร็งมากกว่า 50 ชนิด และมีสารพิษอื่น ๆ อีกกว่า 250 ชนิด ในเด็ก ๆ ทำให้เกิดโรคทางเดินหายใจและหืดจับบ่อยขึ้น และในผู้ใหญ่ทำให้เกิดมะเร็งปอดและโรคหัวใจได้ โดยที่ที่ได้รับควันบุหรี่มือสองมากที่สุดคือในบ้านและในรถยนต์ นอกจากจะเป็นอันตรายต่อคนในบ้านแล้ว การที่มีผู้สูบบุหรี่ในบ้านยังเพิ่มความเสี่ยงที่เด็ก ๆ จะกลายเป็นผู้สูบบุหรี่ได้ด้วย บ้านจึงต้องปลอดบุหรี่และท่านที่ต้องการเอกสารและข้อมูลเพื่อรณรงค์หรือต้องการร่วมรณรงค์ให้บ้านปลอดบุหรี่ติดต่อได้ที่มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่
ที่มา : มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ มสบ. สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ สสส.
update 03-12-51