สร้างต้นทุนชีวิต ปลุกพลัง ‘คิดบวก’ เด็กไทย
ปัจจุบันเด็กและเยาวชนไทยถือเป็นส่วนสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ภาคเอกชน และหน่วยงานอื่นๆ ต่างก็ออกมาให้การสนับสนุน ร่วมคิด ร่วมสร้าง ผลักดันนโยบายต่างๆ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของเด็กไทย ซึ่งถือเป็นกำลังของชาติที่จะช่วยขับเคลื่อนสังคม และประเทศให้ก้าวเดินไปข้างหน้าได้อย่างมั่นคง
ผ่านการมีส่วนร่วมจากชุมชนและครอบครัว ซึ่งถือเป็นพื้นฐานสำคัญที่จะร่วมสร้างเด็กและเยาวชนให้เจริญเติบโตขึ้นมา อย่างมีคุณภาพ โดยเริ่มต้นจากการปลูกฝังแนวคิด “เชิงบวก” พร้อมทั้งสนับสนุนให้เยาวชนกล้าคิด กล้าทำ กล้าแสดงออก ในทางที่ถูกต้องและเหมาะสม
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) โดยแผนงานสุขภาวะเด็กและเยาวชน จึงจัดมหกรรมเด็กแนวบวก ครั้งที่ 3 ตอน “ไวรัสสายพันธุ์ใหม่ สร้างเด็กไทยเพื่อชุมชน” ขึ้นเพื่อเสริมสร้างให้เยาวชนคิดในทางบวก และเป็นจุดเริ่มต้นในการเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนของสังคมเข้ามามีส่วนร่วม เพื่อช่วยกันสร้างสรรค์สังคมไทยด้วยพลังต้นทุนชีวิตที่เป็นแนวคิดเชิงบวก
โดย นพ.สุริยเดว ทรีปาตี ผู้จัดการแผนงานสุขภาวะเด็กและเยาวชน สสส.ผู้อำนวยการสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว กล่าวในเรื่องนี้ว่า แผนงานสุขภาวะเด็กและเยาวชนได้จัดงานนี้เป็นครั้งที่ 3 โดยในปีนี้มีความพิเศษที่เยาวชนจากทั้ง 70 พื้นที่ 20 จังหวัด ผนึกกำลังพัฒนาฐานชุมชนท้องถิ่นตัวเองจนเกิดเป็นผลงานต่างๆ มากมาย
ซึ่งทางแผนงานได้ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สำรวจฐานข้อมูลต้นทุนชีวิตในกลุ่มวัยรุ่น 12-18 ปี จาก 77 จังหวัด พบว่า ต้นทุนชีวิตเด็กที่สะท้อนความอ่อนแอที่สุด คือ เรื่องความกล้ายืนหยัดในการทำความดีถือเป็นอันดับ 1 หรือคิดเป็น 40 % ส่วนอีก 50 % ที่แสดงออกเรื่องความอ่อนแอทางด้านศาสนาและวัฒนธรรมมากขึ้น
“ไม่แปลกใจที่เด็กสมัยนี้กล้าแสดงออกในทางที่ผิดพบเห็นกันง่ายขึ้น เช่น เปลือยอกในถนนสีลมช่วงสงกรานต์ที่ผ่านมา ถือเป็นภาพสะท้อนความเสื่อมโทรมของสังคม ที่ทุกหน่วยงานต้องเร่งสร้างต้นทุนชีวิตที่ดีให้กับเด็กและเยาวชน เสมือนหนึ่งปล่อยเชื้อไวรัสสายพันธุ์ใหม่ที่จะทำให้เด็กคิดดี ทำดี รู้เท่าทัน และมีพลังยึดเหนี่ยวจากวัฒนธรรมที่ดีงามของไทย” นพ.สุริยเดว กล่าว
ด้าน พญ.มาลินี สุขเวชชวรกิจ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวต่อว่า การจัดโครงการช่วยส่งเสริมเด็ก เยาวชน ได้สร้างแนวคิดที่จะช่วยแก้ปัญหาในประเทศของเราถูกปลูกฝังให้พูดในทางลบเพื่อไม่ให้เหลิง ซึ่งการไม่รับฟังผู้อื่นและไม่มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลกันภายในครอบครัว สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นสาเหตุหนึ่งของการทำให้ประเทศเกิดความแตกแยก
“สสส.และโครงการเด็กพลัสจัดกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง เพื่อที่สังคมจะเกิดการรับรู้ให้มากที่สุด ซึ่งสามารถช่วยให้ประเทศสามารถก้าวไปข้างหน้าได้ด้วยสังคมที่ไม่มีความรุนแรง โดยเริ่มต้นทำให้เด็กและเยาวชนซึ่งเป็นอนาคตของไทยมีคุณภาพชีวิตอย่างดีที่สุด” พญ.มาลินี กล่าว
ขณะที่ นายณัฏฐกานต์ แสนคำ ตัวแทนแกนนำเยาวชน จ.น่าน ได้มาสะท้อนถึงปัญหาของเด็กในปัจจุบันว่า เด็ก เยาวชน เจอปัญหาจากสภาพแวดล้อมรอบข้างมากขึ้นทุกวัน ทั้งด้านสังคม วัฒนธรรม สิ่งเหล่านี้ถือเป็นผลกระทบโดยตรงทำให้เด็ก เยาวชน เปลี่ยนแปลงไปทางที่อ่อนแอลง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการแต่งกาย กิริยามารยาท
“ขณะเดียวกันในอดีตที่ผ่านมา เด็กไทยมักชอบศึกษาและให้ความสนใจกับพระพุทธศาสนามากกว่าปัจจุบัน ดังนั้น อยากให้ผู้ใหญ่ บุคคลในครอบครัวดูแลเอาใจใส่และให้คำปรึกษากับเด็กอย่างใกล้ชิด หรือเพื่อนก็สามารถให้คำปรึกษาและชักจูงเพื่อนไปในทางที่ดีได้เช่นกัน” ตัวแทนแกนนำเยาวชน กล่าว
หากเด็กและเยาวชนมีพฤติกรรมในทางที่ไม่ดีก็จะส่งผลกระทบทั้งต่อตัวเองและผู้อื่น ดังนั้น เราทุกฝ่ายต้องร่วมมือกันอย่างจริงจัง หันมาใส่ใจลูกหลานเด็กไทยให้มากขึ้น และผนึกกำลังช่วยกันสร้างสรรค์สังคมไทย ปล่อยไวรัสสายพันธุ์ใหม่เพื่อให้สังคมไทยมีแต่เด็กและเยาวชนที่คิดดี ทำดี มากขึ้น
ที่มา: แผนงานสุขภาวะเด็กและเยาวชน